คนงานซับอ้อมน้อยร้องศูนย์ดำรงธรรมถูกละเมิดสิทธิ09 .. 57 http://voicelabour.org เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2557 นายวีระยุทธ ระเกต เลขาธิการสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ได้เข้าร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กรณีคนงานของบริษัทซับคอนแทร็คหลายแห่งที่ทำงานอยู่ในบริษัทโตโยด้าโกเซรับเบอร์ ย่านอ้อมน้อย จ.สมุทรสาคร ผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยางของรถยนต์ ถูกเลิกจ้างและถูกละเมิดสิทธิ เพื่อขอให้ คสรท.ช่วยแก้ไขปัญหาให้คนงาน นายวีระยุทธเล่าว่า ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทซับฯ 4 แห่งในโรงงานแจ้งให้คนงานหยุดทำงานโดยอ้างว่าบริษัทโตโยด้ามีการลดจำนวนคนงาน แต่มีบริษัทซับฯบางแห่งชักชวนคนงานไปทำงานโรงงานใหม่แต่ต้องเริ่มค่าจ้างขั้นต่ำและสวัสดิการใหม่ จากที่เคยได้ค่าจ้างวันละ 316 บาท ได้สวัสดิการ 30%ของคนงานประจำเช่น ค่ากะ ค่าอาหาร ค่าครองชีพ และโบนัส ทั้งยังมีกรณีการย้ายเครื่องจักรและคนงานซับฯ 12 คนไปทำงานเพื่อฝึกคนงานใหม่ที่โรงงานอีกแห่งหนึ่ง ต่อมาก็ย้ายคนงานซับฯ 12 คนกลับมาทำงานที่บริษัทโตโยด้าแต่ก็ต้องไปซ้อนทับหน้าที่กับคนงานอื่นทำให้บางส่วนต้องถูกส่งคืนซับฯหรือเลิกจ้าง คนงานกว่า 120 คนได้ทยอยกันไปร้องกับสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อขอให้บริษัทโตโยด้าฯรับผิดชอบ ทั้งกรณีถูกเลิกจ้างไม่ได้รับค่าชดเชยและกรณีได้รับสิทธิที่ไม่เท่าเทียม รวมทั้งได้ไปร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาทมาไกล่เกลี่ย และมีข้อตกลงกับทางบริษัทว่า ภายใน 4 ปีจะมีการปรับเพิ่มสวัสดิการ และถ้ามีการส่งคืนคนงานต่อบริษัทซับฯจะจ่ายค่าชดเชย ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ก.ย.มีคำสั่งจากเจ้าพนักงานตรวจแรงงานว่าคนงานซับฯที่ถูกเลิกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสิทธิอื่นๆที่เรียกร้องจากบริษัทโตโยด้า และเมื่อวันที่ 6 ก.ย.บริษัทยังมีการเรียกประชุมทุกบริษัทซับฯเพื่อให้คนงานถอนคำร้อง มิเช่นนั้นจะยกเลิกข้อตกลงการเพิ่มสวัสดิการและจ่ายค่าชดเชย คนงานซับฯคนหนึ่งกล่าวว่าลำบากมาก หลายคนไม่มีรายได้มานาน อายุก็มาก ที่ได้งานก็รายได้ลดลง ส่วนคนที่ยังทำงานอยู่ก็รู้สึกไม่มั่นคง จึงอยากขอให้รัฐบาลใหม่ช่วยแก้ปัญหาของคนงานซับคอนแทร็คที่ได้ค่าจ้างและสวัสดิการต่ำกว่าคนงานประจำทั้งที่ทำงานเหมือนกันทุกอย่าง ทั้งนี้ทาง คสรท.ได้รับเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายดูแลต่อไป ส่วน สร.ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ได้ส่งเรื่องให้ทางสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยช่วยแก้ปัญหาให้อีกทางหนึ่ง นักสื่อสารแรงงาน รายงาน |