Thai / English

รายงานสถานการณ์กรณีพิพาทระหว่างสหภาพแรงงานและบริษัท GM ประเทศไทย


บุญยืน สุขใหม่
19 .. 52
ประชาไท

บริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์สประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด เลขที่ 111/1 หมู่ 4 ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ประกอบกิจการผลิตรถยนต์ส่งออกต่างประเทศและขายในประเทศไทย ทุนจดทะเบียนแบ่งออกเป็น 244,090,909 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 24,409,090,900 บาท จดทะเบียน วันที่ 8 มิถุนายน 2535 สำนักงานใหญ่เลขที่ 555 อาคารสาธรทาวเวอร์ ชั้น 23 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร นายจ้างมีสัญชาติสหรัฐอเมริกา มีพนักงาน จำนวน 1,600 คน

พนักงานทำงานด้วยความทุ่มเทมาโดยตลอด พิสูจน์ได้จากการที่บริษัทฯ ลงทุนมหาศาลแต่สามารถสร้างผลกำไรให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่องและถึงจุดคุ้มทุนภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี โดยที่รถแต่ละคันที่ผลิตออกไปมีต้นทุนที่ถูก และมีการกำหนดราคาขายที่เป็นกำไรตามมาตรฐานของบริษัทฯ นั่นหมายถึงผลกำไรที่ทวีคูณเทียบเท่ากับจำวนรถยนต์ที่บริษัทฯ ทำการผลิต ที่ผ่านมาผู้บริหารกำลังเบี่ยงเบนข้อมูลโดยพยายามดึงประเด็นการลงทุนเพิ่ม การเพิ่มพูนทรัพย์สินหรือผลกำไรที่ไม่ได้เก็บอยู่รูปของเงินสดไปรวมเป็นรายจ่าย แล้วบอกพนักงานว่ามีรายจ่ายมากกว่ารายรับ คือ เราขาดทุนนั่นเอง

ทั้งนี้ในปี 2551 ยอดการผลิตรถยนต์สูงกว่า 100,000 คัน ในปัญหาสภาวะเศรษฐกิจสหภาพแรงงานก็มิได้ละเลย พนักงานทุกคนเข้าใจในเรื่องปรับปรุงองค์กร พนักงานทุกคนยินดีให้ความร่วมมืออย่างดีมาโดยตลอดเพื่อลดต้นทุนการผลิต และยินดีจะให้ความร่วมมือต่อไปในอนาคต แต่ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานซึ่งถือว่าเป็นองค์กรในการเป็นตัวแทนของพนักงานไม่สามารถยอมรับได้ คือการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อพนักงานในระดับปฏิบัติการ สหภาพแรงงานฯ จึงขอให้บริษัทฯ ทบทวนบทบาท และขอร้องเรียนมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจ ให้แสดงบทบาทเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพนักงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสถานประกอบการ เพื่อความถูกต้องและดำรงไว้ซึ่งความถูกต้องตามกฎหมายไทย ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนใช้บทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้ปัญหาของคนงานได้รับการแก้ไข และจบลงด้วยการพูดคุยที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลเพื่อความเข้าใจอันดีต่อกัน และรักษาไว้ซึ่งระบบแรงงานสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

ดังนั้น สหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย จึงขอร้องเรียนเรื่องการบริหารงานที่ไม่เป็นธรรมของผู้บริหารของบริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด ดังนี้

1. เรื่อง การเรียกร้องปรับสวัสดิการและสภาพการจ้างงาน

สหภาพแรงงานฯ ได้ใช้ความพยายามที่จะหาทางออกในการเจรจามาโดยตลอดพยายามที่จะปรับลดตัวเลข และเสนอแนวทางต่างๆ เพื่อจะให้การเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้เพื่อจะได้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่ก็ถูกปฏิเสธจากฝ่ายบริหารมาโดยตลอด และสหภาพแรงงานฯ ก็ยังยืนยันที่จะใช้หลักการในการเจรจาและมีการเจรจากันในขั้นตอนพิพาทแรงงานถึง 5 ครั้ง แต่ผู้บริหารได้ปฏิเสธที่จะพิจารณาข้อเสนอของสหภาพแรงงานฯ มาโดยตลอด

2. การละเมิดกฎหมาย พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 เป็นการกระทำที่ท้าทายและไม่ยำเกรงกฎหมายไทยจากผู้บริหารของบริษัทฯ

ระหว่างที่มีการยื่นข้อเรียกร้องและอยู่ระหว่างการเจรจาในขั้นตอนของการพิพาทแรงงาน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 บริษัทฯ ได้เลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานฯ โดยที่ลูกจ้างไม่ยินยอม จำนวนประมาณ 70 คน พนักงานเหล่านั้นไม่ได้สมัครใจที่จะออก และต้องประสบกับความลำบากเนื่องจากต้องตกงาน โดยที่นายจ้างอ้างปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ บริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด เป็นทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ในการดำเนินธุรกิจต้องเคารพหลักจรรยาบรรณทางการค้า (CSR) หรือ เคารพต่อข้อตกลงของประเทศผู้ส่งออกทุนโดยยึดหลักการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) –Organization for Economic Co-operation and Development.ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ลงนามเป็นประเทศภาคีไว้จะต้องยึดมั่นในแนวปฏิบัติที่ผูกพันของตน ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมของบรรษัทข้ามชาติทั้งหลาย และต้องเคารพต่ออนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการให้ความคุ้มครองในเรื่องของการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม การกระทำที่เป็นการท้าทายกฎหมายไทยทำให้กฎหมายขาดความเชื่อถือจากประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการขัดกับหลักการสากล คือ “หลักการนิติรัฐ” ซึ่งทุกคนต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย

3. การกระทำที่ที่ผิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และหลักศีลธรรมอันดี

จากรายงานข่าวของทีมข่าว CNN ทุกคนคงได้ทราบเรื่องราวของคุณเอก ทองเอี่ยม (พนักงานที่อยู่ระหว่างรอผลการวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่เจ็บป่วยจากการทำงานหรือไม่ ซึ่งสันนิษฐานว่าป่วยเป็นโรคสมองฝ่อคาดว่าเกิดจากการทำงานอยู่กับทินเนอร์มาเป็นเวลานาน) เขาได้ถูกเลิกจ้างโดยที่บริษัทฯ ทราบดีว่าการเลิกจ้างครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและครอบครัวของเขามากไม่สามารถที่จะไปสมัครงานที่ไหนได้อีก ในวัย 37 ปี กับค่าชดเชยไม่กี่หมื่นบาทที่บริษัทฯ จ่ายให้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสหภาพแรงงานคิดว่าเขาต้องป่วยจากการทำงานให้กับบริษัทฯ แม้วันนี้เขาจะป่วยเขาก็สามารถทำประโยชน์ให้กับบริษัทฯ ได้เพราะในระยะเวลาที่ผ่านมาเขาก็มาทำงานปกติยกเว้นในบางช่วงที่เขาต้องพักฟื้น และเขามีความมุ่งมั่นที่จะทำงานตามที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้างาน และทำงานให้เสร็จได้ตามที่หัวหน้างานสั่ง ในบริษัทแห่งนี้มีงานอีกมากมายที่เขาสามารถทำได้ทำไมต้องเลิกจ้าง เขาคือคนที่ป่วย แต่เขาก็ยังมีความสมารถที่จะทำงานได้

4. การบริหารที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้บริหารด้วยกันโดยที่ไม่คำนึงถึงความจำเป็นทางเศรษฐกิจอย่างที่บริษัทฯ กล่าวอ้างมีการเลือกปฏิบัติเลิกจ้างเฉพาะพนักงานระดับปฏิบัติการ

ผู้บริหารอ้างปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในการปลดพนักงานระดับปฏิบัติการ โดยที่ระดับบริหารไม่มีการแตะต้องและอ้างถึงความจำเป็นตามโครงสร้างการบริหารตามบริษัทแม่ มีการโอนย้ายกันเองเพิ่มตำแหน่งที่ไม่จำเป็นมาเพื่อรองรับส่วนที่ต้องการปลดออกเนื่องจากถูกลดขนาดองค์กร ที่ว่าไม่จำเป็นเนื่องจาก GM ประเทศไทยดำเนินธุรกิจมากว่า 10 ปี ไม่มีตำแหน่งเหล่านี้ก็สามารถดำเนินธุรกิจมูลค่า 24,409,090,900 บาท ให้ถึงจุดคุ้มทุนได้ในระยะเวลาแค่ 5ปีได้ เห็นได้ชัดว่าเป็นข้ออ้างในการเอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนและค่าจ้างที่สามารถนำมาเป็นค่าจ้างของพนักงานระดับปฏิบัติการได้ ซึ่งพนักงานเหล่านั้นเป็นกำลังสำคัญในการผลิต ไม่จำเป็นต้องถูกเลิกจ้างแต่อย่างใด

5. เป็นการกระทำที่เอาเปรียบของผู้บริหารเพื่อประโยชน์ส่วนตนอย่างน่าละอาย

หลายท่านคงทราบเป็นอย่างดีว่าตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาบริษัทฯ มีการหยุดการผลิตและหักค่าจ้างพนักงาน 25% ในช่วงที่ให้พนักงานหยุดงานอยู่ที่บ้านโดยผู้บริหารอ้างว่าไม่มีงานให้ทำ แต่ในทางกลับกันผู้บริหารจำนวนมากมาทำงานในช่วงเวลาดังกล่าวและได้รับค่าจ้าง 100%

ผู้บริหารอ้างปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในการปรับลดสวัสดิการพนักงาน แต่ผู้บริหารเองยังใช้รถหรูประจำตำแหน่งคนละคันเติมน้ำมันฟรีโดยใช้เงินของบริษัทฯ แม้แต่แก้วน้ำในสำนักงาน หรือโต๊ะทำงานของผู้บริหารเองก้องจ้างแม่บ้านทำความสะอาดและเก็บกวาดให้

ประเด็นความขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่างระหว่างสหภาพแรงงานฯ กับฝ่ายบริหาร

· เมื่อวันที่ 22 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2551 สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องในนามสหภาพแรงงานฯ เพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และมีการนัดการเจรจากันครั้งต่อไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551

· 28 ตุลาคม 2551 และนายจ้างได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กับสหภาพแรงงานจำนวน 2 ข้อ

· ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 สหภาพแรงงานแจ้งเป็นข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดระยอง

· เดือนพฤศจิกายน 2551 บริษัทได้มีการเลิกจ้างพนักงานในส่วนเหมาค่าแรงสองครั้งในระหว่างเดือนกันยายนถึง พฤศจิกายน 2551 จำนวนประมาณ 450 คน

· ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 ได้เปิดให้มีการสมัครใจลาออก จำนวน 258 คน

· วันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 บริษัทฯออกประกาศให้พนักงานหยุดงานเป็นการชั่วคราวโดยจ่ายค่าจ้าง 75%

โดยสายการผลิตรถเก๋ง ให้หยุดงานตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 27 มกราคม 2552

สายการผลิตรถกระบะเริ่มปิดตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2552

ส่วนของผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาระดับสูงเงินเดือนสูงทุกคนยังคงมาทำงานตามปกติทั้งที่งานในขบวนการผลิตไม่มีและได้รับค่าจ้าง 100%

· วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552 ได้มีการเลิกจ้างพนักงานที่สมัครใจลาออกจำนวน ประมาณ 730 คน และเลิกจ้างพนักงานที่ไม่สมัครใจลาออกประมาณ 70 คน

· วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552 ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2552 นายจ้างประกาศให้ลูกจ้างหยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ 75% ส่วนของผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาระดับสูงเงินเดือนสูงทุกคนยังคงมาทำงานกันตามปกติและได้รับค่าจ้าง 100%

· วันที่ 13 มีนาคม 2552 สหภาพแรงงานฯ จัดประชุมวิสามัญเพื่อขอมตินัดหยุดงาน

· วันที่ 13 มีนาคม 2552 บริษัทฯ ได้ออกประกาศหยุดงานชั่วคราวโดยจ่ายค่าจ้าง 75% ให้กับพนักงาน และเริ่มหยุดงานตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2552 ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2552 คาดว่าผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาระดับสูงเงินเดือนสูงทุกคนยังคงมาทำงานตามปกติทั้งที่งานในขบวนการผลิตไม่มีและได้รับค่าจ้าง 100%