แถลงการณ์ กรณีพักงานชั่วคราวเพื่อเลิกจ้างคณะกรรมการสหภาพแรงงานคาวาซากิ ยานยนต์ แห่งประเทศไทย 22 .. 52 คณะกรรมการสหภาพแรงงานคาวาซากิ ยานยนต์ แห่งประเทศไทย แถลงการณ์ กรณีพักงานชัวคราวเพื่อเลิกจ้าง คณะกรรมการสหภาพแรงงานคาวาซากิ ยานยนต์ แห่งประเทศไทย เรียน พี่น้องผู้ใช้แรงงาน และประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกท่าน เนื่องด้วยพนักงานบริษัท คาวาซากิมอเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ ประเทศไทย จำกัด ถูกนายจ้างขู่บังคับให้ลงชื่อยินยอมทำงานเพิ่มอีกวันละครึ่งชั่วโมง และพยายามบีบบังคับพนักงานที่ไม่ยินยอม ด้วยอาศัยอำนาจในการบริหาร กลั่นแกล้ง โยกกย้าย ออกประกาศกฎระเบียบเพื่อลงโทษพนักงานที่ไม่ยินยอม และสั่งพักงานคณะกรรมการทั้งหมดเพื่อขออำนาจศาลเลิกจ้าง ทำให้พนักงานชุมนุมประท้วงอยู่หน้าบริษัทฯ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานและละเมิดสิทธิมนุษยชน บริษัท คาวาซากิ มอเตอร์เอ็นเตอร์ไพรส์ ประเทศไทย จำกัด ทะเบียนเลขที่ 0105540099884 ทุนจดทะเบียน 1,900 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2540 ตั้งอยู่เลขที่ 119/10 นิคมอุตสาหกรรม จี เค แลนด์ หมู่ 4 ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง โทร 038-955040-58 กรรมการบริษัทฯผู้มีอำนาจในหนังสือรับรอง คือ 1. นายมิโนรุ ฟูกูชิม่า 2.นายมาซาโนริดิโนอุเอะเอะ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ บริษัท คาวาซากิ เฮฟวี่ อินดัสทรี ลิมิเต็ด (KHI) ประเทศญี่ปุ่น ทำกิจการ ผลิตรถมอเตอร์ไซด์คาวาซากิ ส่งภายในประเทศ และต่างประเทศ บริษัทฯ ได้ออกประกาศเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานปกติเพิ่มขึ้นจากเดิมวันละ 8 ชั่วโมง (ทำงาน 08.00-17.00 น.) เป็นวันละ 8 ชั่วโมงครึ่ง (ทำงาน 08.00-17.30 น.) โดยอ้างเหตุผลว่า ต้องการลดต้นทุนให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นมา และได้ออกเอกสารให้พนักงานลงลายมือชื่อยินยอมโดยดำเนินการข่มขู่ บีบบังคับมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงวันเวลาการทำงานดังกล่าวถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ที่ทำให้พนักงานเสียสิทธิประโยชน์หลายประการดังนี้ 1.บริษัทฯ อ้างว่าต้องการลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ด้วยการลดเวลาทำงานลง โดยนำวันเสาร์ที่มีการทำงานมาเฉลี่ยในวันทำงานปกติอีกวันละครึ่งชัวโมงโดยทีพนักงานทำงานเพิ่มขึ้นในแต่ละวันแต่ไม่ได้รับค่าตอบแทน และเวลาการทำงานล่วงเวลาก็ลดลงจากเดิม 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 ชั่วโมงครึ่ง ทำให้รายได้ของพนักงานหายไป ในขณะเดียวกันเวลาการทำงานของบริษัทฯ ยังเท่าเดิม (เวลาทำโอทีเดิม 17.00 - 20.00 น. เวลาใหม่ 17.30 - 20.00 น.) 2.การออกเอกสารให้ความยินยอม และไม่ให้ความยินยอม ซึ่งมีพนักงานส่วนหนึ่งไม่ยินยอม แต่บริษัทฯ ทำการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง โดยนำเอาวันพักผ่อนประจำปีมากำหนดให้หยุดวันเสาร์ที่ไม่มีการทำงานตามปฏิทินที่บริษัทฯ กำหนดขึ้นใหม่โดยไม่ได้รับความยินยอมจากพนักงาน รวมถึงการไม่จัดรถรับส่งให้ตามเวลาเลิกงาน(17.00 น.) ทำให้พนักงานได้รับความเดือดร้อนกลับถึงบ้านช้าลง บางส่วนต้องหาทางกลับบ้านเอง การกระทำดังกล่าวเป็นการบีบบังคับให้พนักงานยินยอมโดยทางอ้อม 3.ในเอกสารที่บริษัทฯ ให้พนักงานลงลายมือชื่อยินยอม กำหนดว่า วันหยุดประจำทุกวันเสาร์และอาทิตย์ แต่ปฏิทินการทำงานทีออกมายังมีวันเสาร์ทำงานอยุ่ แต่บริษัทฯ จ่ายค่าแรงตามวันทำงานปกติ ซึ่งขัดแย้งกับประกาศโดยสิ้นเชิง และบริษัทฯ กระทำผิดสัญญา ซึ่งตามจริงแล้วบริษัทฯ จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างทำงานในวันหยุดของวันทำงานดังกล่าวด้วย 4.เมื่อสหภาพแรงงานฯ แจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงพบว่า บริษัทฯ ได้ทำกระทำผิดกฏหมาย พรบ.คุ้มครองแรงงาน และได้สั่งใหบริษัทฯ จ่ายค่าล่วงเวลาในสัปดาห์ที่มีการทำงานเกิน 48 ชั่วโมงในอัตร 1.5 เท่า บริษัทฯ จึงยอมจ่ายค่าล่วงเวลาที่พนักงานได้ทำเกินรวม 6 ชั่วโมง ทั้งที่บริษัทฯมีที่ปรึกษาด้านกฎหมายอยู่แล้ว แต่ยังจงใจฝ่าฝืนละเมิดกฎหมาย บริษัทฯละเมิดกฎหมาย โดยครั้งแรก บริษัท ฯ ออกประกาศฉบับที่ ธก.64/2552 เรื่องการเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานตามปกติ ลงวันที่ 9 เม.ย. 2552 โดยบริษัทฯ เหมารวมให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามจนสหภาพแรงงานฯ ได้นำเรื่องนี้ให้ศาลแรงงานไกล่เกลี่ย และศาลแรงงานได้ชี้ออกมาว่า บริษัทฯทำผิดกฎหมายแต่ถ้าจะดำเนินการให้เป็นไปตามความสมัครใจ 5.พนักงาน เมื่อมีการดำเนินการต่อก็ยังกำหนดเวลาทำงานเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จนเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จ่ายค่าล่วงเวลาและให้แก้ไขสภาพการจ้างวันเวลาทำงานให้ถูกต้อง ซึ่งบริษัทฯ ได้ละเมิดกฏหมายอีกเป็นครั้งที่ 2 6.เมื่อบริษัทฯ ยอมจ่ายค่าล่วงเวลาที่มีการทำงานเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และทำโยกย้ายวันทำงานโดยนำเอาวันหยุดที่ 13 - 14 ในเดือนสิงหาคมให้เป็นวันทำงาน และนำวันทำงานที่ 8 ในเดือนสิงหาคมและวันทำงานที่ 19 ในเดือนธันวาคมเป็นวันหยุด การกระทำดังกล่าวขัดกับ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 มาตรา 20 ถึงแม้ว่าบริษัทฯ จะอ้างว่าเพื่อให้ถูกต้องตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานก็ตาม แต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันทำงานซึ่งถือเป็นสภาพการจ้างจะต้องได้รับการยินยอมจากสหภาพแรงงานฯ และพนักงานเสียก่อน บริษัทฯ กำลังจะละเมิดกฎหมายเป็นครั้งที่ 3 7.บริษัทฯ ออกประกาศชัดเจนถึงการห้ามชุมนุมของพนักงานซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ การออกประกาศดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงานฯ ซึ่งขัดต่อกฎหมาย พรบ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 หมวด 9 การกระทำอันไม่เป็นธรรม มาตรา 121(4) ห้ามมิให้นายจ้างขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงาน หรือสหพันธ์แรงงาน หรือขัดขวางการใช้สิทธิของลูกจ้างในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือ (5)เข้าแทรกแซงการดำเนินการของสหภาพแรงานหรือสหพันธ์แรงงาน โดยไม่มีอำนาจโดยด้วยกฎหมายสิทธิของสหภาพแรงงานและพนักงานซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานสามารถชุมนุม ประชุม ชี้แจงด้วยความสงบได้ และการกระทำของบริษัทฯ ที่บีบบังคับ ข่มขุ่ ให้พนักงานซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ลงชื่อยินยอมจึงถือได้ว่า บริษัทฯ แทรกแซง ขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงาน โดยบริษัทฯ จะอ้างว่าไม่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานไม่ได้ จากการดำเนินการดังกล่าวของบริษัทฯ ยังมีการให้พนักงานทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ และวันหยุดอย่างต่อเนื่อทั้งที่บริษัทฯ อ้างว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและต้องการลดค่าใช้จ่าย แต่เมื่อมีการทำงานล่วงเวลาอย่างสม่ำเสมอทุกวัน บริษัทฯ จะลดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร ทังหมดจึงขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ โดยสิ้นเชิง แต่สิ่งที่บริษัทฯ ลดได้จริง ๆ นั้นคือค่าแรงในการทำงานล่วงเวลาของพนักงานที่เห็นได้อย่างชัดเจน การกระทำของบริษัทฯ ที่ผ่านมาได้สร้างความแตกแยกให้พนักงานอย่างกว้างขวางและสร้างความสับสนให้กับพนักงาน คือ บริษัทฯ มี 2 มาตรฐาน 2 สภาพการจ้าง พนักงานที่ไม่ยินยอมถูกกดดัน กลั่นแกล้ง บีบบังคับให้ยินยอม ไม่มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน และบริษัทฯ ไม่ได้ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการจริง แต่ต้องการลดค่าแรงพนักงานโดยเฉพาะพนักงานรับเหมาช่วงที่ได้ค่าจ้างรายวันต้องทำงานเพิ่มขึ้น แต่ค่าจ้างเท่าเดิม ดังนั้นสหภาพแรงงานฯ จึงต้องปกป้องสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิกสหภาพแรงงานฯ และพนักงานทุกคนอย่างถึงที่สุด ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2552 บริษัทได้มีหนังสือสั่งให้คณะกรรมการสหภาพแรงงานทั้ง 11 คน หยุดงานชั่วคราวเพื่อรอคำสั่งอนุญาตเลิกจ้างด้วยข้อกล่าวหาว่า สหภาพแรงงานฯ จัดชุมนุมประท้วงและให้ข้อมุลข่าวสารต่าง ๆ ในลักษณะโจมตีให้ร้ายต่อบริษัทฯ ทำให้พนักงานแตกแยกความสามัคคี ทำให้บริษัทเสื่อมเสียขื่อเสียงด้วยข้อเท็จจริงแล้วสหภาพแรงงานฯ เพียงต้องการชี้แจงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้สมาชิกสหภาพแรงงานและพนักงานทราบเท่านั้น การกระทำดังกล่าวของ บริษัทฯจึงถือว่ามีเจตนามุ่งเน้นทำลายองค์กรสหภาพแรงงานฯ ดังนั้นสมาชิกสหภาพแรงงานและพนักงานทั้งหมด 700 คน จึงชุมนุมเพื่อเรียดร้องความเป็นธรรมอยู่ที่หน้าทางเข้านิคม จี เค แลนด์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2552 เวลา 08.00 น. เป็นต้นไปเพื่อเรียกร้องให้ 1.บริษัทฯ กลับมาใช้เวลาการทำงานเดิม (08.00-17.00น.) 2.ให้รับคณะกรรมการสหภาพแรงงานฯ ทั้งหมดกลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข หวังเป็นอย่างยิ่งวา จะได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องทุกสาขาอาชีพ เพื่อต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ขอแสดงความนับถือ นายประทวน ผจญ
ประธานสหภาพแรงงานคาวาซากิยานยนต์ แห่งประเทศไทย สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.038-337523 , 089-9880585, 089-6109305 |