Thai / English

สหภาพสิ่งทอสัมพันธ์ฯ วอน ‘นายจ้าง-ลูกค้า’ ร่วมสร้าง ‘แรงงานสัมพันธ์-ธุรกิจที่เป็นธรรม’ ด้วยการเจรจาพูดคุยกับสหภาพ



24 .. 57
ประชาไท

ร่อนจดหมายถึงผู้บริหารและลูกค้าของ บ.จอร์จี้ แอนด์ ลู ผู้ผลิตเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ Pure Handknit และ Neon Buddha รับกรรมการและสมาชิกสหภาพกลับเข้าทำงาน ยึดมาตรฐานแรงงานสากล สร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีโดยพูดคุยกับสหภาพแรงงาน ดังที่บริษัทได้เสนอต่อสาธารณะชนว่า “ทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม”

21 มี.ค. 2557 สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์เปิดเผยว่าวันนี้ (21 มี.ค.) ได้ทำจกหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด รวมทั้งลูกค้าของบริษัท เรื่อง “ร้องเรียนการละเมิดสิทธิแรงงานและการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน”

โดยสหภาพแรงงานระบุว่า บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ตั้งอยู่ที่ 121 หมู่ 3 ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบริษัทผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ Pure Handknit และ Neon Buddha ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา

บริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู ได้ละเมิดสิทธิแรงงานและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไทย และมาตรฐานแรงงานสากลในหลายประเด็นดังต่อไปนี้

จ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานรายเดือนต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 ประเทศไทยประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท (หรือเดือนละ 9,000 บาท) แต่บริษัทฯ ได้จ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานรายเดือนอยู่ในระหว่าง 8,000 – 8,800 บาทต่อเดือนซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้เข้ามาไกล่เกลี่ย แต่ทางบริษัทฯ ก็ยังคงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไทย ดังนั้นในวันที่ 10 และ 14 ตุลาคม 2556 พนักงานรายเดือนจำนวน 43 คนได้ร้องเรียนไปยังเจ้าหน้าสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่เพื่อออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินในส่วนที่จ่ายไม่ครบ และในวันที่ 16 ธันวาคม 2556 เจ้าหน้าที่มีคำสั่งให้บริษัทจ่ายเงินค่าจ้างที่ไม่ครบให้กับพนักงานรายเดือน เป็นจำนวนเงินทั้งหมด 333,850 บาท แต่บริษัทฯ อุทธรณ์คำสั่งเจ้าหน้าที่แรงงาน

ในเดือนสิงหาคม 2556 บริษัทพยายามจะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง โดยบังคับให้คนงานเซ็นสัญญาระยะสั้นหนึ่งปี และหากทำงานเสียหายจะหักเงินลูกจ้าง 20 บาทต่อหนึ่งชิ้น พวกเราไม่ยอมจึงได้รวมตัวกันเพื่อคัดค้าน และในวันที่ 16 ตุลาคม 2556 พวกเราได้ร่วมลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัท ฯ (ใช้สิทธิตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ) มีการนัดเจรจา กันหลายครั้งแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนต้องมีการยื่นพิพาทแรงงานและเข้าสู่การไกล่จนมีข้อยุติและทำเป็นข้อตกลงสภาพการจ้างเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556

ในระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องและการเจรจาต่อรอง บริษัทฯ ได้กระทำการข่มขู่และคุกคามตัวแทนคนงานและคนงานที่สนับสนุนการยื่นข้อเรียกร้องในครั้งนี้ตลอดเวลา

โดยในวันที่ 16 ตุลาคม 2556 (วันเดียวกันกับที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัท) บริษัทฯมีคำสั่งไม่เป็นธรรมพักงานตัวแทนเจรจาจำนวน 4 คน และผู้แทนลูกจ้างที่ไปร่วมยื่นข้อเรียกร้อง 1 คน โดยอ้างว่าคนงานเหล่านี้ทำตัวกระด้างกระเดื่อง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเป็นเวลา 7 วัน

ในวันที่ 17 ตุลาคม 2556 บริษัทฯ เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 10 คน อย่างไม่เป็นธรรมซึ่งคนงานทั้ง 10 คนได้ลงลายมือชื่อสนับสนุนการยื่นข้อเรียกร้องและปฏิเสธเซ็นสัญญาใหม่ระยะสั้น 1 ปีที่เป็นการลดสิทธิของคนงาน ในวันที่ 18 ตุลาคม คนงานทั้ง 10 คน ได้ร้องต่อเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อให้บริษัทจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และในวันที่ 13 มกราคม 2557 เจ้าหน้าที่มีคำสั่งให้บริษัทจ่ายเงินให้กับลูกจ้างเป็นเงินทั้งหมด 507,600 บาท แต่บริษัทกลับอุทธรณ์คำสั่งเจ้าหน้าที่ และนอกจากนี้ลูกจ้างทั้ง 10 คนได้ส่งคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อเรียกร้องให้บริษัทฯจ่ายค่าเสียหายจากการกระทำไม่เป็นธรรม ในวันที่ 4 ก.พ. 57 เจ้าหน้าที่ได้มีคำสั่งให้บริษัทจ่ายเงินค่าเสียหายจากการกระทำไม่เป็นธรรมจำนวน 477,000 บาท บริษัทฯ อุทธรณ์คำสั่งเจ้าหน้าที่

นอกจากการกระทำเบื้องต้นแล้วบริษัทฯ ยังติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวนหลายตัวที่บริเวณหน้าห้องน้ำ ให้ใบเตือนรายวันกับคนงาน โยกย้ายหน้าที่การทำงาน โดยเฉพาะย้ายคนงานที่มีอายุแล้วไปทำงานในแผนกแพ็คกิ้งที่ต้องยกของหนักและปีนขึ้นที่สูงเพื่อนำกล่องขึ้นไปเก็บ

ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2556 บริษัทจอร์จี้ได้ออกประกาศว่าจะไม่จ่ายเงินกองทุนให้กับคนงานที่ได้รับค่าชดเชยและได้รับใบเตือนสองใบย้อนหลังหกเดือนซึ่งไม่เป็นธรรมต่อพวกเรา ในการเริ่มทำกองทุนพวกเราได้รับแจ้งเกี่ยวกับเงื่อนไขเพียงว่าห้าม มาทำงานสาย ลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และขาดงาน และพวกเราจะได้รับเงินจากกองทุนเมื่อเราลาออกจากบริษัทและแจ้งล่วงหน้าตามที่กำหนด การเพิ่มเงื่อนไขของบริษัทเป็นการละเมิดสิทธิของพวกเรา พวกเราได้ร้องต่อศาลแรงงานเพื่อเรียกร้องให้บริษัทจ่ายเงินกองทุนให้กับคนงาน ซึ่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลได้นัดไกล่เกลี่ยแต่บริษัทส่งตัวแทนที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจมาแทน

บริษัทฯ เลือกปฏิบัติต่อคนงาน โดยไม่จัดโบนัสประจำปีให้กับคนงานที่สนับสนุนการยื่นข้อเรียกร้อง โดยอ้างว่าคนงานเหล่านี้ทำงานไม่มีคุณภาพ แต่จ่ายโบนัสให้กับคนงานที่ยอมเซ็นสัญญาระยะสั้นเท่านั้น

บริษัทฯ ยังไม่หยุดการกระทำในการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยในวันที่ 6 และ 7 มกราคม 2557 บริษัทเลิกจ้าง ประธานสหภาพแรงงาน รองประธานสหภาพแรงงานและกรรมการสหภาพ 2 คน และสมาชิกสหภาพแรงงานหนึ่งคนอย่างไม่เป็นธรรม โดยอ้างว่าต้องการปรับโครงสร้าง แต่บริษัทฯ ไม่เคยมีแผนหรือพูดคุยกับคนงาน และเพราะเหตุใดจึงเจาะจงเลิกจ้างตัวแทนคนงาน ก็เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้นำสหภาพแรงงานการตั้งเป้าในการเลิกจ้างครั้งเป็นการละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มของพวกเรา คนงานได้ดำเนินการร้องต่อยังคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และอยู่ในระหว่างการสอบข้อเท็จจริง

นอกจากนี้บริษัทฯยังเพิกเฉยต่อการขอประชุมพูดคุยของสหภาพแรงงาน และไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้างที่ได้ทำไว้ “ในเรื่องการไม่เปลี่ยนแปลงระเบียบอื่นใดที่ปฏิบัติกันมาก่อนหน้า” โดยบริษัทได้มีคำสั่ง ระเบียบใหม่ ๆ ออกมาโดยไม่สนใจต่อข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้ เช่น กรณีบริษัทฯ ประกาศกำหนดวันหยุดพักร้อนประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 1

กุมภาพันธ์ โดยบริษัทกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปี ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ และ 25-26-27-29 และ 30 ธันวาคม หากคนงานคนใดมีวันลาพักร้อนมากกว่าหกวันและต้องการลาต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งการกำหนดวันลาพักผ่อนประจำปีไม่ได้ให้สิทธินายจ้างเป็นผู้กำหนดเพียงแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 30 ระบุว่า “นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวล่วงหน้าหรือกำหนดตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน” และการที่บริษัทฯ กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำขอลาล่วงหน้นานถึง 3 เดือนนั้น โดยการปฏิบัติใช้ไม่ได้ ซึ่งเราเองไม่สามารถกำหนดเหตุการณ์ได้ในระยะยาว ซึ่งการออกระเบียบและหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ เช่นนี้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิของคนงานและละเมิดข้อตกลงสภาพการจ้าง

สหภาพแรงงานจึงขอร้องเรียนมายังเจ้าของบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด และลูกค้าของบริษัท ให้บริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู รับกรรมการสหภาพแรงงานและสมาชิกกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม และค่าจ้าง สวัสดิการคงเดิม พร้อมทั้งจ่ายค่าจ้างย้อนหลังในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับ และให้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และปฏิบัติตามกฎหมายไทย ทั้งปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานสากล และสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีโดยพูดคุยกับสหภาพแรงงานอย่างจริงจังและจริงใจ ดังที่บริษัทได้เสนอต่อสาธารณะชนว่า “ทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม”