Thai / English

รัฐมักเป่านกหวีดให้ทุนชนะเสมอ : ล้มสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย


บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
15 .. 56
http:/

ปัญหาเรื่องการล้มสหภาพแรงงานในประเทศไทย แม้มิใช่ปัญหาใหม่ แต่ก็คงมิใช่ปัญหาที่จักมองข้าม ท่ามกลางที่ขณะนี้หลายพื้นที่ของกลุ่มย่านอุตสาหกรรมต่างๆกำลังอยู่ในช่วงฤดูกาลยื่นข้อเรียกร้อง หลายสหภาพแรงงาน “ใกล้ชื่นมื่นกับตัวเลขโบนัส” แต่กลับบางสหภาพแรงงาน ข้อเรียกร้องที่เรียกร้องไป “กลับยิ่งไกลเกินเอื้อมมือคว้า”

ณ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ เป็นที่ตั้งของบริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด เลขที่ 92 หมู่ 9 ถนนบางนา-ตราด ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด สัญชาติแคนาดาร่วมทุนกับสัญชาติอเมริกัน ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเครื่องมือวัด มีนายโนอาห์ เชพเฟิร์ด เป็นกรรมการผู้จัดการ ปัจจุบันมีพนักงาน ประมาณ 500 คน

ปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นที่นี่ในขณะนี้ คือ

(1) นายจ้างบริษัท สแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด ได้มีการยุยงให้สมาชิกสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย เกิดความแตกแยกในหมู่คณะเดียวกัน โดยมีการบังคับทางอ้อมในฐานะ “ลูกจ้างบริษัท” ให้สมาชิกสหภาพแรงงานจำนวนมากลาออกเพื่อไปตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาใหม่อีก 1 แห่งในบริษัทเดียวกันชื่อว่า “สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ เวิร์คส์”

โดยปรากฏชัดว่าสหภาพแรงงานที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่นั้นมีการจัดประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก โดยบริษัทอนุญาตให้ใช้สถานที่ภายในบริษัท ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่สหภาพแรงงานแห่งเดิมได้จัดประชุมใหญ่ในวันดังกล่าวเช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่าขณะนี้บริษัท สแตนเล่ย์ เวิร์คส์ มีสหภาพแรงงานระดับปฏิบัติการจำนวน 2 แห่ง อยู่ในบริษัทเดียวกัน แต่เป็นปฏิปักษ์และขัดแย้งต่อกัน

แน่นอน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มิได้ห้ามไม่ให้มีการตั้งสหภาพแรงงานเพียงแค่แห่งเดียวในสถานประกอบการ ดังนั้นบริษัท สแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด ก็ย่อมมีสิทธิที่จะสนับสนุนลูกจ้างบุคคลใด กลุ่มใด จัดตั้งสหภาพแรงงานอีกแห่งขึ้นมาคานอำนาจสหภาพแรงงานเดิมที่เป็นปฏิปักษ์กับ นายจ้างก็ย่อมได้

อย่างไรก็ตามข้อสังเกตสำคัญต่อกรณีนี้ คือ คำสั่งการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งถ้าสหภาพแรงงานแห่งเดิมทราบเรื่องนี้ภายใน 15 วันที่มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานแห่งใหม่ และเห็นว่ามีความผิดพลาด ก็สามารถแจ้งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้เพิกถอนหรือมีการตรวจสอบคำสั่งจดทะเบียนสหภาพแรงงานแห่งใหม่ได้

(2) ภายหลังการจัดตั้ง “สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ เวิร์คส์” เรียบร้อยแล้ว บริษัทได้มีการยื่นข้อเรียกร้องสวนต่อสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย เพื่อขอยกเลิกข้อตกลงสภาพการจ้างเดิมที่เคยปฏิบัติมาทั้งหมด รวมถึงการยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมเรื่องการไม่ปรับขึ้นเงินโบนัสและจำนวนเงินขึ้นประจำปีเป็นเวลารวม 3 ปี

อีกทั้งบริษัทก็ยังได้ใช้สิทธิปิดงาน ทำให้พนักงานจำนวน 44 คน ที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ไม่ได้รับค่าจ้างมาตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมา ทั้งนี้บริษัทกล่าวอ้างว่าได้มีการจัดทำข้อตกลงสภาพการจ้างงานฉบับใหม่แล้ว กับ “สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ เวิร์คส์” ที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่แทนเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556

และบริษัทก็ยังมีประกาศห้ามพนักงานที่ทำงานอยู่เข้าร่วมหรือเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย มิฉะนั้นบริษัทจะดำเนินการทางวินัยและทางกฎหมายกับพนักงานอย่างเด็ดขาด

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า

(1) บริษัท สแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด มุ่งที่จะทำลายหลักการแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง รวมถึงยังทำลายปรัชญาของการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การแสวงหาและคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง และการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกัน

(2) จากข้อมูลของบริษัท สแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด ที่เผยแพร่ผ่านจดหมายข่าวรอบรั้วสแตนเล่ย์เดือนกรกฎาคม 2556 ระบุว่าในอนาคตอันใกล้นี้บริษัทจะมีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนมาที่โรงงานประเทศไทย เพื่อที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตให้มากขึ้น เพิ่มโอกาสในการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโอกาสในการทำงานล่วงเวลาของพนักงาน นี้คือสิ่งบ่งชี้สำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของบริษัท ซึ่งขัดแย้งเป็นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการที่บริษัทอ้างต่อสหภาพแรงงาน สแตนเล่ย์ ประเทศไทย ว่าประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจตลอดจนการแข่งขันทางธุรกิจอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถจ่ายโบนัสและปรับเงินขึ้นประจำปีได้

(3) แรงงานในระบบที่ทำงานในสถานประกอบการตามย่านอุตสาหกรรมต่างๆ ยังไร้สิทธิ ไร้โอกาส ไร้อำนาจ และนำมาสู่การไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยยังไม่รับรองอนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง อีกทั้งพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ก็มีบทบัญญัติที่ขัดแย้งกับสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมหลายมาตรา และนำไปสู่การเป็นช่องว่างในการทำลายสิทธิในสหภาพแรงงานเหมือนดั่งในกรณีนี้ ที่ไม่สามารถคุ้มครองนักสหภาพแรงงานได้จริง อีกทั้งหากพิจารณารัฐธรรมนูญปี 2550 โดยเฉพาะในมาตรา 64 และ มาตรา 211 รัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิแรงงานในการจัดตั้งกลุ่ม สมาคม ดังนั้นการล้มสหภาพแรงงานแห่งเดิมนี้ ถือเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทยอีกด้วย

(4) ช่องว่างของ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 บ่งบอกให้เห็นชัดเจนว่า ประเทศไทยยังมิใช่ประเทศนิติรัฐ เพราะยังเปิดโอกาสให้นายทุนและรัฐสามารถย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นนักสหภาพแรง งานได้โดยง่าย อันแสดงถึงความแข็งกระด้างของการใช้กฎหมาย ที่เน้นเพียงแค่มิติทางด้านอำนาจรัฐและทุนเพียงเท่านั้น ซึ่งมิได้นำมาซึ่งความยุติธรรมที่แท้จริง อีกทั้งยังนำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวของแรงงานอีกด้วย จึงพบว่า

(4.1) กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ประเทศไทยไม่รับรองสิทธิการชุมนุมในโรงงาน ครั้นมาชุมนุมหรือนัดหยุดงานนอกโรงงาน เช่น ในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม ผู้นำแรงงานก็มักถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาในข้อหาบุกรุกหรือละเมิด สิทธิการครอบครองทำประโยชน์ของธุรกิจ มีภาระในการต่อสู้คดีและกู้ยืมเงินเพื่อหาหลักทรัพย์มาประกันตัว เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในประเทศไทย

(4.2) คดีด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ขึ้นศาลแรงงาน ก็พบว่า มักจบด้วยการที่ศาลพิพากษาให้แรงงานรับเงินค่าเสียหายแทนการกลับเข้าทำงาน อ้างเหตุว่า นายจ้างไม่ต้องการแรงงานแล้ว ไปทำงานก็คงขัดแย้งและไม่มีความสุข ซึ่งคำถามก็คือว่า ศาลมิได้แสดงเหตุผลทางกฎหมายให้เห็นว่าศาลใช้หลักความเป็นธรรมอย่างไร ทั้ง ๆเรื่องนี้คือการสร้างความมั่นคงในการทำงาน การปกป้องเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง

(4.3) มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่า นายจ้างมีสิทธิที่จะไม่มอบหมายงานให้แก่แรงงานได้ ตราบใดที่ยังจ่ายค่าจ้างให้ เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องมอบหมายงาน เราจึงพบว่าการกลั่นแกล้งผู้นำแรงงานโดยการไม่มอบหมายงานให้ แต่จ่ายค่าจ้างให้ตามปกติ ทั้งที่ว่าไปแล้ว การไม่ให้ผู้นำแรงงานเข้าโรงงานหรืออยู่ในกระบวนการทำงาน เป็นการตัดขาดผู้นำแรงงานออกจากแรงงาน คนอื่นๆ ภาวะเช่นนี้นำมาสู่ความไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และในที่สุดผู้นำก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ผู้นำแรงงานได้อีกต่อไป

(5) บริษัท สแตนเล่ย์ เวิร์คส์ เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ก็ย่อมสะท้อนให้เห็นวิธีคิด/วัฒนธรรมเรื่องสหภาพแรงงานของนายทุนอเมริกัน อย่างยากจะหลีกเลี่ยง ที่อเมริกา ทุนเป็นปรปักษ์กับสหภาพแรงงานอย่างร้ายกาจ นายจ้างมักพยายามทำทุกวิธีการที่จะให้สถานประกอบการปลอดสหภาพแรงงาน เช่น การถ่วงเวลาไม่ให้มีการตั้งสหภาพแรงงาน การรณรงค์ให้ข้อมูลที่เป็นปรปักษ์ต่อคนงาน และการกำจัดสหภาพแรงงานอย่างเปิดเผย ระบบแรงงานสัมพันธ์ของสหรัฐ มักเน้นการจัดความสัมพันธ์ของนายจ้างกับลูกจ้างในลักษณะปัจเจกบุคคลมากกว่า ให้ความสำคัญระบบตัวแทนคนงานของสหภาพแรงงาน

(6) ปัญหาทั่วไปของนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ คือ เขตปลอดสหภาพแรงงาน เพราะเป็นเขตการลงทุนที่ใช้ค่าแรงถูกมาเป็นแรงจูงใจ เพราะฉะนั้นการมีสหภาพแรงงานก็ถือเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน การเรียกร้องนำมาซึ่งต้นทุนหรือค่าจ้างหรือสวัสดิการสูงขึ้น อีกทั้งรัฐบาลไทยก็มักตีความกฎหมายแบบเคร่งครัด ดั่งคนมีวิสัยทัศน์แคบๆ มองเพียงว่าการที่จะเลิกจ้างใครเป็นอำนาจของนายจ้างที่จะกระทำได้

เพราะการเป็นคนงานเชิงเดี่ยวแบบสหภาพสถานประกอบการ จึงทำให้แรงงานมักต้องเผชิญกับความหวาดกลัวที่จะถูกเลิกจ้างอยู่ตลอดเวลา เฉกเช่นลูกไก่ในกำมือของนายจ้าง จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด เพราะชีวิตที่ต้องอยู่กับการพึ่งพาเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนเพียงอย่างเดียว

ทั้งที่ว่าไปแล้วนายจ้างไม่ใช่ผู้มีพระคุณหรือผู้อุปถัมภ์ และแรงงานคนๆหนึ่งก็เป็นมนุษย์ มีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมในการแบ่งปันผลกำไร นายจ้างได้กำไรก็เพราะมือเล็กๆของแรงงาน การที่นายจ้างใช้แนวคิดการสร้างความกลัวให้คนงานก็เพื่อไม่ให้เกิดประชาธิปไตยในโรงงานนั้นเอง

ล่าสุด 11พ.ย.56 กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ย่านเวลโกรว์ เข้าร่วมรับฟังแนวทางการไกล่เกลี่ยระหว่างสหภาพสแตนเล่ย์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายสมาชิกกลุ่มฯ นายจ้างและเจ้าหน้าที่ส่วนกลางกระทรวงแรงงาน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า