คนงานวอลมาร์ทนัดประท้วงหยุดงานครั้งใหญ่ช่วง 'แบล็กฟรายเดย์'25 .. 57 ประชาไท คนงานวอลมาร์ท 23 คนถูกจับหลังปักหลักประท้วงที่แคลิฟอร์เนีย ในขณะที่กลุ่มคนงานทั่วสหรัฐฯ วางแผนประท้วงใหญ่วันที่มีการลดราคาสินค้าดึงดูดนักช้อปช่วงเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้า หวังจะมีผู้ประท้วงตามห้างค้าปลีกต่างๆ มากกว่า 1,600 แห่ง เพื่อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำและปรับสภาพการจ้างงาน 23 พ.ย. 2557 คนงานวอลมาร์ท 23 คน ถูกจับกุมตัวหลังไปร่วมประท้วงปิดทางแยกในเมืองพิโค ริเวอรา รัฐแคลิฟอร์เนีย หน้าห้างวอลมาร์ทในย่านนั้นเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยกลุ่มคนงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนงานค่าแรงขั้นต่ำทั้งจากวอลมาร์ทและจากที่อื่นๆ ทั่วสหรัฐฯ ซึ่งพวกเขาไม่เพียงประท้วงเรียกร้องการขึ้นค่าแรงเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้มีการปรับชั่วโมงการทำงานและสภาพการจ้างงานที่ดีขึ้น และต้องการให้บรรษัทเลิกตอบโต้การเคลื่อนไหวของพวกเขา คนงานกลุ่มดังกล่าวถูกจับตัวไปหลังจากร่วมปักหลักประท้วงครั้งสำคัญที่หน้าห้างค้าปลีกวอลมาร์ท โดยผู้ประท้วงเป็นคนงานที่ไม่ได้ทำงานในกะนั้น พวกเขาแสดงออกด้วยเขียนป้ายสีเขียวด้วยคำว่า "สไตร์ค" ที่หมายถึงการหยุดงานประท้วงพวกเขายังได้เดินไปตามช่องทางเดินที่มีลูกค้าผ่านไปมาพร้อมพากับตะโกนว่า "ลุกขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น! นั่งลง มีชีวิตที่ดีขึ้น!" เว็บไซต์ Waging Nonviolence ระบุว่าการนั่งปักหลักประท้วงเป็นวิธีการเคลื่อนไหวของแรงงานที่มักจะใช้กันตั้งแต่ยุคเก่าซึ่งได้รับความนิยมจากช่วงคริสตศตวรรษที่ 1930 เมื่อกลุ่มสหภาพคนงานยูไนเต็ดออโต้นั่งปักหลักประท้วงที่สายพานประกอบชิ้นส่วนของโรงงานเจอเนอรัลมอเตอร์ที่เทศมณฑลฟลินท์ รัฐมิชิแกน ซึ่งในตอนนั้นการปิดโรงงานที่ฟลินท์ทำให้การผลิตของเจอเนอรัลมอเตอร์หยุดลงโดยสิ้นเชิงเพราะในตอนนั้นมีโรงงานของเจอเนอรัลมอเตอร์อยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้น ฟิลิป เดรย์ นักประวัติศาสตร์แรงงานเคยเขียนในหนังสือเรื่องเกี่ยวกับสหภาพแรงงานว่า กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์จะได้รับผลกระทบจากการนั่งปักหลักประท้วงมากเพราะระบบการผลิตรถยนต์ต้องอาศัยการผลิตเป็นทอดๆ อย่างต่อเนื่องถ้าหากมีสายงานใดสายงานหนึ่งหยุดการผลิตจะทำให้โรงงานทั้งหมดไม่สามารถผลิตต่อได้ หลังจากการประท้วงหยุดงานจบลง สมาชิกของสหภาพก็มีเพิ่มมากขึ้นจาก 30,000 คนเป็น 500,000 คน ทั่วประเทศภายใน 1 ปี ในกรณีของการประท้วงวอลมาร์ทล่าสุด มีการจัดตั้งแรงงานตั้งแต่เดือน ต.ค. 2555 ในตอนนั้นพวกเขาวางแผนนัดหยุดงานประท้วงที่ห้างวอลมาร์ทใน 12 เมือง เมื่อเดือนที่แล้วมีคนงานวอลมาร์ทราว 80 คนในไมอามีประท้วงด้วยการเดินออกจากที่ทำงาน หลังจากที่ในช่วง ก.ย. ปีนี้มีการประท้วงเพิ่มขึ้นอีก 15 เมือง จนถึงปี 2557 คนงานจากห้างวอลมาร์ท 2,100 สาขาร่วมลงนามเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 490 บาท) เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องของกลุ่มคนงานอาหารฟาสต์ฟู้ด เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานระบุว่าคนงานวอลมาร์ท 825,000 คน มีรายได้น้อยกว่า 25,000 ดอลลาร์ต่อปี (ราว 800,000 บาท) จากงานวิจัยของสภาคองเกรสระบุว่ามีคนงานวอลมาร์ทโดยเฉลี่ยในหนึ่งสาขาต้องการเงินช่วยเหลือโครงการสแตมป์อาหาร 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 32 ล้านบาท) เพื่อชดเชยค่าจ้างที่ต่ำ ผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้มีการเพิ่มตำแหน่งงานแบบเต็มเวลามากขึ้น จากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อช่วงฤดูร้อนปีที่แล้วระบุว่าคนงานวอลมาร์ทมีพนักงานชั่วคราวอยู่ครึ่งหนึ่ง และคนงาน 600,000 คนในสาขาต่างๆ ถูกจ้างแบบไม่เต็มเวลา นอกจากนี้คนงานวอลมาร์ทยังบอกอีกว่าพวกเขาถูกเพ่งเล็งหรือแม้กระทั่งสั่งเลิกจ้างอย่างผิดกฎหมายจากการที่พวกเขาเป็นผู้จัดตั้งเพื่อนคนงาน นอกจากนี้คนงานวอลมาร์ทยังวางแผนจัดประท้วงช่วงวันแบล็กฟรายเดย์ (วันที่ห้างต่างๆ ในสหรัฐฯ จะจัดลดราคาสินค้าถูกมากจนคนแห่กันไปจับจ่ายซื้อหาสินค้าจำนวนมาก) ครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งทางกลุ่ม OUR Walmart ร่วมกับสหภาพแรงงานอาหารและพาณิชยการเคยจัดการประท้วงในช่วงเวลาเดียวกันนี้ 2 ปีมาแล้ว เพื่อเป็นการสร้างความสนใจทั้งจากการปฏิบัติของบริษัทต่อลูกจ้างตลอดทั้งปีรวมถึงในช่วงเฉพาะเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าที่บริษัทเรียกตัวคนงานเพิ่มเพื่อใช้งานในวันแบล็กฟรายเดย์ โดยเมื่อปีที่แล้วมีการประท้วงของห้างค้าปลีกมากกว่า 1,500 แห่ง ซึ่งในปีนี้ผู้จัดหวังว่าจะมีการประท้วงเพิ่มขึ้นอีก 100 แห่ง ในช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาทางวอลมาร์ทประกาศว่าจะเปิดห้างค้าปลีกในสาขาต่างๆ ตลอดช่วงเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าและขอให้คนงานมากกว่า 1 ล้านคนทำงานในช่วงวันหยุด ทางด้านการประท้วงของวอลมาร์ทจะมีสมาชิกชุมชนและสหภาพแรงงานสายอื่นๆ เข้าร่วมด้วยเช่นกลุ่มสมาพันธ์ครูอเมริกัน ซึ่งบอกว่าต้องการประท้วงแทนเด็กที่มาโรงเรียนโดยที่ยังหิวโหย ประธานของสมาพันธ์กล่าวว่านี่จะเป็น "การเคลื่อนไหวของครอบครัวแรงงานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคสมัยนี้" วอลมาร์ทเป็นบรรษัทที่มีการจ้างงานมากที่สุดในสหรัฐฯ โดยมีลูกจ้าง 1.4 ล้านคนทั่วประเทศ นับเป็นร้อยละ 1 ของประชากรสหรัฐฯ ดั๊ก แมคมิลลัน ประธานบริหารของวอลมาร์ทตอบสนองต่อแรงกดดันด้วยการบอกว่าจะเลื่อนขั้นพนักงาน 6,000 คนทั่วประเทศที่ยังคงมีค่าแรงขั้นต่ำ 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 230 บาท) ในขณะที่ค่าแรงโดยเฉลี่ยของคนงานวอลมาร์ทยังอยู่ที่ 8.81 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 280 บาท) แม้ทางบรรษัทจะอ้างว่าค่าแรงเฉลี่ยจริงๆ อยู่ที่ 11.83 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 380 บาท) แต่ไม่ว่าค่าแรงเฉลี่ยจะเท่าใดก็ตาม สิ่งที่แน่ชัดคือความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากในวอลมาร์ทและในระบบเศรษฐกิจโดยรวม จากงานวิจัยของสถาบันนโยบายเศรษฐกิจระบุว่ามรดกของครอบครัววอลตัน (เจ้าของวอลมาร์ท) มีมูลค่าเทียบเป็นต่อปีมากกว่ารายได้ของครอบครัวคนผิวสีร้อยละ 79 ครอบครัวรวมกัน เคียนนา โฮเวิร์ด คนงานวอลมาร์ทกล่าวผ่านถ้อยแถลงต่อสื่อว่า "พวกเรารู้ว่าวอลมาร์ทและครอบครัววอลตันสามารถจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรมได้ พวกเรารู้ว่าพวกเรามีสิทธิ์ที่จะพูดถึงเรื่องนี้โดยไม่ต้องมีบรรษัทคอยข่มขู่คุกคามสิ่งที่พวกเรามีอยู่น้อยนิด" กลุ่มแรงงานค้าปลีก แรงงานอาหารฟาสต์ฟู้ด กลายเป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1930 แม้แต่ในช่วงแบล็กฟรายเดย์ การประท้วงวอลมาร์ทจึงเป็นหนทางในการทำให้ชีวิตคนงานจำนวนมากดีขึ้นและกลายเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการจัดตั้งคนในที่ทำงานค่าแรงต่ำผู้ที่เป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจในยุคนี้ทำให้ต้องพึ่งพาพวกเขามากขึ้น
เรียบเรียงจาก Walmart workers strike as they gear up for largest Black Friday protest yet, Waging Nonviolence, 19-11-2014 http://wagingnonviolence.org/2014/11/walmart-workers-strike-black-friday-protest/ |