Thai / English

เสียงจาก “พิพิธภัณฑ์ฯ” ถึง “มักกะสันคอมเพล็กซ์”



20 .. 56
http://voicelabour.org

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ก่อให้เกิดการคัดค้านการสร้างศูนย์การค้าขนาดยักษ์ “มักกะสันคอมเพล็กซ์” บนพื้นที่กว่า 700 ไร่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในบริเวณใจกลางกรุงเทพฯ คือ ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานไทย โดยมีประจักษ์พยานสำคัญคือ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

ในวันที่ยังไม่มีข้อสรุปว่าอนาคตที่ดินผืนนี้จะเป็นอย่างไร สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNewsTV พาไปสนทนากับ วิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ทั้งเพื่อทำความรู้จักกับพิพิธภัณฑ์อายุกว่าสองทศวรรษแห่งนี้ และรับฟังความเห็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ต่อโครงการ มักกะสันคอมเพล็กซ์ที่กำลังมีการผลักดัน

ความเป็นมาของ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ?

“พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2536 เปิดครั้งแรกนะครับ แต่ก่อนหน้านั้นมีการเตรียมงานกันเป็นปีนะ ปีกว่า ๆ เลยทีเดียว ตั้งแต่ปี 2534 ปลาย ๆ

ก็ภายหลังการรัฐประหารของ รสช. ขบวนการแรงงานได้รับผลกระทบมาก ก็มีความคิดกันว่าจะนำเสนอเรื่องราวของผู้ใช้แรงงานยังไงให้สังคมได้รับรู้ ทั้งนี้เพื่อต้องการที่จะรักษาประวัติศาสตร์ของแรงงาน รวมทั้งคุณค่าของแรงงานที่สังคมไม่ค่อยได้รับรู้

และการที่สังคมไม่ได้รับรู้ ก็ทำให้แรงงานได้รับการปฏิบัติที่ไม่ค่อยเท่าเทียวกับคนอื่น ๆ ในสังคม เช่น กลุ่มธุรกิจ อุตสาหกรรม

เมื่อเกิดรัฐประหารก็มีความคิดที่จะแยกสลายขบวนการแรงงาน ก็เลยคิดว่าจะใช้ประวัติศาสตร์เป็นตัวที่เชื่อมร้อยแรงงานเข้าด้วยกัน และให้สังคมได้รับรู้คุณค่าของแรงงาน ที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศมาด้วยครับ

วิธีที่ง่ายที่สุด คือการทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา เพื่อทำให้คนได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ง่าย ๆ ได้เห็นสิ่งของ ได้เห็นภาพถ่าย ได้รู้เรื่องราวแบบกระชับแบบนี้ ก็ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2536 โดยใช้พื้นที่ของการรถไฟ”

คุณค่าและความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ ?

“เป็นอาคารเก่า ที่เราใช้ทำพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยนะครับ เป็นอาคารเก่าของการรถไฟที่น่าจะมีอายุสัก 70 – 80 ปี แรกๆเคยถูกใช้เป็นสถานีอนามัย ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นโรงพยาบาลไปสร้างใหญ่ อันนี้เป็นสวัสดิการการต่อสู้ของคนงานรถไฟในเรื่องสวัสดิการ ที่มาสู่พี่น้องรัฐวิสาหกิจ และคนทำงานทั่ว ๆ ไปด้วย จากจุดเริ่มต้นมักกะสันนี้ สักประมาณสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง

ต่อมาอาคารนี้ถูกใช้ไปเป็นสถานีตำรวจรถไฟ เราจะเห็นร่องรอยที่เป็นลูกกรงขัง หลังจากนั้นก็ถูกนำมาใช้เป็นที่ทำงานของสหภาพการรถไฟ ใช้มาจนเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ก็จะถูกทิ้งร้างไป คล้าย ๆ จะโดนรื้อทิ้ง จะทุบทิ้ง

ทีนี้กลุ่มที่คิดจะทำพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ก็เลยคิดว่า อาคารสถานที่นี้ มันมีประวัติศาสตร์ในตัวของมันเอง มีร่องรอยของการถูกคุกคามจากยุค 6 ตุลา พื้นที่นี้ก็มีประวัติศาสตร์ของแรงงานมายาวนาน อาคารนี้เลยสรุปร่วมกันว่ามันเหมาะสมที่จะนำมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เพราะว่ามันมี่เรื่องราวของประวัติศาสตร์ เรื่องราวของผู้คน ทั้งตัวอาคารของมันด้วย ที่บอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับผู้ใช้แรงงาน”

การรับรู้เรื่องโครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ ?

“ได้ยินมานานครับ ได้ยินก่อนกลุ่มอื่น เพราะเราเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โครงการนี้เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 44-45 ที่เราเริ่มได้รับข่าว และทาง รฟท. ได้เชิญเข้าไปเพื่อรับฟัง”

มีความเห็นอย่างไรต่อโครงการ ?

“เห็นด้วยในการใช้พื้นที่ไปสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาของ รฟท. ในฐานะที่เขาเป็นเจ้าของ เราคิดว่าก็เป็นธรรม แต่เราก็คิดว่ามันไม่จำเป็นต้องไปสร้างทั้งหมด

คิดว่าการที่จะสร้างพัฒนาไปเป็นตึกทั้งหมด จะนำมาซึ่งปัญหามากมายทั้งมลพิษ สิ่งแวดล้อม การจราจรที่ทุกวันนี้ก็แย่อยู่แล้ว ปัญหาแหล่งเรียนรู้ สิ่งที่เป็นคุณค่าที่จะควบคู่ไปกับการพัฒนามักกะสัน

เราคิดว่ามันน่าจะทำควบคู่กันไปได้คือ รฟท. ก็ไม่สร้างเต็มพื้นที่ แล้วเหลือพื้นที่ไปทำเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้”

หลังรับรู้ ได้ดำเนินการอะไรบ้าง ?

“เขาบอกว่ามีโครงการและรับฟังความคิดเห็น เราก็เสนอไปว่าให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนามักกะสันได้ไหม

และเราก็ทำเรื่องไปว่า สถานที่นี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ เป็นศูนย์การเรียนรู้ของนักศึกษา และสถานที่ท่องเที่ยว

คณะกรรมาธิการการแรงงานสมัยปี 2548 ก็มีมติให้การรถไฟอนุรักษ์พื้นที่นี้ไว้ ประมาณหนึ่งไร่ คือสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ หรือถ้ามีการปรับปรุงภูมิทัศน์ก็ให้มีการอนุรักษ์เอาไว้ เป็นมติของกรรมาธิการซึ่งส่งมาถึงการถไฟ”

สิ่งที่กังวลคืออะไร ?

“ได้รับผลกระทบในแง่ความไม่ชัดเจน คือ รฟท. อาจไม่ปฏิบัติตามมติที่กรรมาธิการออกมา”

…ขวัญชนก เดชเสน่ห์ ถ่ายภาพ

…วรัญญา จันทราทิพย์ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNewsTV รายงาน