Thai / English

แรงงานมิชลินชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม ถูกหักเงินเดือนและสั่งปิดงานโดยไม่ได้ค่าจ้าง



25 .. 52
ประชาไท

24 เม.ย. 52 – แรงงานบริษัท สยามมิชลิน จำกัด ในเขตนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ได้ชุมนุมหน้าโรงงานตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้บริษัท รับพนักงานทุกคนกลับเข้าทำงาน พร้อมจ่ายเงินเดือนและโบนัสปี 2551 โดยไม่มีเงื่อนไข และไม่เลือกปฏิบัติ เปิดการเจรจากับสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย ตามครรลองของกระบวนการเรียกร้อง และให้บริษัทฯ ยุติการละเมิดสิทธิของลูกจ้างและสหภาพแรงงานตามอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ตามมาตรา 87 และ 98 ว่าด้วยการรวมกลุ่มของคนงานและเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง

แถลงการณ์จากสหภาพแรงงานมิชลิน ประเทศไทย

คนงานสยามมิชลิน ถูกหักเงินเดือนและสั่งปิดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง

สวัสดี เพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงาน พี่น้องประชาชน และสื่อมวลชนทุกท่าน

บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ตั้งอยู่นิคมฯ แหลมฉบัง เลขที่ 87/11 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บริษัทฯ ก่อตั้งเมื่อ ปี 2532 ทุนจดทะเบียน 3,817,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 38,170,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีบริษัทแม่อยู่ประเทศฝรั่งเศส บริษัทสยามมิชลินกรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัทฯ ในเครือ 11 บริษัท ประกอบกิจการประเภทผลิตยางรถยนต์ ส่งขายภายในและต่างประเทศทั่วโลก มีพนักงานทั้งหมด 1,500 คน ตลอดเวลาที่บริษัทฯ ได้ดำเนินกิจการมาเป็นเวลา 20 ปี ผลิตยางมีคุณภาพดี ได้มาตรฐาน ขายราคาแพง ทำให้บริษัทฯ มีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากความสามารถของพนักงาน แต่พนักงานที่ผลิตยาง กลับได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเพียงน้อยนิด มิหนำซ้ำปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2552 บริษัทฯ อ้างว่าได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงลดเงินเดือนพนักงานลง 13.04 % โดยการข่มขู่ให้พนักงานเซ็นชื่อยอมให้หักค่าจ้าง ถ้าไม่เซ็นก็บอกให้ลาออก หรือกลั่นแกล้ง โยกย้ายงาน แต่ผู้บริหารกลับถูกหักค่าจ้างเพียง 5 % ทั้งๆ ที่ปีที่ผ่านๆ มาบริษัทฯ มีกำไรเป็นพันๆ ล้านบาท

พนักงานจำนวน 1,000 กว่าคนจึงร่วมลงรายมือชื่อเพื่อยืนยันข้อเรียกร้องไม่ให้บริษัทฯ หักค่าจ้างและขอโบนัสปี 2551 ที่จะจ่ายให้ในสิ้นเดือนเมษายน 2552 นี้ 2 เดือน ตามที่บริษัทฯ ประกาศไว้ แต่บริษัทฯ กลับมีเงื่อนไขว่าถ้าใครไม่ลงรายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องจะให้โบนัส 2 เดือน ถ้าใครลงรายมือชื่อหรือไม่ถอนรายชื่อออกจากข้อเรียกร้อง จะไม่ได้โบนัสซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม และยิ่งไปกว่านั้นบริษัทฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องสวนให้กับพนักงานเพื่อขอหักค่าจ้าง 35 % และลดสวัสดิการอื่นๆ ลงอีก การเจรจาตกลงกันไม่ได้ จนเกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ บริษัทฯ จึงปิดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างพนักงานจำนวน 383 คน และได้ทำหนังสือไปถึงพนักงานที่อยู่ต่างจังหวัดว่าคนงานที่ร่วมชุมนุมสร้างความเดือดร้อนให้บริษัทฯ ทั้งโทรศัพท์ข่มขู่พนักงาน จนทำให้บางคนเกิดความเครียดหวาดระแวงมีอาการไม่ปกติ จึงกลับต้องนำส่งโรงพยาบาล เงินเดือนเดือนมีนาคมพนักงานก็ถูกหักค่าจ้าง 13.04 % รวมทั้งค่าจ้างที่ถูกปิดงานก็ถูกหักอีกด้วย สร้างความเดือดร้อนให้กับพนักงานเป็นอย่างมาก

ผลการเจรจาข้อเรียกร้องหลายครั้ง มีทั้งผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เข้าร่วมเจรจาแต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ และล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2552 ที่กระทรวงแรงงาน พนักงานตกลงให้หักเงินเดือน 13.04 % แต่มีกำหนดเวลาไม่เกินสิ้นปี 2552 นี้ ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นก็ค่อยมาตกลงกันใหม่ และขอให้บริษัทจ่ายโบนัส 2 เดือน สิ้นเดือน เม.ย. นี้ ให้ทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข และไม่เลือกปฏิบัติ ที่พนักงานยอมขนาดนี้เพราะไม่มีทางเลือก ไม่ได้เข้าทำงานและไม่ได้รับเงินเดือน แต่บริษัทฯ ขอกลับไปพิจารณาดูก่อน อ้างว่าต้องรอทางฝรั่งเศสตัดสินใจ การกระทำดังกล่าวบริษัทฯ ต้องการยืดเวลาออกไปเพราะทุกครั้งที่เจรจาบอกว่าไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ การกระทำดังกล่าวเป็นการกดดันพนักงานบางส่วนให้กลับเข้าทำงาน และบีบแกนนำที่อยู่ข้างนอกบริษัทฯ ทนอยู่ต่อไปไม่ได้ ต้องลาออกไปกันเอง โดยที่บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ทั้งๆ ที่บริษัทฯ ได้ประกาศว่าเป็นบริษัทฯ ที่ได้มาตรฐาน ได้รับแรงงานสัมพันธ์ดีเด่นติดต่อกันหลายปี แต่การกระทำของบริษัทฯ กลับสวนทาง ไม่ฟังความคิดเห็นของพนักงาน บริษัทฯ ทำเพื่อต้องการลดต้นทุนเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงสภาพจิตใจ ความเป็นอยู่ของพนักงาน ไม่คำนึงถึงเรื่องคุณธรรม ละเมิดสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน และขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ หากบริษัทฯ ประสบกับปัญหาจริง พนักงานทุกคนก็ยินดีที่จะหาทางออกร่วมกัน แต่ไม่ใช่วิธีการหักค่าจ้างคนงานเป็นจำนวนมากๆ อย่างนี้ ยังมีวิธีอื่นอีกมากมายที่จะแก้ไขปัญหา เช่น ใช้มาตรา 75 ที่เคยยื่นข้อเสนอไปแล้วเป็นต้น

ในช่วงที่ยื่นข้อเรียกร้อง พนักงานได้ร่วมกันก่อตั้งสหภาพแรงงานไปด้วย ได้เปิดประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2552 ที่เต้นหน้าบริษัทฯ แต่ถูกต่อต้านจากบริษัททุกรูปแบบ จุดนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเจรจาไม่มีข้อยุติเพราะบริษัทฯ ไม่ต้องการให้มีสหภาพแรงงาน ต้องการกำจัดแกนนำทั้งหมดออกไป ในนามของสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย ขอเรียกร้องดังนี้

1. รับพนักงานทุกคนกลับเข้าทำงาน พร้อมจ่ายเงินเดือนและโบนัสปี 2551 โดยไม่มีเงื่อนไข และไม่เลือกปฏิบัติ

2. บริษัทฯ เปิดการเจรจากับสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย ตามครรลองของกระบวนการเรียกร้อง

3. ให้บริษัทฯ ยุติการละเมิดสิทธิของลูกจ้างและสหภาพแรงงานตามอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ตามมาตรา 87 และ 98 ว่าด้วยการรวมกลุ่มของคนงานและเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง

ขณะนี้พนักงานที่ถูกบริษัทฯ ปิดงานได้ชุมนุมกันอยู่ที่หน้าบริษัทฯ ที่นิคมฯ แหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2552 จนถึงขณะนี้ เพื่อเรียกร้องไม่ให้บริษัทฯ หักค่าจ้างและยกเลิกการปิดงาน และหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องผู้ใช้แรงงาน พี่น้องประชาชน เข้าใจในการเรียกร้องของคนงานบริษัท สยามมิชลิน จำกัด ให้ได้รับความเป็นธรรมในครั้งนี้