หวัง 20 ปีโศกนาฏกรรมเคเดอร์ สร้างบทเรียนคุ้มครองความปลอดภัยคนงานปิยวรรณ์ อ้วนตรงต้น รายงาน 09 .. 56 ประชาไท (8 พ.ค.56) ในวาระ 20 ปีโศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เครือข่ายแห่งเอเชียเพื่อสิทธิของผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม (Asian Network for the Rights of Occupational and Environmental Victims ANROEV) จัดการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับลูกจ้างที่ถูกลิดรอนสิทธิ ที่ห้องบอลรูมคริสตัลใหม่ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สีลม กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2556 ยงยุทธ เม่นตะเภา เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะตัวแทนเครือข่ายฯ จากประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญและการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้แรงงานว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังใช้หลักการทำงานชั่วโมงที่ยาวนาน รวมถึงค่าจ้างราคาถูก โดยมองว่าแรงงานนั้นคือต้นทุนอย่างหนึ่ง ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยเท่าไหร่นัก ซึ่งในนามคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้รณรงค์กับรัฐบาลในวันกรรมกรสากลทุกปี ให้คำนึงถึงความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งก็สำเร็จไปในส่วนหนึ่ง แต่ยังมีบางประเด็นที่ยังขาดการมีส่วนร่วมจากสหภาพแรงงาน ดังนั้น จึงหวังว่า 20 ปีของเคเดอร์ จะเป็นบทเรียนที่ทำให้เครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานร่วมกันได้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันเพื่อนำมาสู่การรณรงค์ ทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับความปลอดภัยในการทำงาน ด้านตัวแทนจากประเทศฮ่องกง ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์เคเดอร์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นความเสียหายและเป็นภัยพิบัติอย่างหนึ่ง เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว หวังว่า ไทยจะเป็นที่ๆ สามารถจัดการและร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมไปถึงความยุติธรรมได้ เขาเล่าว่า ขณะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ คิดว่าเป็นอุบัติเหตุธรรมดาที่เกิดขึ้น แต่ต่อมากลับมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยขณะนั้นได้พยายามติดต่อกับนักลงทุนซึ่งเป็นชาวฮ่องกง เพื่อผลักดันให้เกิดการพูดคุยกันขึ้น "มีผู้เสียหายสามคนที่เดินทางไปฮ่องกงเพื่อพูดคุยและเจรจากับทางนักลงทุน แต่ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าเขาจะยอมพูดคุยด้วย และเรายังมีการประสานงานองค์กรที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ในฮ่องกงด้วย มีการไปประท้วงหน้าหอการค้า และส่งหนังสือร้องเรียนไปที่คณะกรรมการของบริษัทดังกล่าว เขาก็ปรากฏตัวและตั้งโต๊ะเจรจากับเรา และได้ข้อตกลงว่าจะมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เสียหาย" ตัวแทนประเทศฮ่องกงกล่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการจัดตั้งเครือข่ายขึ้นเพื่อประสานงานกับองค์กรต่างๆ จนสุดท้ายก็เกิดเป็น ANROVE ขึ้นมา ซึ่งมีความสำคัญมาก ท่ามกลางภัยอันตรายที่เกิดขึ้น สิ่งที่เราทำได้อย่างเดียวคือการจัดตั้งเครือข่ายของผู้เสียหายเพื่อที่ผู้เสียหายจะได้เข้าถึงสิทธิและความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม นอกจากการจัดตั้งองค์กรนี้นอกจากเรื่องค่าเสียหายชดเชยแล้ว สิ่งที่ผู้เสียหายต้องการคือ ไม่อยากเห็นเหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ในอนาคต ดังนั้นจึงควรมีกฎหมายและเครือข่ายที่เข้มแข็งพร้อมจะเคลื่อนไหวเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น อนึ่ง เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2536 เกิดเหตุการณ์โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม ไฟไหม้และตึกถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 188 ศพ บาดเจ็บ 469 ราย ต่อมามีการผลักดันให้วันที่ 10 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ โดยมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 ส.ค.40 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ และให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญในเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน และมีการผลักดันจนเกิด พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 |