Thai / English

คสรท. เคลื่อนไหวกรณีผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจต่อคนงาน

แถลงการณ์คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ฉบับที่ 1/2552
Kwansakul Chaopanon
07 .. 52
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

แถลงการณ์คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ฉบับที่ 1/2552

“ไม่ใช่แค่หนึ่งชีวิต..แต่คือทั้งหมดครอบครัว..ที่กระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้”

สิ้นเดือนมีนาคม 2552

- 23,712 คน ถูกเลิกจ้าง โรงงาน/บริษัทปิดกิจการไปแล้ว 272 แห่ง ตั้งแต่มกราคม 52

- 163,726 คน ถูกเลิกจ้าง โรงงาน/บริษัทปิดกิจการไปแล้วกว่า 1,000 แห่ง ตั้งแต่ต้นปี 51

- 227,000 คน ถูกลดค่าจ้าง และค่าล่วงเวลา (โอที) ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ

- 2 ล้านคน เป็นอย่างต่ำ ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะตกงานในปีนี้

- 5 อันดับแรก จังหวัดที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด คือ สมุทรปราการ ปทุมธานี อยุธยา กรุงเทพมหานคร และฉะเชิงเทรา

จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เริ่มต้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจนเกิดผลกระทบไปทั่วโลก และประเทศไทยเองก็ตกอยู่ในภาวะดังกล่าวอย่างยากจะหลีกเลี่ยง วิกฤติครั้งนี้ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จนนำมาสู่ปัญหาการเลิกจ้างแรงงานอย่างมโหฬาร โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการส่งออก ดังเช่น ลูกจ้างในกิจการผลิตยางรถยนต์กว่า 2 หมื่นคน ในโรงงานทั่วประเทศ ที่กำลังประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างหนักที่จะถูกเลิกจ้าง ถูกลดชั่วโมงทำงาน และไม่จ่ายเงินเดือน ในขณะที่ไม่มีการคิดถึงการลดค่าจ้างฝ่ายบริหารเลยแม้แต่น้อย ทั้งที่ค่าจ้างฝ่ายบริหารสูงมาก ชี้ให้เห็นว่าเป็นการผลักภาระให้แต่เพียงฝ่ายลูกจ้างเท่านั้น

- ลูกจ้างบริษัทผลิตยางกู๊ดเยียร์ 160 คน ต้องถูกปลดออกจากงาน โดยผู้บริหารไม่มีการแจ้งให้รับทราบก่อน

- ลูกจ้างบริษัทสยามมิชลิน พระประแดง สมุทรปราการ และ แหลมฉบัง ระยอง กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก นายจ้างไม่จ่ายเงินเดือน ลดเวลาทำงานของลูกจ้างทุกคน รวมทั้งถูกปรับลดเงินเดือนถึง 13 %

- ลูกจ้างบริษัทแคนาดอล เอเชีย และบริษัทแคนาดอลไพพ์ กำลังอดตาย เพราะนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง และไม่รับกลับเข้าทำงาน

ทั้งๆที่บริษัทสยามมิชลิน ขายยางส่งออกทั่วโลกเป็นอันดับ 1 มีการขยายโรงงานต่อเนื่อง ตลอดเวลาที่ดำเนินกิจการมาเป็นเวลา 20 ปี บริษัทฯมีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง สิ้นปี 50 มีกำไรถึง 1,114 ล้านบาท บริษัทแคนาดอล ตั้งมาตั้งแต่ปี 2523 บริษัทฯมีกำไรตลอดและยังขยายบริษัทฯเพิ่มขึ้นบนเนื้อที่กว่า 500 ไร่ และมีการขยายกิจการกว่า 8 โรงงาน

ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เคยเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 เพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงาน และการรับมือต่อสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจก็เป็นข้อเสนอหนึ่งของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เพื่อให้กระทรวงแรงงานมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสถานการณ์ที่ประสบปัญหาก่อนมีการเลิกจ้าง และ การตั้งกองทุนช่วยเหลือคนงานที่ได้รับผลกระทบและตกงาน แต่ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานได้นิ่งเฉยและไม่ได้มีนโยบายตอบสนองในการแก้ไขปัญหาเชิงรุก อีกทั้งยังปล่อยให้ผลกระทบทวีความรุนแรงต่อผู้ใช้แรงงานเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากกรณีปัญหาตัวอย่างต่างๆ ข้างต้น

วันนี้ลูกจ้างผู้เดือดร้อน เพราะครอบครัวกำลังจะอดตาย ลูกจะต้องออกจากโรงเรียน และพ่อแม่ที่อยู่บ้านนอก ต้องรอคอยเงินหล่อเลี้ยงชีวิตอย่างสิ้นหวัง

กี่ครั้งแล้วที่คนงานขอเจรจากับนายจ้าง เพื่อหาหนทางแก้ปัญหาร่วมกัน แต่นายจ้างกลับส่งคนที่ไม่มีอำนาจเข้ามาเจรจา นายจ้างใหญ่ยังทำงานเป็นปกติที่ประเทศฝรั่งเศส และแคนาดา อย่างชอบธรรม กระทรวงแรงงานที่เป็นความหวังของเรา ก็กลับเมินเฉย ไม่สนใจ ทำได้เพียงไกล่เกลี่ย เจรจา มองปรากฏการณ์ “การเลิกจ้าง” ว่าเป็นเรื่องปกติ โดยขาดการตรวจสอบว่าผลการประกอบการย้อนหลังของบริษัทแต่ละแห่งที่เลิกจ้างเป็นอย่างไร นโยบายรัฐกำลังโยนภาระเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจให้แก่ลูกจ้างอย่างเราเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นหรือ

แล้วลูกจ้างอย่างเราล่ะ “จะกินอะไร จะอยู่อย่างไร จะดูแลคนในครอบครัวอย่างไร และเปิดเทอมนี้ลูกเราจะได้ไปโรงเรียนไหม เป็นคำถามที่เราไม่กล้าตอบเพียงฝ่ายเดียว ชะตากรรมของครอบครัวเรา ให้เราได้มีส่วนร่วมกำหนดบ้างเถอะ”

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะองค์กรแรงงานขับเคลื่อนศูนย์กลางของผู้ใช้แรงงาน จำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหว ในวันอังคารที่ 7 เมษายน 2552 รวมตัวกัน ณ อนุสาวรีชัยสมรภูมิ (ป้ายรถเมล์ฝั่งพหลยิน) เวลา 09.00น. เพื่อเดินขบวนเรียกร้องไปยังกระทรวงแรงงาน และชุมนุมอย่างต่อเนื่อง กดดันให้กระทรวงแรงงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรีบเร่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการดำเนินการดังนี้

1. เป็นเจ้าภาพและเป็นประธานในการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างผู้แทนนายจ้างที่มีอำนาจในการตัดสินใจและผู้แทนลูกจ้าง ของบริษัท แคนาดอล เอเชีย จำกัด และบริษัท สยามมิชลิน จำกัด ให้มีการเจรจาและยุติข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้น

2. มีคำสั่งให้นายจ้างผู้มีอำนาจในการตัดสินใจของบริษัท แคนาดอล เอเชีย จำกัด ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ที่ได้มีการลงนามร่วมกันต่อหน้าที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระหว่างผู้แทนนายจ้างและผู้แทนลูกจ้าง ในวันที่ 13 มีนาคม 2552

“เลิกจ้าง เพราะฉวยโอกาส ใช้ข้ออ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจ ครอบครัวเราตาย”

แถลงเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2552

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย