Thai / English

สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอสัมพันธ์ฯ ระบุคนงานถูกล่ารายชื่อบิดเบือนประเด็น



08 .. 57
ประชาไท

สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ระบุ รายมือชื่อลูกจ้าง 288 คน ที่เรียกร้องให้องค์กรต่างประเทศหยุดช่วยเหลือคนงาน ไม่ชอบมาพากล พบก่อนหน้านั้น บ.จอร์จี้ ให้ลูกจ้างลงรายชื่อสำรวจเรื่องประกันสังคม งงไปโผล่จดหมายฉบับอื่นได้ยังไง

7 เม.ย. 2557 สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์เปิดเผยว่า หลังจากได้ทำหนังสือถึงถึงผู้บริหารและลูกค้าของ บ.จอร์จี้ แอนด์ ลู ผู้ผลิตเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ Pure Handknit และ Neon Buddha เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม: สหภาพสิ่งทอสัมพันธ์ฯ วอน ‘นายจ้าง-ลูกค้า’ ร่วมสร้าง ‘แรงงานสัมพันธ์-ธุรกิจที่เป็นธรรม’ ด้วยการเจรจาพูดคุยกับสหภาพ) หลังจากนั้นประมาณ 1 อาทิตย์ เราได้รับแจ้งจาก Worker Rights Consortium ว่ามีจดหมายลงวันที่ 20 มีนาคม 2557 จากลูกจ้างที่ทำงานในบริษัทจอร์จี้แอนด์ลู จำกัด จำนวน 288 คน ลงลายมือชื่อเรียกร้องให้ Maquila Solidarity Network และ Worker Rights Consortium หยุดดำเนินการต่างๆ เมื่อสหภาพแรงงานได้อ่านจดหมายฉบับนี้แล้วพบว่าไม่มีความเป็นจริง และน่าจะเป็นลักษณะที่เป็นการหลอกลวง เพื่อไม่ให้พวกท่านเข้าใจผิดพลาด สหภาพแรงงานฯ จึงขอชี้แจงเป็นประเด็น ๆ ไปดังนี้

ประเด็นที่ 1 เรื่องลายมือชื่อลูกจ้างของบริษัทฯ ทั้ง 288 คน นั้น สหภาพฯ ขอชี้แจงว่าเมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ทางฝ่ายจัดการของบริษัทฯ ได้มีแบบฟอร์มให้พนักงานลงลายมือชื่อโดยอ้างว่าต้องการสำรวจเรื่องประกันสังคม ซึ่งพนักงานที่มาทำงานในวันนั้นจำนวน 288 คนซึ่งมีทั้งกรรมการสหภาพแรงงาน กรรมการลูกจ้าง และสมาชิกสหภาพแรงงาน ได้ลงลายมือชื่อ ในแบบฟอร์มดังกล่าว

ดังนั้นเมื่อปรากฏว่ารายชื่อในแบบฟอร์มดังกล่าวได้ถูกนำไปแนบพร้อมกับจดหมายฉบับนี้โดยการตัดหัวข้อการสำรวจเรื่องประกันสังคมออกเสีย สหภาพฯ จึงขอยืนยันว่าจดหมายฉบับนี้มีเจตนาหลอกลวงท่านเนื่องจากในรายชื่อดังกล่าวมีสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวนมาก รวมถึงรักษาการประธานสหภาพแรงงาน กรรมการสหภาพแรงงาน และ กรรมการลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ที่ร่วมทำหนังสือในนามสหภาพแรงงานไปยังท่านเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557

ประเด็นที่ 2 สหภาพแรงงานขอยืนยันว่าการที่พวกเราจำนวนมากลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิ พร้อมกับการจัดตั้งสหภาพแรงงานนั้นเป็นการรักษาสิทธิของพวกเราในฐานะที่เป็นผู้ใช้แรงงาน เราทำงานอย่างเต็มที่ให้กับบริษัทฯ มาโดยตลอด แต่แล้วบริษัทฯ กลับละเมิดสิทธิของพวกเราในหลายเรื่อง ได้แก่ การเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน การยกเลิกกองทุนชื่นชม การไม่จ่ายโบนัส การกลั่นแกล้งและให้ใบเตือนเพื่อเอาพวกเราออกจากงาน การเลิกจ้าง การกลั่นแกล้งโยกย้ายหน้าที่การงานเพื่อให้เราทนทำงานต่อไม่ได้ ให้พวกเรารับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำงานซึ่งไม่ใช่ความผิดของพวกเรา และพยายามที่จะเปลี่ยนสัญญาจ้างงานของพวกเราจากสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ไปเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิของพวกเรา

โดยทางสหภาพแรงงานยืนยันว่าเรารักบริษัทนี้ และอยากที่จะทำงานต่อไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเรายอมให้บริษัทละเมิดสิทธิของพวกเรา ในขณะที่บริษัทพยายามกล่าวอ้างต่อพวกท่านที่เป็นลูกค้าของบริษัทอยู่ตลอดเวลาว่า ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม แต่ทำไมถึงได้ละเมิดสิทธิของพวกเราอยู่ตลอดเวลา และถึงกับทำจดหมายที่เป็นการหลอกลวงให้คนงานเซ็นต์ชื่อและนำไปประกอบกับจดหมายให้กับพวกท่าน ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้บริหารของบริษัทจอร์จี้ ฯ ไม่ได้มีความจริงใจที่จะดำเนินธุรกิจอย่างคำนึงถึงคุณธรรมดังที่พูดเลย

ประเด็นที่ 3 ในท้ายจดหมายฉบับดังกล่าว ได้ลงนามโดยบุคคลที่อ้างว่าเป็นคณะกรรมการลูกจ้าง สหภาพฯ ขอชี้แจงมายังท่านว่า บุคคลที่ลงนามว่าเป็นคณะกรรมการลูกจ้างทั้ง 9 คน นั้นไม่ได้เป็นคณะกรรมการลูกจ้าง เนื่องจากกรรมการลูกจ้างจะมีได้โดย 2 วิธีเท่านั้น ได้แก่ มาจากการแต่งตั้งของสหภาพแรงงาน และ มาจากการจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้าง ซึ่งในกรณีของบริษัทจอร์จี้ฯ นั้น สหภาพแรงงานได้ใช้สิทธิ

นอกจากนี้สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ยังระบุว่าในการแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างไปแล้ว 5 คน ยังมีอีก 4 คน ที่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการจัดการเลือกตั้ง และสหภาพฯ ทราบว่า ทางบริษัทฯ ได้แจ้งรายชื่อบุคคล 9 คน ที่บริษัทแต่งตั้งไปยังเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งกลับต่อบริษัทฯ แล้วว่าการแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างของบริษัทฯไม่สามารถทำได้ แต่จากจดหมายฉบับนี้ก็ยังเห็นว่ามีการกล่าวอ้างว่าเป็นกรรมการลูกจ้างโดยที่ไม่เป็นความจริง

สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์จึงขอเรียนชี้แจงมายังท่าน เพื่อไม่ให้ท่านหลงเชื่อจดหมายฉบับดังกล่าว และขอให้ท่านตรวจสอบการกระทำของบริษัทฯ ในครั้งนี้ ว่าเป็นการจงใจสร้างภาพให้เกิดความเข้าใจผิดหรือไม่ พร้อมกันนี้ก็ขอให้พวกท่านได้เข้ามาร่วมในการแก้ไขปัญหาของพวกเราในครั้งนี้โดยเร็วที่สุด