Thai / English

แถลงการณ์คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยฉบับที่ ๓/๒๕๕๒เรื่อง คัดค้านการปรับเงินสมทบกองทุนประกันสังคม


ขวัญสกุล เชาว์พานนท์
02 .. 52
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) มีมติเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๒ ให้มีการลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างจากฝ่ายละ ๕ % ของค่าจ้าง เหลือในอัตราฝ่ายละ ๓ % ของค่าจ้าง โดยรัฐบาลยังคงจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในอัตรา ๒.๗๕ % ของค่าจ้างอยู่เช่นเดิม โดยกระทรวงแรงงานได้นำมติดังกล่าวเสนอขอความเห็นนอกรอบต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒ คาดการณ์ว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒ และมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ รวม ๖ เดือน จากนั้นให้กลับมาใช้ในอัตราเดิม ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓ เป็นต้นไป โดยกระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า การลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้บางส่วน ทั้งนี้การลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม

มติดังกล่าวนำมาสู่ความห่วงใยและกังวลใจของผู้ประกันตน โดยเฉพาะองค์กรแรงงานอย่างคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางนโยบายที่แก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เนื่องจากเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายจ้างมากกว่าลูกจ้าง หรือการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้อย่างเร่งรีบ โดยไม่มีกระบวนการฟังเสียงลูกจ้างและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเห็นต่าง ซึ่งแท้จริงแล้วจำเป็นต้องการให้ศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจประกาศลดเงินสมทบประกันสังคม เพราะผลพวงที่ตามมา คือ กองทุนประกันสังคม ต้องสูญเงินไปถึง ๑๕,๖๐๐ ล้านบาท

จากสถานการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ได้มีการพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าการปรับลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของลูกจ้างและนายจ้าง เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อสถานประกอบการ ที่นายจ้างมีการจ้างลูกจ้างจำนวนมาก เพราะเป็นการลดภาระในการรับผิดชอบชีวิตลูกจ้างลงจากเดิม ทำให้นายจ้างลดต้นทุนที่จะต้องจ่ายเงินสมทบถึง ๒ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจคิดเป็นเงินนับล้านบาทในเวลา ๖ เดือน สำหรับบางสถานประกอบการที่มีลูกจ้างจำนวนมาก ซึ่งการได้ประโยชน์ของนายจ้างนี้ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า นายจ้างจะไม่เลิกจ้างลูกจ้าง เพราะการลดเงินสมทบของนายจ้างเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น และวงเงินไม่ต้องส่งมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนเงินลงทุนของสถานประกอบการซึ่งเป็นจำนวนหลักพันล้าน จึงไม่สามารถช่วยลดการเลิกจ้าง หรือลดต้นทุนการผลิตได้ รวมทั้งการลดเงินสมทบประกันสังคมไม่ได้หมายถึง การมีคำสั่งซื้อ/ยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

อีกทั้งมาตรการลดเงินสมทบดังกล่าวทำให้ลูกจ้างเสียประโยชน์ ตามประเด็นต่อไปนี้

๑. ไม่ได้เป็นการแบ่งเบาภาระลูกจ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจอย่างแท้จริง จากการศึกษาพบว่า

ลูกจ้างจะลดเงินได้สูงสุดเพียง ๓๓.๕๐ - ๓๐๐ บาทต่อเดือนเท่านั้น หรือเฉลี่ย ๑ - ๑๐ บาทต่อวัน ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาสินค้าที่จำเป็นต้องใช้บริโภค อุปโภคในชีวิตประจำวัน แทบจะเห็นผลการแบ่งเบาภาระให้ลูกจ้างได้น้อยมาก

๒. การส่งผลกระทบระยะยาวต่อผู้ประกันตนที่จะต้องรับเงินชราภาพ จากการศึกษาพบว่าจะทำให้กองทุนประกันสังคมขาดรายได้มากกว่า ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนที่จะรับเงินจากกองทุนชราภาพที่กองทุนจะต้องจ่ายตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ เป็นต้นไป

๓. ผู้ประกันตนต้องแบกรับภาระความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันรัฐบาลได้อนุมัติให้ขึ้นค่าเหมาจ่ายด้านรักษาพยาบาลประจำปี ๒๕๕๒ จากเดิม ๑,๕๓๙ บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น ๑,๘๖๑ บาทต่อคนต่อปี ทำให้กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายเงินให้โรงพยาบาลมากขึ้นถึงปีละ ๔,๐๐๐ – ๔,๕๐๐ ล้านบาท

๔. ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเพราะลูกจ้างยังถูกเลิกจ้างอยู่เช่นเดิม ทำให้กองทุนต้องแบกรับภาวการณ์ว่างงานเพิ่มขึ้นอีกกรณีหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า การลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่ได้ทำให้นายจ้างไม่เลิกจ้างแรงงาน จึงทำให้กองทุนประกันสังคมต้องนำเงินมาจ่ายทดแทนเพิ่มขึ้นในส่วนของประกันการว่างงาน

จากเหตุและผลที่ได้นำเสนอมานั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ จึงมีข้อเสนอต่อภาครัฐดังนี้

๑. ให้มีการทบทวนมาตรการการลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมอีกครั้งหนึ่ง เพราะจากข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวมาได้ชี้ให้เห็นชัดว่า ไม่ใช่สถานประกอบการทุกแห่งในกิจการจ้างงานทุกประเภท ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ มีเพียงบางกิจการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกต่างประเทศเท่านั้นที่รับผลกระทบ นอกจากนั้นบางสถานประกอบการได้เลือกใช้สถานการณ์ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเป็นข้ออ้างในการฉวยโอกาสเลิกจ้างงาน ฉะนั้นรัฐบาลควรมีการศึกษา/สำรวจก่อนว่ามีสถานประกอบการใดที่ได้รับผลกระทบบ้าง แล้วถึงจะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ และถ้ารัฐบาลได้นำมาตรการดังกล่าวมาใช้กับบางสถานประกอบการแล้วนั้น รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบหาเงินมาจ่ายทดแทนในส่วนที่ลดลงให้กับลูกจ้างและนายจ้างที่หายไปจากกองทุนกว่า ๑๕,๐๐๐ ล้านบาทด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้ไม่กระทบกับฐานะทางการเงินของกองทุนประกันสังคมต่อไปในอนาคต

๒. รัฐบาลควรจะพิจารณาการขยายระบบประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบและแรงงานกลุ่มอื่นๆ ให้มากขึ้น เพราะขณะนี้มีลูกจ้างหลายประเภทที่ยังไม่ได้รับการดูแลโดยระบบประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างชั่วคราวของราชการและรัฐวิสาหกิจ เกษตรกร ลูกจ้างภาคเกษตร ผู้รับงานมาทำตามบ้าน รับจ้างทำสินค้า รวมทั้งผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหลาย ตั้งแต่หาบเร่แผงลอย ทนายความ ช่างเสริมสวย การขยายความคุ้มครองประกันสังคมไปยังแรงงานนอกระบบ ซึ่งรวมถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองแบบถูกกฎหมาย

๓. รัฐบาลต้องมีการผลักดันแก้ไขการประกันการว่างงานของประกันสังคม โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับแรงงานสูงอายุ ที่มีการตัดสิทธิผู้ได้รับประโยชน์เนื่องจากอายุเกิน ๕๕ ปี