Thai / English

คสรท.ข้องใจบทบาทตำรวจกรณีพิพาทลูกจ้างนายจ้าง



28 .. 57
http://voicelabour.org

บุก..สตช. ขอเคลียร์ปัญหาตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องกับนายจ้าง..ก่อนลุยติดตามความคืบหน้าที่กระทรวงแรงงาน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 10.00 น .คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ได้นำคนงานกว่า 200 คน มาชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)เพื่อขอเข้าพบผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อขอให้มีการออกคำสั่งให้ชัดเจนในเรื่องบทบาทการเข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้างโดยขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจวางตัวให้เป็นกลางและให้ความเป็นธรรมกับคนงานโดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของนายจ้าง

เวลาประมาณ 11.00 น. พลตำรวจโทหม่อมหลวงพันธ์ศักดิ์ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผช.ผบ.ตร.)มาเป็นผู้รับหนังสือและร่วมปรึกษาหารือกับทางตัวแทน๑๕คนของคสรท.ซึ่งมีตัวแทนลูกจ้างเจ้าของปัญหารวมอยู่ด้วยทางด้านผช.ผบ.ตร.ได้รับฟังข้อเท็จจริงทั้งหมดและขอเวลาสองสัปดาห์ในการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ด้านนายยงยุทธ เม่นตะเภา เลขาธิการ คสรท.แจ้งว่าหากภายในสองสัปดาห์ยังไม่มีอะไรคืบหน้าจะเดินทางมาอีกครั้ง

DSCN1224

สำหรับกรณีปัญหาที่นำมาปรึกษาหารือมีดังนี้

1. กรณีมีผู้ที่แต่งการเครื่องแบบตำรวจถืออาวุธสงครามอยู่ภายในห้องที่ทางฝ่ายนายจ้างบังคับให้ลูกจ้างเขียนใบลาออก

2. กรณีมีผู้แอบอ้างเป็นที่ปรึกษาสตช.เข้าไปเป็นตัวแทนการเจรจาข้อเรียกร้องของฝ่ายนายจ้างและใช้อิทธิพลข่มขู่ลูกจ้าง

3. กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปหิ้วตัวแกนนำลูกจ้างให้ออกนอกบริษัทฯ

4. กรณีติดตามคดีที่มีผู้ไม่ประสงค์ดียิงปืนเข้าใส่ลูกจ้างที่ชุมนุมหน้าบริษัทฯจนทำให้รถของผู้ชุมนุมเสียหาย

จากนั้นเวลาประมาณ11.30 น. ผู้ร่วมชุมนุมทั้งหมดได้รวมตัวกันเคลื่อนย้ายกันไปที่กระทรวงแรงงานเพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้างที่ทาง คสรท.ได้มีการยื่นหนังสือไว้เมื่อวันที่11 เมษายน2557

DSCN1177

ต่อมาเวลาประมาณ14.30 น. ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานได้เปิดห้องประชุมสำนักงานแรงงานสัมพันธ์โดยเชิญตัวแทนลูกจ้างทั้ง15 คนเข้าร่วมปรึกษาหารือโดยมีนายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมาเป็นประธานในที่ประชุมพร้อมด้วยข้าราชการสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ 4 ท่านร่วมประชุมด้วย

เริ่มด้วยนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ได้รายงานสภาพปัญหาของทางฝ่ายลูกจ้างและตั้งคำถามถึงบทบาทและอำนาจที่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่มี จะช่วยยับยั้งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ และจะทำให้นายจ้างเกรงกลัวและไม่กล้าที่จะละเมิดกฎหมายได้หรือไม่อย่างไร?

ด้าน นายยงยุทธ เม่นตระเภา เลขาธิการ คสรท.ได้รายงานถึงพฤติกรรมล้มล้างสหภาพแรงงานของนายจ้าง ที่ไม่ให้ความสำคัญต่อกฎหมายไม่ยอมรับกติกาการรวมตัวและการเจรจาต่อรองของลูกจ้างอีกทั้งยังตั้งคำถามถึงกรณีที่นายจ้างรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานแทนลูกจ้างคนไทยโดยผิดเงื่อนไข BOI.รวมถึงกรณีการรับนักศึกษาฝึกงานเข้ามาทำงานตามข้อตกลงสหศึกษาแต่มีการเข้าทำงานกะ มีการทำงานล่วงเวลา มีลูกจ้างประเภทนี้มากถึง 60%โดยเฉพาะกิจการประเภทไฟฟ้าและยานยนต์ ในขณะที่ลูกจ้างมีลูกจ้างประจำเพียง 40%

DSCN1259

จากนั้นนายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ชี้แจงว่า

1. เจ้าหน้าที่เองจะทำอะไรได้ก็แค่ที่มีอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดไว้ซึ่งหากลูกจ้างเห็นว่านายจ้างทำสิ่งใดไม่ถูกต้องก็แจ้งมาเป็นลายลักษณ์อักษรทางเจ้าหน้าที่จะได้ทำได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาแย้งเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนในเรื่องนักศึกษาฝึกงานที่ต้องทำงานเหมือนลูกจ้างประจำ ตนมองว่าเป็นเหมือนการบังคับแรงงานการค้ามนุษย์ และเงื่อนไข BOI.นั้นจะให้ทางเจ้าหน้าที่ไปดูรายละเอียดให้ชัดก่อนและจะไปดำเนินการให้ต่อไป ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการจ้างงานเช่นนี้อยู่แล้ว แต่เห็นด้วยที่จะรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว และเจรจาต่อรองร่วม เพราะเจ้าหน้าที่จะได้ทำงานน้อยลง

2. ประเด็นที่นายจ้างไม่ยอมรับการรวมตัวของลูกจ้างนั้นได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ลงไปทำความเข้าใจในเรื่องแรงงานสัมพันธ์กับทางนายจ้าง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ลงไปแล้วและย้ำว่าจะต้องไปบ่อยๆ

3. จะส่งเจ้าหน้าที่ส่วนกลางลงไปร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยและกำชับให้ทางฝ่ายแรงงานสัมพันธ์ทำงานด้วยความอดทนและทำให้เต็มที่ เป็นไปได้จะลงไปด้วยตัวเองแต่ติดตรงที่ มีรองอธิบดีอยู่คนเดียวท่านอธิบดีติดราชการจึงจำเป็นที่จะต้องอยู่ดูแลที่กระทรวงแรงงาน ส่วนลูกจ้างที่มาชุมนุมอยู่ที่กระทรวงเราจะดูแลอย่างดี ยินดีต้อนรับ แต่ตั้งคำถามว่าการที่มาอยู่ที่กระทรวงนั้นกดดันนายจ้างได้มากเพียงใด

จากนั้น ทางตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและลูกจ้างในทุกกรณีปัญหาได้ยื่นหนังสือต่อนายสุวิทย์ สุมาลา นายสุวิทย์ ได้ฝากให้นายชาลีและคณะให้ช่วยบันทึกลงไปด้วยว่าตนได้รับปากอะไรไปบ้างเวลามาติดตามทวงถามจะได้ดูกันว่าที่รับปากไปนั้นตนได้ทำอะไรไปมากน้อยเพียงใด

นักสื่อสารแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก รายงาน