Thai / English

เศรษฐศาสตร์จุฬาฯเที่ยวพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ชีวิตแรงงาน



15 .. 57
http://voicelabour.org

นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวน 150 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่มออกไปศึกษานอกสถานที่ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เมื่อวันที่ 9, 11 และ 12 กันยายน 2557 โดยมีศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ผู้สอน และนาย วิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ ร่วมเป็นผู้บรรยายและนำชม

ศาสตราภิชาน แล กล่าวว่า ธรรมดาวิชาเศรษฐศาสตร์ก็เหมือนกับวิชาทางด้านสังคมหลายๆเรื่องที่ ระยะหลังใช้เรื่องของตัวเลข เรื่องของการคำนวณนับเข้ามาเป็นตัวประเมินความเป็นจริง เวลาสอนกันอยู่แต่ในห้องก็จะได้ข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องของนามธรรมมาก เวลาเราพูดถึงเรื่องของขบวนการของคนที่พยายามต่อสู้เพื่อยกฐานะคนส่วนซึ่งยากจนขึ้นมา จึงพูดให้เห็นจากตัวเลขได้ยาก การที่พามาเห็นหน้าตาคน เห็นเครื่องมือที่คนใช้ทำมาหากิน เห็นโปสเตอร์การประท้วง เห็นข้อความที่ได้ใช้เรียกร้องอะไรต่างๆ ทำให้ภาพที่เคยนำเสนอในรูปของตัวเลขในรูปของคำพูดติดตามากขึ้น ที่ผ่านมาสอนให้นิสิตฟังมามาก ซึ่งการเรียนจากการฟังอย่างเดียวไม่พอ ควรจะเรียนจากการเห็นและเรียนจากการสัมผัสได้ หรือเรียนจากตัวบุคคลที่เป็นจริง ก็จะทำให้การรับรู้ครบวงจร ทำให้การรับรู้นั้นรอบด้าน

” ผมก็คิดว่าเรื่องของแรงงานก็จะเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าในทางเศรษฐศาสตร์เผอิญผมสอนวิชาเศรษฐกิจไทย เวลาพูดถึงเศรษฐกิจไทย มันจะต้องพูดถึงเศรษฐกิจคนไทย และคนไทยส่วนมากเป็นคนที่ขายแรงงานกิน ออกแรงทำกิน เพราะฉะนั้นคนไทยส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ใช้แรงงาน เวลาพูดถึงความเจริญของประเทศ พูดถึงปัญหาของประเทศ เราจะตัดคนออกไปไม่ได้ เพราะว่าคนพวกนี้เป็นตัวแทนของประเทศชาติจริงๆ ผมถึงคิดว่าเวลาจะสนใจเรื่องเศรษฐกิจของประเทศชาติ มันต้องสนใจถึงปากท้องของคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนทำงาน ก็เลยจะเน้นตรงจุดนี้ และให้มาที่นี่ ”

นาย เพชรภูมิ ตั้งปณิธานนท์ นิสิตปี 3 คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า มาศึกษานอกสถานที่ได้ความรู้มากกว่าที่เรียนในห้องเรียน ซึ่งอาจไม่เข้าใจที่อาจารย์สอนมากเท่ากับมาข้างนอกที่ได้เห็นภาพ ได้เห็นอุปกรณ์จริงๆว่าทำงานกันอย่างไร ทำให้เข้าใจมากกว่าในห้องเรียน

ขณะที่ น.ส.อารดา สุวรรณไพรพัฒนะ นิสิตชั้นเดียวกันกล่าวว่า มาพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มีอาจารย์และเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ช่วยอธิบายถึงต้นกำเนิดของแรงงานไทยจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมื่อได้มาที่นี่ก็ทำให้คิดไปถึงว่าในอนาคตจะต้องมีการพัฒนาอย่างไรเพื่อให้แรงงานไทยมีความสามารถมากขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติพัฒนาได้จริงในอนาคต

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน