Thai / English

ผู้นำแรงงานร้องรัฐ สร้างระบบป้องกันเหตุซ้ำซาก ปลัดกระทรวงแรงงานยันดูแลกรณีตึกถล่มเท่าเทียมกัน



15 .. 57
http://voicelabour.org

ปลัดกระทรวงแรงงาน ยืนยันให้การดูแลแรงงานจากเหตุตึกถล่มที่จังหวัดปทุมธานีอย่างเต็มที่ พร้อมสั่งการณ์หน่วยงานในสังกัด ไปตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่แล้ว /ฝ่ายตัวแทนผู้นำแรงงานย้ำเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลแรงงาน ร้องต้องสร้างระบบป้องเหตุสูญเสียซ้ำซาก เตือนอย่าโยนบาปให้คนเสียชีวิตผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 นายธนกรณ์ พวยไพบูลย์ ฝ่ายความปลอดภัยกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียงกล่าวต่อประเด็นอาคารคอนโด 6 ชั้นถล่มว่า เนื่องจากทำงานอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่เกิดเหตุ ได้พยายามเข้าไปในพื้นที่ เพราะอยากให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิแรงงาน ในนามกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ เห็นสภาพปัญหาตั้งแต่แรกมีความโกลาหลมาก มีทั้งญาติพี่น้อง และประชาชน สื่อมวลชน และผู้ที่ต้องการเข้ามาช่วยเหลือจำนวนมากจากราชการฝ่ายต่างๆ ที่มุ่งช่วยให้คนที่ติดอยู่รอดชีวิต แต่เมื่อวานช่วงเย็นวันที่ 12 ส.ค.มีการประกาศยุติการค้นหาซึ่งเป็นการไม่คาดคิดส่งผลให้ญาติที่รอคอยด้วยความหวังว่าคนที่เขารักจะได้รับความช่วยเหลือออกมาจากซากตึกนั้น ซึ่งในวันที่ 13 ส.ค.มีการค้นหาทั้งคืนและพบว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วรวม 10 ราย

จากการที่ได้พูดคุยกับญาติของคนงาน หรือตัวคนงานทั้งคนไทย และข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบ คือไม่เข้าใจเรื่องสิทธิที่ควรได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายเลย อาจเป็นไปได้ว่าเขายังใส่ใจที่จะรอคนที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารว่าจะปลอดภัยหรือไม่

“การที่กระทรวงแรงงานได้มีการแถลงเรื่องสิทธิที่คนงานควรได้รับจากกองทุนเงินทดแทน จากสำนักงานประกันสังคม และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ว่าจะเป็นใครสัญชาติใดมีสิทธิและความเท่าเทียมกันอันนี้ในฐานะของผู้นำแรงงานก็ขอบคุณ แต่นี่เป็นประเด็นสิทธิที่แก้ปัญหาปลายเหตุเท่านั้น ต่อไปอยากเสนอให้ทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ ไม่ว่าเงินทดแทนจะได้เท่าไรหากเทียบกับความรู้สึกของผู้สูญเสียคิดว่าเขาคงอยากได้คนของเขากลับมาทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว พ่อ ลูก ที่ทำงานเห็นหน้ากันมากกว่าเห็นความพิการ บาดเจ็บล้มตายจากไปเช่นนี้ ซึ่งรับต้องแก้ปัญหามีการตรวจสอบ สร้างระบบเข้ามาดูแลให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน” นายธนกรณ์กล่าว

นายธนกรณ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นการจ้างงานก็พบว่ามีปัญหาเรื่องการจ้างงานแบบรับเหมาช่วงการทำงานเป็นทอดๆหลายช่วงมีการซอยการจ้างงานทำให้ปัญหาเรื่องสิทธิของคนงานว่าเป็นนายจ้างผู้รับเหมาหรือว่าเป็นคนงาน อันนี้คงต้องดูกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา11/1ที่ให้นายจ้างตัวจริงที่เป็นผู้ว่าจ้างต้นทางมารับผิดชอบ ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบว่า มีการจับผู้รับเหมารายหนึ่งถูกขังไว้ ด้วยว่าเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ อันนี้ก็ต้องมีพิสูจน์กันเพื่อหาคนว่าจ้างตัวจริงได้ ขณะนี้มีการโยนผิดให้กันไปมา เช่นเป็นวันหยุดคนงานทำงานโดยไม่มีการมอบหมาย เช่นกรณีเทปูนส่งผลให้เกิดการถล่มของอาคาร รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมเพราะคนที่เสียชีวิตคงพูดไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีคนงานคนไหนทำงานแบบไม่มีคนสั่งการ หรือไม่ได้รับคำสั่งแน่ กรุณาอย่าโยนบาปให้คนงานและผู้รับเหมาขนาดเล็ก เพราะอย่างไรก็ตามในฐานะผู้ว่าจ้างก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้วตามกฎหมาย

ด้านกระทรวงแรงงานได้แถลงเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2557 โดย นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ว่า ความคืบหน้ากรณีเหตุอาคารกำลังก่อสร้างเป็นที่พักอาศัย ชื่อ ยูเพลส คอนโด สูง 6 ชั้นในจ.ปทุมธานีถล่ม พบว่า ได้รับรายงานว่าขณะเกิดเหตุมีแรงงานทำงานอยู่ 33 คน โดยมีแรงงานไทยและเด็กเสียชีวิต ส่วนแรงงานที่ได้รับบาดเจ็บมี 25 คนโดยในจำนวนนี้บาดเจ็บเล็กน้อย ไม่ต้องส่งโรงพยาบาล (รพ.) 5 คน และต้องส่งไปรักษาที่รพ.20 คน ขณะนี้ยังมีแรงงานที่พักรักษาอยู่รพ. 6 คนได้แก่ รพ.คลองหลวง 1 คน รพ.ธรรมศาสตร์ 1 คน รพ.ปทุมธานี 3 คนและรพ.วิภาราม 1 คน นอกจากนี้ ยังมีแรงงานที่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร 5 คนโดยเมื่อค่ำวันที่ 12ส.ค.ที่ผ่านมาได้มีการช่วยเหลือแรงงานออกมาได้ 1 คนคือ นายกล้าณรงค์ ปราบภัย ส่วนความช่วยเหลือแรงงานที่ประสบเหตุนั้นแรงงานจะได้รับสิทธิกองทุนเงินทดแทน เนื่องจากบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงาน หากเป็นแรงงานไทยและต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้ในระบบประกันสังคมจะใช้เงินกองทุนเงินทดแทนช่วยเหลือได้ทันที โดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แรงงานที่บาดเจ็บตามที่จริงไท้เกินคนละ 3 แสนบาท ส่วนกรณีเสียชีวิตจ่ายค่าทำศพ 3 หมื่นบาทและได้รับเงินสงเคราะห์โดยทายาทได้รับเงินชดเชยร้อยละ 60 ของค่าจ้างงวดสุดท้ายเป็นเวลา 8 ปี และเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีหยุดงานเพื่อพักรักษาตัว

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า กรณีแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับระบบประกันสังคมตนได้ให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.)ไปดำเนินการออกคำสั่งให้บริษัทที่เป็นนายจ้างต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆเช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ เงินทดแทนการขาดรายได้ตามสิทธิที่ได้รับจากกองทุนเงินทดแทน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆของกระทรวงแรงงานไปตั้งศูนย์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ประสบเหตุแล้ว ส่วนกรณีแรงงานกัมพูชา 3 คน หายตัวไปนั้น ต้องรอการยืนยัน เพราะอาจยังติดอยู่ใต้ซากตึก พร้อมยืนยันให้การช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ เช่นเดียวกับแรงงานไทย

สำหรับแรงงานที่พักรักษาตัวอยู่ในรพ. 6 คนในรพ. 4 แห่งได้แก่ 1.รพ.คลองหลวง 1 คน นายสมัย นิวาท อาการเจ็บหลัง ถูกแผ่นปูนทับ 2.รพ.ปทุมธานี 3 คนได้แก่ น.ส.สุกัญญา โพธิ์ตะมี ตั้งครรภ์ 4 เดือน กระดูกสะโพกซ้ายแตก ไหปลาร้าขวาหัก ปอดถูกกระแทก ยังอยู่ในห้องไอซียู นายจันทร์ ชาวกัมพูชา กระดูกซี่โครงหัก มีเลือดออกจากปอดด้านขวามีภาวะช็อค กระดูกสันหลังแตก และนายกล้าณรงค์ ปราบภัย กระดูกไหปลาร้าขวาหัก กระดูกสะโพกซ้ายแตก ยังอยู่ในห้องไอซียู 3.รพ.ธรรมศาสตร์ 1 คน นายสุวัฒน์ ชมพูจันทร์ อาการกระดูกแขนขวาหัก เส้นเลือดแดงใหญ่แขนขวาขาด ขาขวาหัก บาดเจ็บตาขวายังอยู่ห้องไอซียู ซึ่งขณะนี้รพ.ธรรมศาสตร์ต้องการรับบริจาคเลือดกรุ๊ป O Rh-Negative จำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือแรงงานคนดังกล่าวและ4.รพ.วิภาราม 1 คน นายเฉลียว ไม่ทราบนามสกุล อาการกระดูกหัวไหล่เคลื่อน ข้อต่อข้อเท่าเคลื่อน มีแผลถลอกตามตัว

หมายเหตุ : พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537

หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 7 – 12

มาตรา 10 ในกรณีที่นายจ้างซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงไม่จ่ายเงินทดแทน เงินสมทบ หรือเงินเพิ่ม ให้ผู้รับเหมาช่วงในลำดับถัดขึ้นไปหากมีตลอดสาย จนถึงผู้รับเหมาะชั้นต้นมิใช่นายจ้างร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วง ซึ่งเป็นนาย จ้างในการจ่ายเงินทดแทน เงินสมทบ หรือเงินเพิ่มเติม

ให้ผู้รับเหมาชั้นต้นหรือผู้รับเหมาช่วงซึ่งมิใช่นายจ้างที่ได้จ่ายเงินทดแทน เงินสมทบ หรือเงินเพิ่ม มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่นายจ้างและบรรดาผู้รับเหมา ช่วงอื่นหากมีตลอดสายในเงินทดแทน เงินสมทบหรือเงินเพิ่ม ที่ได้จ่ายให้แก่ ลูกจ้างหรือสำนักงาน

มาตรา 11 ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรงโดย มอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบ ใน การจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่งก็ดี หรือมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็น ผู้จัดหาลูกจ้างมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางานก็ดีโดยการทำงาน นั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิด ชอบของผู้ประกอบกิจการ ถ้าผู้รับเหมาะค่าแรงดังกล่าว ไม่จ่ายเงินทดแทน เงินสมทบหรือเงินเพิ่ม แก่ลูกจ้าง หรือสำนักงาน

ให้ผู้ประกอบกิจการหรือผู้ รับเหมาค่าแรง ซึ่งมิใช่นายจ้างร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาค่าแรงซึ่งเป็นนายจ้าง ในการจ่ายเงินทดแทน เงินสมทบ หรือเงินเพิ่ม เสมือนหนึ่งเป็นนายจ้าง ให้ผู้ประกอบกิจการ หรือผู้รับเหมาค่าแรงซึ่งมิใช่นายจ้างที่ได้จ่ายเงิน ทดแทน เงินสมทบ หรือเงินเพิ่ม มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่นายจ้างและบรรดาผู้ รับเหมาค่าแรงอื่นหากมีตลอดสายในเงินทดแทน เงินสมทบ หรือเงินเพิ่มที่ได้ จ่ายให้แก่ลูกจ้างหรือสำนักงาน

หมวด 2 เงินทดแทนมาตรา 13-25

มาตรา 13 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจัดให้ ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตราย หรือความ เจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความ จำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามวรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้า เมื่อฝ่าย ลูกจ้างแจ้งให้นายจ้างทราบ

มาตรา 14 ให้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกำหนด ชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน

มาตรา 15 กรณีที่ลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำ งานภายหลังการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟู สมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้างตามความจำเป็นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 16 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจำนวนหนึ่ง ร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมาย ว่าด้วยการ คุ้มครองแรงงาน

มาตรา 17 ในกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความ ตายโดยไม่มีผู้จัดการศพ ให้นายจ้างจัดการศพของลูกจ้างไปพลางก่อนจนกว่า ผู้มีสิทธิตาม มาตรา 20 จะมาขอเป็นผู้จัดการศพ แต่นายจ้างจะใช้ค่าทำศพ เกินหนึ่งในสามค่าทำศพตาม มาตรา 16 ไม่ได้ ถ้าลูกจ้างถึงแก่ความตายครบ เจ็ดสิบสองชั่วโมง แล้วยังไม่มีผู้มีสิทธิตาม มาตรา 20 มาขอเป็นผู้จัดการศพ ให้นายจ้างจัดการศพนั้นตามประเพณีทางศาสนาของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตาย หรือตามประเพณีแห่งท้องถิ่นโดยคำนึงถึงฐานะทางสังคมของลูกจ้าง ในการนี้ ให้นายจ้างใช้ค่าทำศพส่วนที่เหลือได้

มาตรา 18 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหายให้นาย จ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตาม มาตรา 20 แล้ว แต่กรณี ดังต่อไปนี้

(1) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถ ทำงานติดต่อกันได้เกินสามวันไม่ว่าลูกจ้างจะสูญเสียอวัยวะตาม (2) ด้วย หรือไม่ก็ตาม โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอด ระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี

(2) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างต้องสูญเสีย อวัยวะบางส่วนของร่างกาย โดยจ่ายตามประเภทของการสูญเสียอวัยวะและ ตามระยะเวลาที่ต้องจ่ายให้ตามที่กระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคม ประกาศกำหนด แต่ต้องไม่เกินสิบปี

(3) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างทุพพลภาพ โดยจ่ายตามประเภทของการทุพพลภาพ และตามระยะเวลาที่จะต้องจ่ายตาม ที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกำหนด แต่ต้องไม่สิบเกินห้าปี

(4) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความ ตายหรือสูญหายมีกำหนดแปดปี

การประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยซึ่งเป็นเหตุให้สูญเสียอวัยวะของ ร่างกายหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะไปเพียงบางส่วน ใน การคิดค่าทดแทน ให้เทียบอัตราส่วนร้อยละจากจำนวนระยะเวลาที่กำหนดไว้ สำหรับการสูญเสียอวัยวะ หรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะ ประเภทนั้น ๆ ตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณค่าจ้างรายเดือนให้เป็นไปตามที่กระทรวง แรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกำหนดค่าทดแทนตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสองต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนราย เดือนต่ำสุด และไม่มากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคมประกาศกำหนด

มาตรา 19 ในกรณีที่นายจ้างจ่ายค่าทดแทนตาม มาตรา 18 (2) หรือ (3) และต่อมาลูกจ้างได้ถึงแก่ความตายในขณะที่ยังรับค่าทดแทนไม่ครบระยะ เวลาตามสิทธิดังกล่าว ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิตาม มาตรา 20 ต่อไป จนครบกำหนดระยะเวลาตามสิทธิ แต่ทั้งนี้ ระยะเวลาการจ่ายค่า ทดแทนรวมกันต้องไม่เกินแปดปี

มาตรา 20 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(1) บิดามารดา

(2) สามีหรือภรรยา

(3) บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปีและยัง ศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรีให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลา ที่ศึกษาอยู่

(4) บุตรมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีและทุพพลภาพ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สม ประกอบซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้บุตรของลูกจ้าง ซึ่งเกิดภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ ความตายหรือวันที่เกิดเหตุสูญหายมีสิทธิได้รับเงินทดแทนนับแต่วันคลอด

ในกรณีที่ไม่มีผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนแก่ผู้ซึ่ง อยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย แต่ผู้ที่อยู่ใน อุปการะดังกล่าว จะต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้าง ที่ตายหรือสูญหาย

มาตรา 21 ให้ผู้มีสิทธิตาม มาตรา 20 ได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทน เท่ากัน ในกรณีที่สิทธิได้รับเงินทดแทนสิ้นสุดเพราะผู้มีสิทธิตาม มาตรา 20 ผู้หนึ่ง ผู้ใดถึงแก่ความตาย หรือสามีหรือภรรยาสมรสใหม่หรือมิได้สมรสใหม่ แต่มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นได้ว่า อยู่กินฉันสามีหรือภรรยากับหญิงหรือชายอื่น หรือบุตรไม่มีลักษณะตาม มาตรา 20(3) หรือ (4) อีกต่อไป ให้นำส่วนแบ่ง ของผู้หมดสิทธิเพราะเหตุหนึ่งเหตุใดดังกล่าวไปเฉลี่ยให้แก่ผู้มีสิทธิอื่นต่อไป

(อ่านต่อที่: http://www.kodmhai.com/m4/m4-3/H6/H-6.html)

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน (ขอบคุณนักข่าวกระทรวงแรงงานให้ข้อมูล)