ชะตากรรม แรงงานอาเซียน นายจ้างมีตัวเลือกมาก13 .. 56 เครือมติชน ในวงเสวนา "การปรับตัวองค์กรแรงงานก้าวสู่ประชาคมอาเซียน: ผ่านบทเรียนแรงงานหญิงไทยเกรียง" ที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา จัดขึ้นที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ผู้แทนจากองค์กรแรงงานต่างแสดงความกังวลถึงสถานภาพของแรงงานไทยหลังจากประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ "จะเด็จ เชาวน์วิไล" ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า การเข้าสู่อาเซียนจะทำให้สถานการณ์ของแรงงานมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น จะมีคนงานต่างชาติเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานหญิง ซึ่งต่อไปจะไม่ใช่แค่ถูกเอาเปรียบเรื่องค่าจ้าง แต่จะมีปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว และจากปัญหาที่แรงงานหญิงต้องเผชิญอยู่ในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องปรับตัวและมีการออกมาปกป้องแรงงานหญิงในปัญหานี้ด้วย "จะเห็นว่าบทเรียนของชุมชนไทยเกรียงไม่ได้ทำแค่เพียงแรงงานนอกระบบอย่างเดียว แต่มีการลงไปทำงานกับชุมชน เข้าไปช่วยเหลือคนในครอบครัวซึ่งติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าไปเรียกร้องยุติโรงงานแยกก๊าซเพราะกระทบอันตรายต่อชุมชนด้วย สิ่งที่น่าห่วง คือปัญหาแรงงานหญิงถูกคุกคามทางเพศ เพราะเมื่อเข้าสู่อาเซียนอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสหภาพแรงงานต้องออกมาแก้ปัญหาในเรื่องนี้ด้วย และหากคนงานยังดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะทำให้สหภาพแรงงานไม่เข้มแข็ง นำมาสู่ความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ตามมาได้ ดังนั้น องค์กรแรงงานต้องเร่งปรับตัวกับปัญหาที่มีอยู่และปัญหาที่กำลังจะเพิ่มขึ้น ต้องเข้าไปร่วมทำงานกับครอบครัว ซึ่งขณะนี้จะเห็นว่ากลุ่มแรงงานเริ่มเข้าไปทำงานประเด็นผู้หญิงมากขึ้น ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย การศึกษาของลูก ศูนย์เลี้ยงเด็ก อย่างไรก็ตาม ต้องมองมิติการทำงานทางสังคมเพื่อให้ครอบคลุมหาแนวร่วมที่กว้างขวางให้แรงงานเกิดความเข้มแข็ง เพราะที่ผ่านมา แรงงานมีเพียงแนวร่วมเดียวคือ สหภาพแรงงาน จึงจำเป็นต้องมีแนวร่วมชุมชนเพื่อให้กลุ่มต่างๆ ได้เข้ามาสนับสนุนให้การแก้ปัญหาครอบคลุมทุกประเด็น" จะเด็จกล่าว ด้าน "อรุณี ศรีโต" นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (ไทยเกรียง) กล่าวว่า การเปิดอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า ทำให้ตลาดแรงงานเปิดมากขึ้น ยิ่งค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยวันละ 300 บาท ก็ยิ่งทำให้เพื่อนบ้านทั้งลาว พม่า เขมร เข้าประเทศมากขึ้น ดังนั้นคนงานไทยต้องปรับตัว แต่ปัญหาใหญ่คือ แรงงานนอกระบบจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเจ้าของกิจการปัดภาระ จะมีการรับงานจากโรงงานไปทำที่บ้าน ผลที่ตามมาคือ ปัญหาสุขภาพของผู้ใช้แรงงานเพราะทำงานไม่เป็นเวลา ขณะที่ "วิชัย พูดเกิด" ประธานสหภาพแรงงานน้ำใจสัมพันธ์ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นของแรงงานในขณะนี้ว่า แม้จะปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท แต่ไม่มีประโยชน์อะไรเพราะสินค้ามีราคาแพงเพิ่มขึ้นเท่าตัว ขณะเดียวกัน หากมีการเปิดอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องแรงงาน ปัญหาที่ตามมาคือ กฎหมายแรงงานต่างด้าวยังไม่ได้ถูกหยิบยกมาทำความเข้าใจ หากแรงงานต่างด้าวเรียกร้องสิทธิเพิ่มมากขึ้นจะเกิดปัญหากับสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวทันที และหากแรงงานไทยไม่กระตือรือร้นพัฒนาฝีมือ อาจจะตกงานมากขึ้น ส่วน "วรดุลย์ ตุลารักษ์" นักวิจัยอิสระด้านแรงงาน กล่าวว่า ประเทศที่ตื่นตัวมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน คือ อินโดนีเซีย ล่าสุดการนัดหยุดงานครั้งใหญ่กว่า 2 ล้านคน เรียกร้องกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ เรื่องสวัสดิการด้านประกันสุขภาพ ซึ่งรวมไปถึงประชาชนทั่วไป ชาวนา ชาวไร่ หรือคนในสังคมอื่นๆ นอกเหนือจากผู้ใช้แรงงานด้วย ซึ่งรัฐบาลก็ตอบรับข้อเรียกร้องดังกล่าว "อินโดนีเซียก็มีปัญหาคล้ายกับประเทศอื่นคือ เรื่องค่าจ้างต่ำ และการจ้างงานแบบไม่มั่นคง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่พบทั่วกลุ่มอาเซียนในขณะนี้ แต่การเคลื่อนไหวของแรงงานอินโดนีเซียถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กับสังคมอย่างมาก" วรดุลย์กล่าว และว่า เศรษฐกิจอาเซียนเติบโตเร็วมาก เกิดการถ่ายเทแรงงานกันมากขึ้น เมื่อนายจ้างมีตัวเลือกมาก จะใช้วิธีจ้างงานชั่วคราว หรือเซ็นสัญญาในระยะสั้น ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้แรงงานเกิดความไม่มั่นคงในชีวิต และปัญหานี้...ถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ที่ต้องหาทางออกร่วมกัน |