http
ปลายเดือนธันวาคม ศูนย์วัฒนธรรมและการพัฒนา บ้านคนงานอพยพย้ายถิ่นปักกิ่ง ( Beijing Migrant Workers Home Cultural and Development Center) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเพื่อคนงานอพยพย้ายถิ่นในประเทศจีนซึ่งมีจำนวนราว 260 ล้านคน ได้ส่งหนังสือเชิญวงดนตรี ภราดร ไปร่วมงาน ขึ้นปีใหม่ของคนงานจีนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นการแสดงทางวัฒนธรรมของคนงานจีนในโอกาสเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่จีน(ตรุษจีน) ในวันที่ 11-12 มกราคม 2557 ที่ ไนน์เธียร์เตอร์ และวันที่ 13 ที่บาร์เจียงหูจิว กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
ซุน ฮัง ( Sun Heng) ผู้อำนวยการ บ้านคนงานอพยพย้ายถิ่นปักกิ่ง กล่าวว่า
คนงานได้สร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่ให้สังคม แต่กลับถูกมองข้าม ไม่มีใครฟังเสียงของพวกเขา เราจัดงานครั้งนี้เพื่อให้คนงานได้มีเวทีในการแสดงออกถึงความรู้สึก และสังคมก็จะได้ยินเสียงของพวกเขา นักแสดงทั้งหมดเป็นคนงานที่มาจากส่วนต่างๆของประเทศจีน และการแสดงก็เป็นแบบฉบับของคนงาน
คนงานไม่เพียงถูกกดขี่ทางด้านเศรษฐกิจแต่ยังรวมถึงด้านวัฒนธรรมด้วย กิจกรรมทางวัฒนธรรมช่วยให้คนงานและสาธารณชนได้สะท้อนการถูกบังคับทางด้านวัฒนธรรม และยังเป็นการสร้างความสมานฉันท์ด้วย
เหตุผลที่เราเชิญวง ภราดร จากประเทศไทยไปร่วมแสดงเพราะว่า พวกเขาเขียนเพลงเพื่อแรงงาน และแสดงดนตรีเพื่อคนงานมานาน เราต้องการให้คนงานจีนรู้จักพวกเขา
ซิ บิน (Zhibin) เจ้าหน้าที่ประสานงานองค์กร กล่าวถึงการจัดงานว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ส่วนการแสดงก็จะมีทั้งสิ้น 18 ชุด มีทั้งการแสดงของเด็กๆ การแสดงละคร การขับร้อง และการแสดงดนตรี ซึ่งก็จะมีการบันทึกวิดีโอการแสดงนำไปเผยแพร่ทางโทรทัศน์และเว็บไซต์ต่างๆ
ส่วนเนื้อหาของการแสดงก็เป็นบอกเล่าเรื่องราวและสะท้อนปัญหาของแรงงานจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเคลื่อนย้ายถิ่นมาหางานทำและตั้งรกรากในเมือง คนงานจำนวนมากถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน ไร้สิทธิ ไร้สวัสดิการที่ดี ทำงานไม่ปลอดภัย เด็กๆต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ รวมทั้งปัญหาการครองคู่ ของคนงานหนุ่มสาว
ทั้งนี้ปัญหาต่างๆของแรงงานจีนต้องอาศัยถ่ายทอดผ่านงานวัฒนธรรมเพราะสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกยังถูกจำกัด และแม้ว่าจะมีองค์กรแรงงานในประเทศจีนแต่ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล
ในงานครั้งนี้ นักแสดงซึ่งเป็นแรงงานอพยพจากหลายพื้นที่ของประเทศจีน ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางวัฒนธรรมครั้งนี้ พวกเขากระตือรือล้นในการฝึกซ้อมอย่างเอาจริงเอาจังครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้การแสดงสมบูรณ์แบบที่สุด เพราะพวกเขาตระหนักว่า มีแต่งานวัฒนธรรมเท่านั้นที่จะทำให้พวกเขามีโอกาสได้บอกเล่าเรื่องราวและสภาพปัญหาของแรงงานจีนให้สังคมได้รับรู้
ซึ่งเฉิง คนงานร้านอาหารเส้น และ เหยาฉูเลี่ยง คนงานโรงงานอีเล็คทรอนิกส์ นักแสดงชุดละครเงียบ บอกว่า การแสดงของพวกเราบอกเล่าสภาพแวดล้อมในการทำงานในโรงงาน พวกเราเป็นคนงานหนุ่มสาวที่ไม่กลัวงานหนัก แต่อยากได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม
การแสดงงานวัฒนธรรมครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนแขนงต่างๆของจีนทั้งเป็นอย่างมาก นักข่าวหนังสือพิมพ์และทีวีต่างมาสัมภาษณ์ทำข่าวกันตั้งแต่วันซ้อมไปจนถึงวันแสดงจริงทุกวัน ซึ่งวง ภราดร จากประเทศไทยก็ได้มีโอกาสให้สัมภาษณ์แลกเปลี่ยนสถานการณ์แรงงานในประเทศไทยให้ชาวจีนได้รับรู้ ซึ่งคนงานจีนก็ยังเห็นว่า คนงานไทยมีสิทธิมีเสียง มีสภาพการทำงานที่ดีกว่า ซึ่งพวกเขาก็แสดงให้เห็นว่าจะมุ่งมั่นสู้ต่อไปเพื่อให้ได้มาซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันของแรงงานในประเทศจีน