Thai / English

สร.เอ็นเอ็กซ์พีร้องอธิบดี กลับเข้าทำงานเจอเงื่อนไขโอทีบังคับ



01 .. 56
http:

นายวัลลภ ชูจิตร์ ประธานสหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 เวลา 15.00 น. ตนพร้อมกรรมการสหภาพฯ 5 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อดำเนินการให้นายจ้างบริษัทเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง ทบทวนและยกเลิกการกระทำต่อพนักงานที่สหภาพฯถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายแรงงาน โดยอธิบดีกรมสวัสดิ์ฯกล่าวว่าจะให้เจ้าหน้าที่แรงงานฯทั้งจากส่วนกลางและพื้นที่ลงไปสอบข้อเท็จจริงที่บริษัทฯก่อนดำเนินการขั้นต่อไป

นายวัลลภเปิดเผยถึงสาเหตุที่ต้องเข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่า เพราะหลังจากที่เกิดข้อพิพาทแรงงานตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 จนกระทั่งมีการทำข้อตกลงกันเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 ให้ส่งข้อพิพาทเฉพาะที่ยังตกลงกันไม่ได้คือเรื่องระบบการทำงาน 4 วัน หยุด 2 วันให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.)วินิจฉัยชี้ขาด ซึ่ง ครส.ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 สอดคล้องกับความเห็นของกองนิติกร กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่า ตามที่บริษัทฯเสนอรูปแบบการทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน โดยให้มีเวลาทำงานปกติวันละ 7 ชั่วโมง ถือว่าไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

นายวัลลภกล่าวว่าวันเดียวกันนั้น บริษัทฯก็มีหนังสือแจ้งต่อสมาชิกสหภาพแรงงานที่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงานให้เข้ารายงานตัวในวันที่ 21-24 มิถุนายน 2556 และแจ้งแนวทางปฏิบัติให้พนักงานที่ลงทะเบียนขอกลับเข้าทำงานแล้วหยุดงานไปก่อนโดยบริษัทฯจะจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติ และจะติดต่อผ่านโทรศัพท์หรือ SMS แจ้งให้พนักงานกลับเข้ามาเริ่มปฏิบัติงานหรือต้องเข้ารับการอบรมก่อน กรณีไม่ได้รับการติดต่อจากบริษัทฯ พนักงานก็ต้องเป็นฝ่ายติดต่อบริษัทฯเอง

ต่อมาวันที่ 25-26 มิ.ย มีพนักงานถูกเรียกเข้าไปเป็นกลุ่มกลุ่มละ 30-40 คน แบ่งเป็นรอบเช้ารอบบ่าย โดยมีพนักงานเล่าให้ฟังว่าไม่ได้ให้ทำงานผลิตหรืออบรมแต่อย่างใด แต่ให้คุยกับหัวหน้างานทีละคน ซึ่งมีการพูดคุยถึงเรื่องอาจจะถูกเลิกจ้างแล้วสหภาพจะช่วยได้อย่างไร และพนักงานต้องเซ็นยินยอมทำงานล่วงเวลา(โอที)ล่วงหน้า 1 เดือนเริ่ม 26 มิ.ย. ถ้าพนักงานคนใดยอมเซ็นก็ให้เข้าทำงานวันรุ่งขึ้นทันที ส่วนผู้ที่ไม่ยอมเซ็นก็ให้คุยกับ HR หรือให้กลับบ้านรอเรียกตัว

นายวัลลภแสดงความเห็นว่า “บริษัทฯไม่ควรสร้างเงื่อนไขใดๆในการกลับเข้าทำงานอีกแล้ว เพราะเมื่อ ครส.วินิจฉัยชี้ขาดออกมาแล้วก็ควรยุติตามข้อตกลงที่ทำกันไว้เมื่อวันที่ 29 เมษา และก็เป็นไปตามความต้องการของบริษัทฯที่ต้องการระบบการทำงานแบบ 4 หยุด 2 แล้วด้วย สหภาพฯจึงต้องคัดค้านไปยังบริษัทฯและร้องต่ออธิบดีกรมสวัสดิ์ฯ เพราะถือว่าบริษัทฯละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 24 ว่าด้วย ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราวๆไป”

ทั้งนี้นายวัลลภยังได้กล่าวถึงผลกระทบต่อพนักงานซึ่งเป็นกลุ่มที่ยอมทำงานในแบบ 4 หยุด 2 มาตั้งแต่ช่วงบริษัทฯกับสหภาพฯมีข้อพิพาทกันอยู่ โดยเห็นชัดว่าค่าจ้างไม่รวมโอทีในแต่ละวีค(รอบเงินออก)ลดลงจากเดิมที่ได้วีคละ 12 วัน จะเหลือเพียง 9-10 วัน โดยค่าจ้างลูกจ้างรายวัน 1เดือนเท่ากับ 28 วันแบ่งเป็น 2 วีค ทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ ซึ่งลูกจ้างก็จะต้องทำโอทีเพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป โดยกะเช้า(07.00-15.00 น.)ทำโอทีช่วง 15.00-19.00 น. ส่วนกะดึก(23.00-07.00 น.)ทำโอทีระหว่าง19.00-23.00 น.ซึ่งเป็นเวลาก่อนเข้างานปกติ หากใครไม่ทำโอทีต้องขออนุญาตหัวหน้าก่อนและจะมีผลกระทบกับสิทธิอื่นๆ

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน