Thai / English

"4สหภาพแรงงาน"ร้องถูกเอาเปรียบ เล็งร้องสถานทูตมะกัน-ออสเตรเลีย



14 .. 56
เครือมติชน

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลงข่าวที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กรุงเทพฯ เรื่อง "300 บาทรัฐให้ แต่นายจ้าง..ปล้นไป" ว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบันที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทใน 70 จังหวัด คสรท.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากแรงงาน 2,158 ราย ในหลายกรณี เช่น การปิดโรงงานลอยแพลูกจ้าง ไม่ยอมปรับค่าจ้าง 300 บาท นายจ้างเพิ่มเวลาการทำงานเป็น 9 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) และมีการลดสวัสดิการต่างๆ

นายชาลีกล่าวว่า ขณะนี้มีสหภาพแรงงานจาก 4 บริษัทใหญ่ร้องเรียนกับ คสรท. ได้แก่ 1.สหภาพแรงงานของบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส เพาเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด 2.สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง 3.สมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งแห่งประเทศไทย ในฐานะลูกจ้างบริษัท ลินฟ๊อกซ์ ทรานสปอร์ตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ และ 4.สหภาพแรงงานบริษัทอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าจ้าง 300 บาท "วันที่ 13 มีนาคมนี้

คสรท.จะร่วมกับสหภาพแรงงานทั้ง 4 บริษัท เข้ายื่นข้อเรียกร้องที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย เพื่อแจ้งให้รับทราบเรื่องที่นักลงทุนของประเทศเหล่านี้ที่มาลงทุนในไทย และเข้ามากดขี่แรงงานไทยอย่างไรบ้าง ก่อนจะเดินทางไปชุมนุมต่อที่ทำเนียบรัฐบาล และเข้ายื่นหนังสือต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความเป็นธรรม" นายชาลีกล่าว

ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ กล่าวว่า ปัญหาของแรงงานทั้ง 4 บริษัท ไม่ได้เกิดจากการได้รับผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เพราะแรงงานในบริษัทเหล่านี้ได้ค่าจ้างสูงกว่าวันละ 300 บาท แต่ปัญหาเกิดขึ้นจากการปรับตัวของบริษัท เพื่อให้สามารถแข่งขันทางธุรกิจได้ ทั้งนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ กสร.รับฟังเหตุผลของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งเร่งเจรจาหาข้อยุติโดยเร็วภายใต้เงื่อนไขว่า แรงงานจะต้องไม่เสียสิทธิที่มีอยู่เดิม