เดือด! แรงงานจวกนโยบาย ปู 300 บาท ฆ่ากันทั้งเป็น เล็งประท้วงสถานทูตแรงงานเดือด! นโยบายปู 300 บาท ฆ่าผู้ใช้แรงงานตายทั้งเป็น เล็งยกระดับประท้วงสถานทูตออสเตรเลีย อเมริกา เนเธอร์แลนด์ หลัง รบ.เกรงใจปล่อยทุนข้ามชาติกดขี่13 .. 56 ผู้จัดการ วันนี้ (12 มี.ค.) ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นายไพรวัลย์ เมทา ประธานสหพันธ์แรงงานบริษัทแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ จ.ระยอง กล่าวในการประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาการถูกเลิกจ้างและปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างงานจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทในหัวข้อ 300 บาทรัฐจัดให้แต่นายจ้างปล้นคืน ระหว่างตัวแทนสภาพแรงงาน 4 แห่ง และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ว่า บริษัทมีทุนจดทะเบียนถึง 830 ล้านบาท มีพนักงานกว่า 800 คน ตนและพนักงานเก่าจำนวน 129 ราย ไม่ได้รับการปรับค่าแรงขั้นต่ำและค่าแรงเท่ากับการบรรจุพนักงานใหม่ ซึ่งผู้บริหารนำตัวคนงานเก่าออกจากโรงงานโดยอ้างว่าเป็นตัวปัญหาและถูกเลิกจ้างทั้งหมด โดยทางบริษัทพยายามที่จะสลายสหภาพแรงงาน นำ รปภ. ตำรวจ สภ.อ.บ้านค่าย มาล้อมกรอบเพื่อเลิกจ้างพวกเรา 129 คน และรับพนักงานซับคอนแทรคมาในไลน์ 129 คนแทนทันที พวกเรามาปักหลักชุมนุมด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลแต่ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน นายวินัย จันทร์รักษา ตัวแทนลูกจ้างบริษัทอีกแห่งหนึ่ง กล่าวว่า พนักงานขับรถทำทุกวันไม่มีวันหยุด ส่งของให้กับห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งทั่วประเทศ ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท แต่สภาพคนขับรถต้องขึ้นของลงของเองทั้งหมดห้ามจอดรถหยุดนอน ทำให้คนงานเสียชีวิตหลายรายแล้ว เพราะหลับในชนท้ายเสียชีวิต ซึ่งบริษัททราบแต่ไม่เคยแก้ไขปัญหา วันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่ได้รับเงินเพิ่ม ทางบริษัทพยายามเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเรื่องเรตน้ำมันและระยะกิโลเมตรให้การขนส่งทำเวลาเร็วขึ้นทำไม่ได้ถูกหักเงิน และทางบริษัทได้เลิกจ้างคนงาน 50 คนที่หยุดพักปั้มเข้าห้องน้ำและทำเวลาไม่ได้ตามระยะทาง
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศโดยรัฐบาลพยายามออกข่าวว่ามีคนงานถูกเลิกจ้างเพียง 2 พันคน และมาจากต่างประเทศยกเลิกคำสั่งซื้อ โดยไม่ยอมรับปัญหาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่เจ้าของบริษัทเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานไม่เป็นธรรมบนความเจ็บปวดและคราบน้ำตาของแรงงาน ในหลายสถานประกอบที่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำได้ลดเวลาการทำงานลงเพื่อลดภาระค่าจ้าง การปรับวันทำงาน การปรับการเข้าออกงานใหม่ นโยบายนี้ได้ฆ่าผู้ใช้แรงงานให้ตายทั้งเป็นมีทั้งหาเหตุเลิกจ้าง เพิ่มเวลาการทำงานจาก 5 วัน เป็น 6 วันไม่ปรับค่าแรงเพิ่ม ไม่มีการเพิ่มเงินวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่มีอุปกรณ์ความปลอดภัยคนงาน ทำลายล้างองค์กรสหภาพแรงงาน บางแห่งมีการบังคับให้หยุดงาน เนื่องจากลูกจ้างเป็นรายวัน
ภาครัฐไม่ควรผลักภาระให้ลูกจ้างต่อรองกับนายจ้างตามลำพัง และไม่ควรถูกเลิกจ้าง เราเรียกร้องมาตลอด แต่รัฐไม่ใส่ใจและทำเป็นไม่ได้ยิน ขอประกาศว่าจะไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์แบบนี้อีกแล้ว บทเรียนที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายสถานประกอบการไม่มีการแก้ปัญหาได้จริง ฝ่ายนายจ้าง ก.แรงงาน เพียงแต่เจรจาไกล่เกลี่ยเป็นครั้งๆไป ไม่สามาถแก้ไขความเดือดร้อนของลูกจ้างได้ ซึ่งสะท้อนว่านโยบายเอื้อเอกชน เราจะยกระดับการต่อสู้ถึงที่สุดโดยวันที่ 13 มี.ค.นี้ จะไปกดดันหน้าสถานทูตของบริษัทต่างๆ มาลงทุนในประเทศไทย แต่กลับมากดขี่ขูดรีดคนงานไทย โดยจะไปสถานทูตออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ ให้สถานทูตต่างๆ รับทราบชะตากรรมที่มาทำธุรกิจกับประเทศไทย มาลิดรอนสิทธิลูกจ้างไทย ปธ.คกก.สมานฉันท์แรงงานไทย กล่าว
นายยงยุทธ เม่นตะเภา ที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ไม่สนใจความเป็นอยู่ของพนักงานลูกจ้าง การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจะสร้างความเดือดร้อนไปจนถึง บริษัทซับคอนแทกที่อยู่ตามห้องแถว ขณะนี้สถานะลูกจ้างไม่สามารถต่อรองอะไรได้เลยในสังคม แต่รัฐบาลประเทศไทยอ่อนแอเกินไปที่จะใช้กฎหมายให้ถูกต้องและเกรงใจทุนข้ามชาติ |