ขอให้เธอกล้าแกร่งทุกยาม ให้เธอได้ผลิบานตามวัย ให้การย้ายถิ่นข้ามพรมแดนปลอดภัยสำหรับเธอบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 18 .. 56 ประชาไท รำลึกวันแรงงานข้ามชาติสากล 18 ธ.ค.56 เปิดข้อมูลอุบัติเหตุจากการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติในปี 56 ชี้ 5 นัยยะความสำคัญ พร้อมกับโจทย์ที่ท้าทายในการแก้ปัญหา ขอให้เธอกล้าแกร่งทุกยาม ให้เธอได้ผลิบานตามวัย เป็นคำท้ายจบประโยคที่ฉันเพิ่งบอก โย ไปเมื่อสักครู่ โย สาวแรงงานข้ามชาติที่ย้ายถิ่นจากเมืองพะอัน (Hpa-An) เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า มาทำงานในประเทศไทยเป็น ลูกจ้างร้านตัดผม ย่านรามคำแหงและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วตั้งแต่อายุเพิ่งพ้น 15 ปีมาไม่กี่วัน และคำว่า ไม่ถูกกฎหมาย ก็ประทับตราเธอให้ใช้ชีวิตหลบๆซ่อนๆอยู่แต่ในร้านทำผมมาโดยตลอด สมัยที่รัฐบาลไทยยังมีมติคณะรัฐมนตรีรายปีที่ต่ออายุแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชาแบบปีต่อปี จนทุกวันนี้เปลี่ยนระบบมาเป็นการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง และแรงงานข้ามชาติหลายๆคนก็มีพาสปอร์ตยืนยันสถานะบุคคลของตนเอง โย โทรศัพท์มาขอบคุณฉันที่เป็น ครู สอนภาษาไทยเธอมากว่า 4 ปี และแจ้งว่าเธอจะเดินทางกลับ พะอันแล้ว ไปตั้งรกรากสร้างอาชีพที่นั่นกับคู่ชีวิตของเธอที่เป็นหนุ่มกะเหรี่ยงเช่นเดียวกัน คงไม่มีโอกาสมาหาและเยี่ยมเยียน คนเป็นครู ได้อีกต่อไป ฉันยิ้มรับด้วยความปลาบปลื้มในวิถีของเธอ กว่า 15 ปี บนเมืองหลวงประเทศไทย ที่ให้โอกาสและฝึกเธอจนกล้าแกร่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญบนโลกเล็กๆใบนี้ หลังวางสายจาก โย ฉันอดนึกถึงเพื่อนๆแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงไม่ได้ โดยเฉพาะเพื่อนๆจากพม่า ลาว กัมพูชา ที่ย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในประเทศไทย แค่เพียงเฉพาะการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ตัวเลขล่าสุดจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่าในปี 2556 ที่ผ่านมา มีการตั้งโรงงานในประเทศไทยรวม 4,260 แห่ง หรือเพิ่มขึ้น 24.56% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ที่มียอดตั้งโรงงานเพียง 3,420 แห่ง ทำให้มีการจ้างแรงงานใหม่เพิ่มขึ้น 106,724 คน ในกว่า 1 แสนคนนี้เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านกว่าหนึ่งหมื่นคนเลยทีเดียว เธอบอกฉันว่าจะข้ามไปเมืองไทย เก็บเงินหางาน ส่งให้พ่อแม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องลำบาก เพื่อให้ที่บ้านมีอยู่มีกิน ข่าวจากอีกฟากฝั่ง เดินทางมาบอกฉันว่า เพื่อนเราล้มตายขณะเดินทางไปทำงาน ฉันยังเป็นห่วงเธอเสมอ หวังว่าเธอคงไม่ใช่ผู้โชคร้าย ฉันรู้ ว่าฉันได้แต่หวัง หวังว่าชีวิตเธอที่เมืองไทย คงจะชุ่มเย็นสำหรับเธอนะ กล่าวได้ว่าทุกวันนี้ยังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยที่ย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่พบว่าหลายคนต้องสูญเสียชีวิตระหว่างเดินทางเข้ามา ระหว่างทำงาน และระหว่างเดินทางกลับบ้านเกิดที่อีกฟากฝั่งหนึ่งของประเทศไทย ฉันอดนึกถึงเหตุการณ์ 54 ศพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 ที่จังหวัดระนองขึ้นมาไม่ได้ บนรถตู้คอนเทนเนอร์ที่ดัดแปลงเป็นรถห้องเย็นบรรทุกอาหารทะเล ซึ่งพาแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าจำนวน 121 คน หลบซ่อนตัวมาในรถ เพื่อไปส่งที่จังหวัดพังงาและภูเก็ต แต่เนื่องจากบนรถไม่มีอากาศหายใจ ทำให้แรงงานข้ามชาติจากพม่าที่ต่างเบียดเสียดแออัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ จำนวน 54 คน ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากขาดอากาศระหว่างที่รถแล่นมาถึงบริเวณบ้านบางกล้วยนอก หมู่ที่ 3 ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง รวมถึงจากโศกนาฏกรรมล่าสุด อุบัติเหตุการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติจากประเทศลาวที่ไม่ถูกกฎหมาย เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 บนถนนสายบุรีรัมย์-สตึก ต.บ้านด่าน อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ ที่ทำให้แรงงานเสียชีวิตถึง 19 คนทันทีและบาดเจ็บอีก 7 คน จากทั้งหมด 26 คน พวกเขาและเธอต่างนั่งเบียดอัดกันมาในรถกระบะ เพื่อเดินทางกลับบ้านเกิดยังประเทศลาว ผ่านทางด่านเขมราฐ จ.อุบลราชธานี แต่รถกระบะกลับเสียหลักพุ่งตกข้างทางและชนกับต้นไม้เสียก่อนที่พวกเขาจะกลับถึงบ้าน ภาพจากการรายงานข่าวยังติดตาฉันมาจนถึง ณ ตอนนี้ ในรอบปี 2556 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอุบัติเหตุจากการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเกิดขึ้นถึง 12 ครั้ง มีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตรวม 37 คน และบาดเจ็บรวม 172 คน ได้แก่ ครั้งที่ 1 7 มกราคม 2556 ที่ จ.สระแก้ว รถกระบะ ทะเบียน ถธ 9638 กรุงเทพมหานคร ที่รับแรงงานข้ามชาติจากกัมพูชาที่ไม่ถูกกฎหมาย 10 คน มาจากตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ เพื่อไปทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ เสียหลักพุ่งชนเสาไฟฟ้าบริเวณ ถ.สุวรรณศร ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว แรงงานทั้ง 10 คนได้รับบาดเจ็บและถูกส่งกลับประเทศทันที ครั้งที่ 2 24 เมษายน 2556 ที่ จ.ตาก รถทัวร์สองชั้น ไม่ประจำทาง ทะเบียน 30-7373 กรุงเทพมหานคร เสียหลักและพลิกคว่ำบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 แม่สอด-ตาก บริเวณดอยรวก เป็นเหตุให้มีแรงงานข้ามชาติซึ่งมีพาสปอร์ตถูกต้องตามกฎหมาย ขณะกำลังเดินทางกลับประเทศพม่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ บาดเจ็บ 50 คน และเสียชีวิตทันที 2 คน ครั้งที่ 3 24 เมษายน 2556 ที่ จ.ชุมพร รถกระบะ ทะเบียน ฒญ 5565 กรุงเทพหานคร ขับหลบหนีตำรวจขณะเรียกให้หยุดตรวจบริเวณถนนสายเอเชีย หมู่ที่ 4 ต.นาโพธิ์ อ.สวี จ.ชุมพร เจ้าหน้าที่จึงไล่จับกุม จนรถกระบะเสียหลักพุ่งชนต้นไม้ริมทางจนพลิกคว่ำ และทำให้มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่หลบหนีเข้าเมือง บาดเจ็บสาหัส รวม 15 ราย ซึ่งเดินทางมาจาก จ.กาญจนบุรี เพื่อเดินทางไปทำงานที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 4 29 เมษายน 2556 รถยนต์กระบะ ทะเบียน บพ 2808 จ.ชุมพร พลิกคว่ำตกไหล่ทางบริเวณถนนบาสพาส ชะอำ-ปราณบุรี ทำให้แรงงานข้ามชาติจากพม่า 18 คน ซึ่งเดินทางมาจาก จ.กาญจนบุรี เพื่อไปทำงานที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับบาดเจ็บรวม 10 ราย และมี 2 รายได้รับบาดเจ็บสาหัส ครั้งที่ 5 4 พฤษภาคม 2556 ที่ จ.สระแก้ว รถปิคอัพ ทะเบียน ปบ 6292 กรุงเทพมหานคร พลิกคว่ำตกในคูน้ำที่ ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ ทำให้แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาที่หลบหนีเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายจำนวน 12 คน ที่กำลังจะเดินทางไปทำงานที่กรุงเทพได้รับบาดเจ็บ ครั้งที่ 6 31 พฤษภาคม 2556 ที่ จ.ระนอง เกิดอุบัติเหตุเรือหางยาวล่ม ซึ่งเดินทางมาจาก จ .เกาะสอง ประเทศพม่า เพื่อมาทำงานที่ จ.ระนอง รวมประมาณ 45 คน ล่มกลางทะเล จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน ครั้งที่ 7 7 กรกฎาคม 2556 ที่ จ.ปราจีนบุรี รถตู้โดยสารสาธารณะ 15-2634 กทม. วิ่งระหว่างเดอะมอลล์งามวงศ์วาน-ม.รามคำแหง ที่รับแรงงานข้ามชาติจากประเทศลาวจำนวน 15 คน มาจากโรงงานเย็บผ้าแห่งหนึ่ง เขตวงเวียนใหญ่ กทม.เพื่อพาไปต่อหนังสือเดินทางที่ ตม.จังหวัดจันทร์บุรี เสียหลักชนต้นไม้และเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่บริเวณถนนหลวงสาย 359 เขาหินซ้อน-สระแก้ว ต.วังตะเคียน ทำให้แรงงานชาวลาวเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 14 ราย ครั้งที่ 8 1 สิงหาคม 2556 รถตู้โดยสารทะเบียน 10-1211 อ่างทอง สายสุพรรณบุรี-กรุงเทพ ชนรถปิคอัพทะเบียน บย 6266 สุพรรณบุรี ซึ่งรับแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาไม่ถูกกฎหมายจำนวน 5 คน ซึ่งเดินทางมาจากอ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี เพื่อมาทำงานที่ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ได้รับบาดเจ็บทั้ง 5 คน ครั้งที่ 9 12 กันยายน 2556 ที่ จ.ระนอง เรือหางยาวขนส่งแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่ว่าจ้างมาจากจังหวัดเกาะสอง ประเทศพม่าเพื่อไปส่งที่ ต.นางย่อน อ.คุระบุรี จ.พังงา ในราคาคนละ 500 บาท รวม 28 คน ล่มกลางทะเลบริเวณเกาะพยาม แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ทั้ง 28 คน หลังจากขึ้นฝั่งได้ ถูกดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ครั้งที่ 10 15 กันยายน ที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสารสายกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ทะเบียน 15-1079 กทม. พาแรงงานข้ามชาติพม่า มอญ และกะเหรี่ยง โดยทุกคนเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย ซึ่งทำงานอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ว่าจ้างให้ไปส่งที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อจะกลับบ้านที่ประเทศพม่า โดยเสียค่าเช่ารถคนละ 1,500 บาท แต่คนขับรถตู้หลับในจนรถเสียหลักพุ่งชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 70-3737 ประจวบคีรีขันธ์ ที่จอดริมทาง ทำให้แรงงานและคนขับรถตู้บาดเจ็บรวม 14 ราย และในนี้บาดเจ็บสาหัส 2 ราย ในที่นี้มีเด็กวัย 3 เดือน รวมอยู่ด้วย ครั้งที่ 11 เมื่อ 8 ตุลาคม 2556 ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น ครั้งที่ 12 15 ธันวาคม 2556 บนทางด่วนบูรพาวิถีขาเข้า หลักกิโลเมตรที่ 13 ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ รถยนต์กระบะบรรทุกปลา ทะเบียน ณง 3074 กรุงเทพมหานคร ยางแตกและเสียหลักพุ่งชนกับรถกระบะบรรทุกแรงงานข้ามชาติ ทะเบียน ฒฐ 5498 กรุงเทพมหานคร จนไฟลุกไหม้ ทำให้แรงงานข้ามชาติเสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บ 12 คน ตัวเลขความสูญเสียจากอุบัติเหตุการย้ายถิ่นข้ามพรมแดนเหล่านี้ มีนัยยะสำคัญต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง ? (1) แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ เป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มหรือลด GDP ประเทศไทย การที่ประเทศไทยต้องสูญเสียความสามารถในการทำงานของแรงงานข้ามชาติไปถึง 209 คน จึงส่งผลไม่มากก็น้อยต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องพึ่งพา/ไม่สามารถปฏิเสธการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้อยู่ (2) ประเทศไทยปล่อยให้การสูญเสียชีวิตของแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก เป็นเรื่องของความเอื้อเฟื้อของนายจ้างหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารเพียงเท่านั้น เพราะแรงงานกลุ่มนี้ คือ พวกลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสารรับรอง จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องได้รับการดูแลเหมือนผู้ใช้แรงงานไทยกลุ่มอื่นๆหรือแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่ถูกกฎหมาย (3) ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีแรงงานที่ลักลอบผิดกฎหมายทำงานอยู่จำนวนมาก ระบบการพิสูจน์สัญชาติมิสามารถแก้ปัญหาได้กับแรงงานทุกคน ดังนั้นการขาดการสร้างนโยบายที่คุ้มครองแรงงานตั้งแต่เริ่มข้ามพรมแดนยิ่งสร้างให้เกิดกระบวนการฉวยโอกาสจากแรงงานราคาถูก โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาและเธอก็คือพลเมืองโลกคนหนึ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน ทั้งๆที่ประเทศไทยอยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องอาศัยแรงงานผิดกฎหมาย แต่ก็กลับไม่ยอมรับในหลักการคุ้มครองแรงงานตั้งแต่ก่อนเริ่มทำงาน ระหว่างทำงาน หรือหลังทำงาน จากการคุ้มครองจึงแปรเปลี่ยนเป็นไล่ล่าจับกุมปราบปรามโดยกระทรวงกลาโหมหรือมหาดไทยแทน กระทรวงแรงงานกลับเพิกเฉยและตั้งรับ นิ่งดูดาย หรือกระทั่งผลักภาระไปให้หน่วยงานอื่นๆแทน ขาดการตระหนักร่วมว่าเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (4) ในช่วงนี้มีการกล่าวถึงกระแสการปฏิรูปประเทศไทยกลับมาอีกครั้งหนึ่งตามวาระของการชุมนุมบนถนนราชดำเนิน อย่างไรก็ตามประเทศไทยจะน่าอยู่ได้คงไม่ได้มีเพียงเฉพาะการคุ้มครองคนที่เป็นพลเมืองไทยเท่านั้น การพูดถึงแผ่นดินไทยที่อยู่เย็นเป็นสุข ปกป้องชีวิตทั้ง คนไทย และ แรงงานข้ามชาติ การสร้างสังคมที่ดูแลสิทธิมนุษยชนและชีวิตคนทุกคน แม้ว่าเขาหรือเธอจะเดินทางมาจากแผ่นดินอื่น จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกขาดกันได้จากระบบคุ้มครองที่มีอยู่ปัจจุบัน (5) ความตายและการบาดเจ็บจากการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้สังคมไทยได้เรียนรู้ถึงการจัดการกับวิกฤติเรื่อง ความไม่ปลอดภัยจากการเดินทางเพื่อเข้ามาหางานทำในประเทศไทย จากเดิมอาจมองเป็นเพียงเรื่องอุบัติเหตุชั่วครั้งชั่วคราว ก็ยกระดับจากการแยกส่วนแยกหน่วยงาน มาเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อรับมือทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย เพื่อสร้าง/แสวงหาความสมดุลในการจ้างงานทางเศรษฐกิจกับความมั่นคงของมนุษย์ไปพร้อมกัน เนื่องในวันพรุ่งนี้ 18 ธันวาคม 2556 เป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล (International Migrant Day) ซึ่งเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้มีการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติและแรงงานอพยพในประเทศต่างๆได้รับการคุ้มครองในฐานะที่เป็นมนุษย์ และเป็นในฐานะแรงงานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากปรากฏการณ์การย้ายถิ่นเพื่อแสวงหางานทำเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติก็มักจะถูกละเมิดสิทธิในด้านต่างๆอันเนื่องมาจากการเป็นคนข้ามชาติ ข้ามวัฒนธรรม ขาดโอกาสในการเข้าถึงกลไกการคุ้มครองของประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทยแล้วก็มิแตกต่าง การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน พม่า ลาว และกัมพูชา ก็ยังเกิดขึ้นทุกวัน แม้ว่าที่ผ่านมาปัญหาหลักของแรงงานกลุ่มนี้คือ ยังไม่ได้รับการคุ้มครองและมีกลไกเข้าถึงการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของประเทศไทยได้เท่าที่ควร แต่โจทย์ที่ท้าทายมากกว่าสำหรับวันนี้และปีต่อๆไป คือ ทำอย่างไรที่ประเทศไทยจะสร้างกลไกให้แรงงานข้ามชาติไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมายได้มีโอกาสย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย ฉันขอเรียกร้องให้ 12 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสังคมไทย และร่วมกันยอมรับความจริงอย่างตรงไปตรงมาว่า ยังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ไม่สามารถย้ายถิ่นเข้าเมืองได้อย่างถูกกฎหมายประเทศไทย อีกทั้งเราก็จะไม่ยอมหรี่ตาอีกต่อไปแล้ว และปล่อยให้การย้ายถิ่นจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง อยู่ในชะตากรรมของผู้นำพาหรือนายหน้าเพียงเท่านั้น เราจะไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องเล่าหรือเรื่องราวที่ผ่านมา เพื่อลืมเลือนไปในที่สุด แต่เราจะร่วมกันหาหนทางใหม่ๆในการจัดการปัญหาแบบนี้ เพราะไม่สามารถปฏิเสธได้แล้วว่า วันนี้มีคนจำนวนมากเดินทางข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อมาหางานทำ เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของตนเองที่บ้านเกิดในประเทศไทย อีกทั้งแรงงานจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อของการลักลอบค้ามนุษย์ แต่เบื้องหลังการเดินทางนั้นหลายคนมีภาระหนี้สินผูกติดตัวมา การส่งกลับแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายจากการย้ายถิ่นที่ไม่ปลอดภัย โดยไม่คำนึงถึงลักษณะดังกล่าว ก็เป็นการเริ่มต้นวงจรของการค้ามนุษย์อีกครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่จบสิ้นต่อไป สุดท้ายแล้วเมื่อแรงงานข้ามชาติยังมีความสำคัญกับสังคมไทย ถึงเวลาหรือยังที่เราจำต้องตั้งคำถามอย่างจริงจังเสียทีว่า ความมุ่งหวังที่จะสร้างสังคมน่าอยู่ที่เป็นธรรมและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์สำหรับคนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยมีหน้าตาอย่างไร และคนทุกคนซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติที่มีคุณประโยชน์ต่อประเทศไทย จะมีส่วนร่วมในการสรรค์สร้างสังคมไทยอย่างไร ถึงเวลาแล้วที่โจทย์คำถามที่ท้าทายนี้ ประเทศไทยคงต้องหยิบขึ้นมาทำให้เป็นจริงเป็นจังเสียที !!!! |