Thai / English

เครือข่ายT-BANจี้หยุดซื้อเวลา เร่งคสช.ตัดสินใจ



07 .. 57
http://voicelabour.org

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยันให้เลิกใช้แร่ใยหิน นักวิชาการชี้ทั่วโลกสนับสนุนไทย อุตสาหกรรมขออีกห้าปี ทีแบนด์จี้เลิกซื้อเวลาให้ธุรกิจ เร่งคสช. ตัดสินใจ พร้อมให้ข้อมูล

วันอาทิตย์ที่ 3 ส.ค.57ที่ผ่านมา ที่ เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่าย T-BAN จัดประชุมความพร้อมในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน และข้อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดี กรม ควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่า ได้ส่งผลสรุปจาก สธ.ให้ กระทรวงอุตสาหกรรม แล้ว สนันสนุนให้ยกเลิกทันที ปลัดกระทรวงฯ นพ ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เพิ่งเซ็นส่งออกไปเมื่อ 2 วันก่อน ทั้งนี้ผลการประชุมคณะกรรมการศึกษาผลกระทบสุขภาพจากใยหิน ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ. ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2557 ให้ยืนยันยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกผลิตภัณฑ์ ตามมติ ครม. 12 เม.ย. 2554 โดยถือเป็นบทบาทหน้าที่ของกระทรวงฯ ที่ต้องรับผิดชอบประชาชน ให้มาตรการเป็นไปแนวทางเดียวกับองค์การอนามัยโลกที่สรุปว่าทางเดียวที่จะขจัดโรคที่มาจากใยหินได้ คือ การยกเลิกการใช้ทุกชนิด โดยขอให้ สำนักควบคุมวัตถุอันตรายของกรมโรงงาน กระทรวงอุสาหกรรม พิจารณาใยหินเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และ ให้ปรับค่ามาตรฐานของฝุ่นใยหินในที่ทำงานให้เหลือ 0.1 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลบ. ซม. จากปัจจุบันที่สูงถึง 5 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลบ. ซม. สนับสนุนเทคโนโลยีการใช้วัสดุหรือสารทดแทน มาตรการป้องกันการรับสัมผัส ปรับปรุงระบบวินิจฉัย และ ต้องกองทุนผู้ได้รับผลกระทบจากใยหิน

ส่วนผู้แทนอุตสาหกรรม คงยืนยัน ยืดเวลา 5 ปี โดยไม่มีกำหนดว่าจะเริ่มเมื่อใด

นางสมบุญ สีคำดอกแค เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) กล่าวว่า ตนขอชื่นชมที่กระทรวง สธ. ทำหน้าที่ในการปกป้องสุขภาพคนไทยให้พ้นจากอันตรายจากพิษภัยของแร่ใยหินแตกต่างสิ้นเชิง จาก กระทรวงอุตสาหกรรมที่จะยืดอีกห้าปีโดยไม่รู้จะเริ่มเมื่อใด กระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการยกเลิกใยหินโดยด่วน ทั้งนี้ ตามที่เครือข่ายได้ไปยื่นเรื่องต่อ คสช. นั้น ทาง คสช. แจ้งว่า ได้ส่งเรื่องที่เครือข่ายฯไปติดตามให้ดำเนินการเรื่องนี้ไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว เครือข่ายทีแบนพร้อมจะไปติดตามเรื่องนี้อีกครั้งที่กระทรวงอุตสาหกรรมในวันที่ 16 สิงหาคม เพราะให้เวลากระทรวงอุตสาหกรรมมานานแล้ว ขอให้อุตสาหกรรมเลิกซื้อเวลาให้ธุรกิจใยหินทำร้ายคนไทยอีกต่อไป

แร่ใยหิน

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าองค์การอนามัยโลกและองค์การแรงงานระหว่างประเทศรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญมากมายไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายนักวิชาการโลกคอลลีเจียมรามาสสินิ ธนาคารโลก คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านอาชีวอนามัย สมาคมระบาดวิทยา สหภาพเพื่อการควบคุมมะเร็งระหว่าง องค์การเดินเรือทางทะเลระหว่างประเทศ สมาคมหลักประกันทางสังคมระหว่างประเทศ และอื่นๆ ได้แนะนำให้ยกเลิกการใช้ใยหินทุกประเภท เนื่องจาก เป็นสารก่อมะเร็ง ประเทศไทยมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2554 ให้ยกเลิกการนำเข้า การใช้ใยหินทุกชนิด จนถึงปัจจุบันยังไม่เกิดผลตามมติ ครม. ดังกล่าว ชื่นชมกระทรวงสาธารณสุขที่เอาสุขภาพเป็นตัวตั้งให้เลิกใยหินทันที แตกต่างจากกระทรวงอุตสาหกรรม สังคมจึงต้องร่วมกันติดตามว่าทำไมอุตสาหดรรมถึงล่าช้าและขอเวลาอีกห้าปี เครือข่ายนักวิชาการฯพร้อมให้ข้อมูลต่อ คสช.หากต้องการ และ เห็นว่าขณะนี้ประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังจับตามองประเทศไทยว่า เหตุใดมี มติ ครม. แล้วแต่ยังยื้อเรื่องอยู่ ทั้งนี้จะมีการประชุมเครือข่ายนักวิชาการนานาชาติเพื่อสนับสนุนการยกเลิกใยหินในประเทศไทยในเดือน พย. ปีนี้ทีประเทศไทย

ติดต่อ นางสมบุญ สีคำดอกแค เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN)

081-813-2898

อนึ่ง ข้อมูลเพิ่มเติม : เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

“แอสเบสตอส” หรือ “แร่ใยหิน”อยู่ข้าง ๆ ตัวคุณอย่างคาดไม่ถึง ในรูปแบบของกระเบื้อง ฝ้าเพดาน ฯลฯ ที่คุณต้องใช้ชีวิตอยู่กับมันทุกวันเลยนั่นเอง

“แร่ใยหิน” หรือ “แอสเบสทอส” (Asbestos) เป็นแร่ธรรมชาติที่ปนอยู่ในเนื้อหิน ประกอบด้วยธาตุเหล็ก แมกนีเซียม ซิลิเกต และธาตุอื่น ๆ มีลักษณะเป็นเส้นใยละเอียด แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1.แอมฟิโบล ซึ่งแบ่งย่อยออกได้อีก 5 ชนิด คือ ครอซิโดไลท์, อะโมไซท์, ทรีโมไบท์, แอนโธฟิลไลท์ และแอคทิโนไลท์

2. เซอร์เพนไทน์ แบ่งออกได้อีก 2 ชนิด คือ ไครโซไทล์ และไวท์ แอสเบสทอส

คุณสมบัติเด่นของ “แร่ใยหิน” ก็คือ ทนไฟ ทนความร้อนตั้งแต่ 700-1,000 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไม่นำความร้อนและไฟฟ้า ทนกรด ด่าง การทำลายของแมลง มีความแข็งเหนียว และยืดหยุ่น สามารถนำมาปั่นเป็นเส้นและทอเป็นผืนได้

ด้วยคุณสมบัติข้างต้น ทำให้คนนิยมนำ “แร่ใยหิน” มาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้าง (กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ ฝ้าเพดาน) ,อุตสาหกรรมการผลิตท่อน้ำซีเมนต์ ,กระเบื้องยางไวนิลปูพื้น ,ผ้าเบรก, ผ้าคลัตซ์, ฉนวนกันความร้อน ,อุตสาหกรรมกระดาษอัด และอุตสาหกรรมสิ่งทอ (เสื้อผจญเพลิง) เป็นต้น

แร่ใยหิน อันตรายอย่างไร?

แม้ว่า “แร่ใยหิน” จะมีคุณสมบัติทำให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ดีขึ้น แต่ก็มีข้อเสียสำคัญ คือ “เส้นใยแอสเบสตอส” จะส่งผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์หากสูดเอา “เส้นใยแอสเบสตอส” เข้าไปในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากแร่ใยหินจะไม่อันตราย หากผลิตภัณฑ์นั้นอยู่สภาพดี

แต่หากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นถูกทำให้แตกหัก ไม่ว่าจะถูกตัด ขัด เลื่อย ฯลฯ “เส้นใยแอสเบสตอส” จะถูกปล่อยออกมาลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ ซึ่งการฟุ้งกระจายของแร่ใยหินเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะสามารถกระจายอยู่ได้ทุกที่ หากเราสูดดมเข้าไปสะสมจนสะสมในปริมาณที่มากและเป็นเวลานาน 15-30 ปี ก็จะทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับปอด ต่อไปนี้ได้

1.โรคปอดอักเสบจากแอสเบสตอส (Asbestosis)

หรือที่เรียกว่า โรคแอสเบสโตสิส (Asbestosis) เกิดจากการหายใจรับเส้นใยแอสเบสตอสสะสมเข้าไปเป็นเวลานาน 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับระยะเวลา และปริมาณที่เข้าสู่ปอด จนทำให้ปอดแข็งเป็นพังผืด และเป็นแผล อาจลามไปที่กระบังลมและเยื่อบุช่องท้อง เมื่อปอดแข็งเป็นพังผืดจะทำให้เหนื่อยง่าย ไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หายใจลำบาก มีอาการเจ็บหน้าอกและตัวเขียว เนื่องจากขาดออกซิเจน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะไม่สามารถรักษาโรคแอสเบสโตสิสให้หายเป็นปกติได้ ทำได้แต่เพียงหลีกเลี่ยงไม่รับฝุ่นละอองแอสเบสตอสเพิ่ม เพื่อไม่ให้อาการของโรครุนแรงขึ้น

2.โรคมะเร็งปอด (Lung cancer)

ผู้ที่สัมผัสกับแอสเบสตอสมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้ ซึ่งเกิดจากเส้นใยแอสเบสตอส เข้าไปทำลายเซลล์ปอด และเกิดเป็นพังผืดอยู่เป็นเวลานานเป็น 10 ปี จนพัฒนาการเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด และหากใครสูบบุหรี่จะเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งปอดมากขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการไอ เจ็บหน้าอก มีเสมหะเป็นเลือด

3. โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด หรือ เมโสธีลิโอมา (Mesothelioma)

เป็นเนื้องอก หรือมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อหุ้มปอด และเยื่อบุช่องท้อง มักจะเกิดกับผู้ที่สัมผัสแอสเบสตอสชนิดครอซิโดไลท์ และอะโมไซท์ โดยมะเร็งชนิดนี้อาจลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ เช่น กระเพาะอาหาร คอหอย และรังไข่ได้ด้วย โดยผู้ที่ป่วยเป็นเมโสธีลิโอมาบริเวณเยื่อหุ้มปอด จะมีอาการหายใจติดขัด เจ็บหน้าอก หากเป็นบริเวณเยื่อบุช่องท้อง จะมีอาการปวดท้อง โรคนี้ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ภายใน 1-2 ปี

ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากแร่ใยหินมากที่สุด ก็คือ กลุ่มคนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและโรงงานที่มีการใช้แร่ใยหิน รวมถึงผู้ที่ทำงานก่อสร้างและรื้ออาคาร ซึ่งมีโอกาสที่จะสูดดมฝุ่นละอองของแร่ใยหินที่ฟุ้งกระจาย หากไม่มีการป้องกันที่ดี โดยมีรายงานว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยอย่างน้อย 90,000 คนทั่วโลกที่เสียชีวิตจากโรคปอดที่มีสาเหตุมาจากแร่ใยหิน และยังมีผู้ป่วยอีกหลายพันคนที่ไม่ได้สัมผัสแร่ใยหินโดยตรง แต่กลับป่วยด้วยโรคปอดที่มีสาเหตุมาจากแร่ใยหิน

ประเทศไทยกับอุตสาหกรรมแร่ใยหิน

ความน่ากลัวของ “เส้นใยแอสเบสตอส” ทำให้หลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ประกาศห้ามนำเข้า และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว ส่วนประเทศไทยเอง ยังมีการนำเข้าไครโซไทล์ และอะไมไซท์ เพื่อใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมอยู่ โดยจัดเป็นวัตถุอันตรายที่ 3 คือห้ามผลิต ส่งออก หากมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งและขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อน และต้องมีองค์กรของรัฐเข้ามาควบคุมดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมในการทำงาน

ส่วนแร่ใยหินชนิดครอซิโดไลท์ ถือเป็นแร่ใยหินที่อันตรายมาก ในประเทศไทยจัดแร่ใยหินชนิดครอซิโดไลท์ เป็นวัตถุอันตรายที่ 4 คือห้ามนำเข้า ห้ามผลิต ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเด็ดขาด

ขณะเดียวกัน ในประเทศไทยก็ได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินเป็นส่วนผสมของท่อซีเมนต์ ที่ใช้ส่งน้ำไปยังตามบ้านเรือนต่าง ๆ แล้ว โดยหันมาใช้ท่อพีวีซี หรือ พีบี แทน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายตามมา นอกจากนี้ยังมีการคิดค้นผลิตสาร PVA ขึ้นมาใช้ทดแทนแร่ใยหิน แต่ในประเทศไทยยังมีใช้น้อยอยู่ เนื่องจากราคาแพง และการสั่งนำเข้าต้องเสียภาษี ต่างจากแร่ใยหินที่ไม่ต้องเสียภาษี

หลีกเลี่ยงและป้องกัน “แร่ใยหิน” อย่างไรดี

แนวทางที่จะหลีกเลี่ยงและป้องกัน “แร่ใยหิน” ที่ดีที่สุดก็คือ การไม่ใช้แร่ใยหิน แต่ดูจะเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ เร่งผลักดันให้มีการติดป้ายฉลากบอกว่า สินค้าประเภทใดมีส่วนผสมของแร่ใยหิน เพื่อให้คนทั่วไปรู้ พร้อมกับให้ความรู้เรื่องอันตรายของแร่ใยหินกับประชาชนทั่วไปด้วย

สำหรับในโรงงานอุตสาหกรรม ควรจัดระบบระบายอากาศภายในโรงงานให้มีอากาศถ่ายเทที่ดี พนักงานใส่อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ และควรจัดให้มีการตรวจสุขภาพของคนงานทุกปี โดยเฉพาะให้มีการเอกซเรย์ปอด นอกจากนี้ ควรมีวิธีการป้องกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย หากมีการรื้อถอนอาคารในเขตเมือง เพราะจะทำให้ “เส้นใยแอสเบสตอส” ฟุ้งกระจายไปในอากาศ แล้วผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของคนทั่วไปได้