Thai / English

กสร.เผยพิษค่าจ้าง 300 บาท 5 เดือนเลิกจ้าง 1.3 พันคน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประเมินผลกระทบปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในรอบ 5 เดือน พบถูกเลิกจ้างกว่า 1.3 พันคน ห่วงลูกจ้างเก่าขาดขวัญ-กำลังใจทำงาน เหตุรายได้เท่า พนง.ใหม่

19 .. 56
เครือมติชน

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นายอาทิตย์ อิสโม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ว่า จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-17 มิถุนายน 2556 มีสถานประกอบการที่อยู่ในข่ายบังคับทั้งหมด 359,325 แห่ง ลูกจ้าง 7,744,882 คน ในจำนวนนี้มีสถานประกอบการที่ผ่านการตรวจการปรับขึ้นค่าจ้างแล้ว จำนวน 24,237 แห่ง ลูกจ้าง 1,023,551 คน และมีสถานประกอบการปฏิบัติไม่ถูกต้อง จำนวน 508 แห่ง ลูกจ้าง 7,785 คน นอกจากนี้ มีลูกจ้างยื่นคำร้องเรียนนายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่า จ้าง 67 คำร้อง อยู่ในสถานประกอบการ 62 แห่ง ลูกจ้าง 112 คน ดำเนินการไปแล้ว 54 คำร้อง ลูกจ้าง 82 คน ขณะเดียวกันการเลิกจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่ามีสถานประกอบการปิดกิจการ ทั้งหมด 69 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 4,136 คน ในจำนวนนี้มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 4 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 336 คน เลิกจ้างบางส่วน 36 แห่ง ลูกจ้าง 1,049 คน

นายอาทิตย์กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบสถานประกอบการพบว่า การไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายมี 2 ลักษณะ คือ 1.ผู้ประกอบการเข้าใจผิดนำสวัสดิการไปรวมกับค่าจ้าง และ 2.ผู้ประกอบการจงใจไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งหากพนักงานตรวจแรงงานพบว่าเป็นความเข้าใจผิดก็จะให้คำแนะนำเพื่อให้ ปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่หากเป็นการจงใจฝ่าฝืนก็จะออกเป็นคำสั่งให้ปฏิบัติตามกฎหมายทันที ทั้งนี้หลังจากได้รับคำแนะนำหรือคำสั่งสถานประกอบการส่วนใหญ่ต่างปฏิบัติตาม ด้วยดี อย่างไรก็ตาม หากไม่ปฏิบัติตามก็จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 144 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"จากการประเมินการปรับขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่าสถานประกอบการส่วนใหญ่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน และการเลิกจ้างก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่น่ากังวลคือ ขณะนี้พบว่าลูกจ้างใหม่และลูกจ้างเก่ายังมีอัตราค่าจ้างที่เท่ากัน กสร.จึงแนะนำให้นายจ้างใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์ในการดูแล เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างให้กับลูกจ้างเดิม หรือการเพิ่มสวัสดิการ เพื่อให้ลูกจ้างเดิมมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน" นายอาทิตย์กล่าว