Thai / English

แถลงการณ์สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ฉบับที่ 3 เรื่อง การยื่นข้อร้องเรียนต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)กรณีการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในประเทศไทย



07 .. 52
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)

ในวันพรุ่งนี้ นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จะร้องเรียนต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในการประชุมแรงงานระหว่างประเทศที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ข้อร้องเรียนนี้เป็นกรณีที่รัฐบาลไทยได้ละเมิดอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยการปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน (เรื่องค่าทดแทนกรณีอุบัติเหตุ) หรือ อ.-19 เนื่องจากปฏิเสธไม่ให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549 นางหนุ่ม ไหมแสง แรงงานข้ามชาติหญิงไทยใหญ่ อายุ 37 ปี สัญชาติพม่า ได้ประสบอุบัติเหตุโดยแบบเทปูนที่เป็นเหล็กหนัก 300 กิโลกรัมหล่นใส่เธอในขณะทำงานจนทำให้เธอต้องทุพพลภาพเป็นอัมพาต นางหนุ่มได้เรียกร้องเงินทดแทนจากกองทุนทดแทน แต่กลับถูกปฏิเสธโดยสำนักงานประกันสังคมซึ่งเป็นผู้ดูแลกองทุนดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เธอไม่มีเอกสารตามที่กำหนดไว้ในหนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคมปี 2544 ทำให้เธอไม่สามารถรับเงินจากกองทุนเงินทดแทนได้ หนังสือเวียนฉบับดังกล่าวระบุว่า แรงงานข้ามชาติที่จะสามารถได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้ต้องมีหลักฐานดังนี้ (1) มีการจดทะเบียนและมีใบอนุญาตให้ทำงานที่ทางราชการออกให้มาแสดงประกอบกับหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (2) นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนได้

ระบบการนำเข้าแรงงานจากประเทศพม่ามาทำงานในประเทศไทยเป็นระบบที่ล้มเหลว เนื่องจากความไม่ลงรอยในความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและพม่า ในเรื่องกระบวนการพิสูจน์สถานะของแรงงานพม่าที่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว นางหนุ่มและแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าอีกราวสองล้านคนได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยโดยผิดกฎหมายและไม่มีหนังสือเดินทางและเอกสารการเข้าเมืองแต่อย่างใด ในปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่ากว่า 500,000 คน ได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิอาศัยชั่วคราวโดยมีเอกสารแสดงถิ่นที่อยู่และมีใบอนุญาตทำงานที่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่สำนักงานประกันสังคมก็ยังคงปฏิเสธเอกสารเหล่านี้และยังคงยืนยันว่าเฉพาะแรงงานที่มีหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเท่านั้นที่จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน

นอกจากนี้ยังมีระเบียบปฏิบัติที่ใช้เป็นเป็นสองมาตรฐานระหว่างแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ สำนักงานประกันสังคมกีดกันไม่ให้นายจ้างของแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองโดยไม่ถูกต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายและประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กำหนดให้นายจ้างที่มี “ลูกจ้าง” ตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปต้องมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบสำหรับลูกจ้างทุกคนเข้าแก่กองทุนเงินทดแทน และก็เป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมที่ต้องบังคับให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ โดยหากนายจ้างของลูกจ้างคนไทยรายใดละเลยไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนแล้ว ต่อมาลูกจ้างคนไทยนั้นประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน สำนักงานประกันสังคมก็จะจ่ายเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างโดยตรงไปก่อน แล้วเรียกเก็บเงินสมทบย้อนหลังพร้อมค่าปรับเอาจากนายจ้าง แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุแล้ว สำนักงานประกันสังคมจะไม่จ่ายเงินทดแทนจากกองทุนทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติไปก่อนแล้วบังคับเรียกเก็บเงินสมทบย้อนหลังนี้กับนายจ้างเช่นเดียวกับกรณีลูกจ้างไทยแต่อย่างใด

แรงงานข้ามชาติเกือบทั้งหมดในประเทศไทยที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานไม่สามารถแสดงหลักฐานที่กำหนดไว้ในหนังสือเวียนของสำนักงานประกันสังคมฉบับดังกล่าวได้ ดังนั้น นายจ้างจึงต้องเป็นผู้จ่ายเงินทดแทนให้กับลูกจ้างโดยตรง ทำให้เปิดโอกาสให้นายจ้างหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ นายจ้างจำนวนมากจะทำทุกอย่างเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้กับแรงงานข้ามชาติหรือจ่ายให้น้อยที่สุด จากการที่ประเทศไทยได้กีดกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนได้ ทำให้เกิดระบบการจ่ายเงินทดแทนอย่างไม่เป็นทางการสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน มีแรงงานข้ามชาติเพียงไม่กี่รายที่มีโอกาสที่จะได้รับเงินทดแทนอยู่บ้างเนื่องจากการช่วยเหลือด้านกฎหมายและความช่วยเหลืออื่นๆ จากองค์กรแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนหรือองค์กรอื่นๆ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงวิธีปฏิบัติต่อ “ลูกจ้าง” ที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจาก “สัญชาติ” ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่เห็นได้อย่างชัดเจน

จากการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าตามที่ได้กล่าวมา จึงถือได้ว่ารัฐบาลไทยได้ละเมิดอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 19 ที่กำหนดให้ประเทศภาคีต้องปฏิบัติต่อแรงงานที่เป็นคนสัญชาติตนและคนนอกสัญชาติตนอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องค่าทดแทนกรณีที่แรงงานอุบัติเหตุจากการทำงาน ดังนั้น สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงต้องใช้กระบวนการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศเพื่อช่วยผลักดันให้ทางกระทรวงแรงงานยกเลิกการปฏิเสธสิทธิพื้นฐานนี้ของแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่เปราะบางกลุ่มหนึ่ง

สรส. ได้ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของกระทรวงแรงงานของไทยว่า มีแรงงานข้ามชาติชาวพม่าจำนวนมากที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานแต่ไม่ได้รับเงินทดแทน แต่ทางกระทรวงแรงงานกลับปฏิเสธข้อร้องเรียนดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้มีการฟ้องสำนักงานประกันสังคมต่อศาลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวถึงสามคดี แต่ยังไม่มีศาลใดที่จะจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้ นอกจากนี้แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะได้ทำข้อเสนอต่อกรณีดังกล่าวต่อรัฐบาลให้จ่ายเงินจากกองทุนเงินทดแทนแก่แรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน แต่ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติ ท้ายที่สุดในเดือนมีนาคม 2552 จึงได้มีการยื่นข้อร้องเรียนต่อองค์การระหว่างประเทศว่ารัฐบาลไทยได้ละเมิดอนุสัญญาองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

ถึงแม้ว่าทาง สรส. และเครือข่ายต่างๆ ในประเทศไทยจะได้พยายามดำเนินการในเรื่องดังที่กล่าวมานี้ แต่แรงงานข้ามชาติชาวพม่านับล้านคนยังคงถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงเงินทดแทนกรณีที่ต้องประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน

กรณีเหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติที่ สรส. ได้หยิบยกขึ้นมา แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ทำงานร่วมกับแรงงานไทยในการสร้างเศรษฐกิจของชาติ แทนที่จะได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม รัฐบาลไทยกลับยังคงปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาในทุกๆ ด้าน

นโยบายกดขี่ขูดรีดประชาชนของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่กดดันและภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้เกิดแรงผลักดันให้แรงงานชาวพม่านับล้านคนเข้ามาสู่ประเทศไทยเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า แรงงานเหล่านี้ได้เผชิญกับการถูกละเมิดอย่างหนักหนาสาหัสมาพอแล้ว ประเทศไทยซึ่งได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 19 จึงต้องไม่ปฏิเสธแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ในการรับสิทธิตามอนุสัญญาฉบับดังกล่าว

ในยุคที่การอพยพย้ายถิ่นเกิดขึ้นทั่วโลก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบังคับใช้มาตรฐานระหว่างประเทศด้านแรงงานกับประเทศปลายทางผู้รับแรงงานอย่างจริงจัง เพื่อรับรองว่าแรงงานข้ามชาติสามารถมีสภาพการทำงานที่ยอมรับได้ ทั้งนี้ ตามปฏิญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ได้ระบุว่าองค์การแรงงานระหว่างประเทศจะต้องให้ความสนใจกับปัญหาด้านแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ ธรรมนูญองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ยังระบุว่า หากประเทศภาคีประเทศใดละเมิดพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามอนุสัญญาที่ตนเป็นภาคี องค์กรลูกจ้างสามารถร้องเรียนการละเมิดพันธกรณีดังกล่าวต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศได้ทันที

การที่ประเทศไทยได้ละเมิดอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 19 จึงสมควรที่จะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศได้แล้ว ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไทยยกเลิกหลักเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงเงินทดแทนกรณีอุบัติเหตุจากการทำงานของแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้องค์การแรงงานระหว่างประเทศก็จะต้องยกประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลทหารพม่าเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมด้วย เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญของการที่แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าทะลักเข้าสู่ประเทศไทย

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)

7 มิถุนายน 2552