แถลงการณ์คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เรื่อง ให้รัฐบาลยกเลิกการขึ้นภาษีน้ำมันคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) 26 .. 52 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลงการณ์คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ฉบับที่ ๒/๒๕๕๒ เรื่อง ให้รัฐบาลยกเลิกการขึ้นภาษีน้ำมัน จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากันอยู่ในขณะนี้ แต่ละประเทศต่างพยายามหาหนทางในการไขปัญหาของตนเอง ประเทศไทยซึ่งระบบเศรษฐกิจของประเทศยังคงต้องพึ่งพาต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งการลงทุนและการส่งออกผลผลิต และเมื่อระบบเศรษฐกิจโลกประสบกับปัญหาทำให้ประเทศไทยก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เช่นเดียวกัน เมื่อมีปัญหาตลาดสินค้าในต่างประเทศไม่สามารถส่งออกสินค้าไปขายได้ทำให้สถานประกอบการจำนวนมากต้องปิดกิจการ เลิกจ้างคนงาน และสิ่งที่ตามมาคือรัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าที่วางไว้ ทำให้รัฐบาลต้องไปกู้เงินต่างประเทศถึง ๘๐๐,๐๐๐ ล้านบาท และปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๕๓ ลงจาก ๑.๙ ล้านๆบาท เหลือ ๑.๗ ล้านๆบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริการสาธารณะที่รัฐบาลจะให้แก่ประชาชนในอนาคต ความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาด้วยการการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ประชาชนใช้จ่ายเงินมากขึ้นด้วยนโยบายต่างซึ่งดูแล้วล้วนเป็นนโยบายแก้ปัญหาระยะสั้นไม่ยั่งยืนเช่นโครงการแจกเงิน ๒,๐๐๐ บาท ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลนำมาโฆษณาผลงานบอกประชาชนถึงความสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวซึ่งแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกโอกาสจะฟื้นตัวคงต้องใช้ระยะเวลา และล่าสุดประเทศไทยเอง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประกาศปรับลดตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส ๑/๒๕๕๒ ติดลบ ๗.๑ เปอร์เซ็นต์ และแนวโน้มจะติดลบในปี ๒๕๕๒ ถึง ๓.๕ เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ด้านหนึ่งรัฐบาลกำลังเน้นให้ประชาชนใช้จ่ายในประเทศมากขึ้นดูจากนโยบายและโครงการต่าง ๆ แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลกลับซ้ำเติมประชาชนด้วยการใช้นโยบายเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันขยายเพดานการจัดเก็บจาก ๕ บาทเป็น ๑๐ บาท ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอีก ทั้ง ๆ ที่ราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงกว่าราคาในตลาดโลกเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ราคาน้ำมันที่สูงอยู่แล้วกลับสูงขึ้นไปอีกและเมื่อน้ำมันราคาสูงขึ้นเป็นที่แน่นอนว่าราคาสินค้า และการบริการต่างๆ ย่อมสูงตามไปด้วยทำให้ประชาชนต้องประสบกับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสในขณะนี้ สุดท้ายแล้วทำให้สังคมเกิดความสับสนในนโยบายของรัฐบาลว่าจะไปในทิศทางไหน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ตระหนักถึงความเดือดร้อนของของประชาชนและเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรซ้ำเติมประชาชนให้ทุกข์ยากไปมากกว่าที่เป็นอยู่ จึงขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายการจัดเก็บภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้น และหากรัฐบาลต้องการรายได้เพิ่มขึ้นควรหันไปจัดเก็บภาษีจากคนรวย เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สินและสินค้าฟุ่มเฟือยตามที่รัฐบาลเคยมีนโยบายไว้แล้วจะดีกว่า แถลงเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย |