Thai / English

วันสตรีสากล ปี 2556 : แรงงานหญิงต้องมองไปไกลกว่า “ปัญหาในรั้วโรงงาน”


บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
06 .. 56
http://v

แม้ว่าจุดกำเนิดของวันสตรีสากลจะมาจากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของแรงงานหญิงกลุ่มในระบบที่ทำงานในโรงงานสิ่งทอในเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน นำโดย “คลาร่า เซทกิ้น” ผู้นำแรงงานหญิงชาวเยอรมัน ที่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพการทำงาน รวมทั้งลดเวลาทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง จนในที่สุดการต่อสู้มาอย่างต่อเนื่องถึง 3 ปีเต็ม ก็บรรลุความสำเร็จในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910

ในที่ประชุมวันนั้นได้มีผู้แทนแรงงานหญิงจาก 18 ประเทศได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ประชุมได้มีการประกาศรับรองข้อเรียกร้องที่ให้ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานหญิงเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย อีกทั้งยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย รวมทั้งยังได้มีการรับรองข้อเสนอของ คลาร่า เซทกิ้น ด้วยการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล

หลังจากนั้นผู้หญิงจากแทบทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ใช้วันสตรีสากลเป็นสัญลักษณ์เฉลิมฉลองและรำลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้อันยาวนาน เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาค ความยุติธรรม สันติภาพและการพัฒนา

สำหรับในประเทศไทยแล้วการทำงานประเด็นผู้หญิงมีหลากหลายกลุ่ม-หลายหลายระดับของประเด็นและความเคลื่อนไหว แต่ทุกๆปีจะพบว่าการเคลื่อนไหวในวันสตรีสากล ที่นำโดยกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2536 โดยเป็นการรวมตัวของเครือข่ายแรงงานหญิงจากหลายภาคอุตสาหกรรมที่มารวมกลุ่มกัน โดยมีเป้าหมายในการรณรงค์เชิงนโยบายให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของแรงงานหญิง เพื่อแสวงหาหนทางจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นรวมถึงการพัฒนากลไกเชิงรูปธรรมต่อไป จะมีความโดดเด่นในการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐ

โดยเฉพาะในเรื่องการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กที่สอดคล้องกับรูปแบบการจ้างงานสำหรับแรงงานหญิงที่ทำงานในย่านอุตสาหกรรม , การผลักดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดาในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องมาจากการคลอดบุตร การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก โดยให้บิดาสามารถลางานมาดูแลบุตรและมารดาหลังคลอดบุตรได้ และรวมถึงการเพิ่มบทบาทแรงงานหญิงในเรื่องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและวางแผนในระดับนโยบาย ทั้งคณะกรรมการไตรภาคีด้านแรงงาน และการมีสัดส่วนนักการเมืองหญิงเพิ่มขึ้นในทุกระดับ

อย่างไรก็ตามเมื่อมาพิจารณาสถานการณ์การจ้างงานในยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ จะพบว่าประเด็นที่กลุ่มแรงงานหญิงที่ออกมาเคลื่อนไหวในวันสตรีสากล จึงยังไม่สามารถครอบคลุมปัญหาที่แรงงานหญิงกลุ่มอื่นๆนอกรั้วโรงงานเผชิญอยู่ทุกวันได้จริง และปัญหาที่เสนอจึง “กลายเป็นเพียงปัญหาแรงงานหญิงที่อยู่ในรั้วโรงงานเท่านั้น”

กล่าวได้ว่าเมื่อมาพิจารณาสถานการณ์การจ้างงานในปัจจุบัน พบว่า ได้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตแรงงานหญิงอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างของการจ้างงานที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ เกิดการลดลงของสถานประกอบการขนาดใหญ่ แปลงสภาพเป็นสถานประกอบการมีขนาดเล็ก ขนาดกลางมากขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานหญิง มีการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานแบบเหมาช่วง

ในขณะเดียวกันก็มีการเติบโตของภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ในปี 2556 มีแรงงานอยู่ในภาคนี้กว่า 24.8 ล้านคน โดยเป็นแรงงานหญิงนอกระบบสูงถึง 11.4 ล้านคน รวมทั้งยังมีการเพิ่มขึ้นของแรงงานหญิงผู้สูงอายุในชุมชน การเข้ามาของแรงงานหญิงข้ามชาติ และการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของแรงงานหญิงไทยก็ยังคงมีต่อเนื่อง

สถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลต่อความไม่สมดุลของความต้องการแรงงานและการผลิตแรงงาน ทำให้เกิดปัญหาในเชิงโครงสร้างตลาดแรงงานติดตามมา รวมถึงความซับซ้อนของการจ้างงานยิ่งทำให้อำนาจต่อรองต่ำ ส่งผลให้แรงงานหญิงกลุ่มต่างๆ จึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ทั้งความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากรูปแบบการจ้างงาน ความไม่เป็นธรรมจากระบบค่าจ้างหรือค่าตอบแทน ความไม่เป็นธรรมจากการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการได้ไม่เท่าเทียมกัน

เหล่านี้คือภาพสะท้อนสำคัญเรื่องการเข้าไม่ถึงการคุ้มครองทางกฎหมาย ที่แรงงานหญิงยังไม่สามารถใช้สิทธิหรือเข้าถึงสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย ได้แก่ กองทุนเงินทดแทน ระบบสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ระบบประกันสังคม และการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และกระบวนการยุติธรรม

ทั้งยังมีปัญหาด้านค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่าจะมีบทบัญญัติของกฎหมายและกลไกทางกฎหมายที่ค่อนข้างชัดเจน จึงทำให้เกิด “ช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในกลุ่มแรงงานหญิงอย่างชัดเจน”

ดังจะเห็นจากปรากฏการณ์ด้านการละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่อง เช่น การร้องเรียนเนื่องจากการเข้าไม่ถึงสิทธิด้านประกันสังคม ด้านสุขภาพความปลอดภัย และการเลิกจ้างหรือได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมที่มีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ปัญหาความไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการจ้างงานยังเกิดกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติผู้หญิงอีกด้วย ทำให้เกิดเป็นปัญหาที่ซ้อนทับกันและมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นจากปัญหาพื้นฐานเดิม

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่ารูปแบบการจ้างงานยังมีความสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำในเรื่องระดับการเข้าถึงสวัสดิการที่ที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มแรงงานหญิงในระบบที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมมีระดับของการเข้าถึงสวัสดิการที่สูงกว่ากลุ่มแรงงานหญิงนอกระบบ กลุ่มแรงงานหญิงข้ามชาติ หรือกลุ่มแรงงานหญิงในกลุ่มเหมาช่วง –เหมาค่าแรง

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายจึงต้องลดการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานหญิงไปพร้อมๆ กับการพัฒนาระดับการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการด้วย โดยนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ควรมีความลักลั่นหลายมาตรฐาน แต่ต้องปฏิบัติให้เท่าเทียมกันในแรงงานหญิงทุกกลุ่มทุกชนชั้น ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มแรงงานหญิงในระบบที่อยู่ในสถานประกอบการเท่านั้น

รวมถึงอีก 2 ปีข้างหน้า คือ ปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แต่จากการสำรวจของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 พบว่า แรงงานไทยยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนน้อยเนื่องจากการเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริงแล้วการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะผลกระทบต่อแรงงานในประเทศไทยอย่างแน่นอน

ไม่ว่าจะเป็น

(1) แรงงานในระบบในระดับล่างมีแนวโน้มจะตกงานมากขึ้น กล่าวคือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้นักลงทุนชาวไทยย้ายไปลงทุนในประเทศอื่นได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการจ้างแรงงานไทยภายในประเทศ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ อาจต้องหยุดชะงักลง หรือมีการไปจ้างทำการผลิตในต่างประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า (Outsourcing) ซึ่งสามารถกระทำได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในไทยบางประเภทมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า เช่น พวกสิ่งทอ รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง ดังนั้นเมื่อนายทุนไปจ้างทำของในประเทศอื่นก็จะทำให้โรงงานในประเทศไม่สามารถเปิดทำงานและแรงงานไม่มีงานทำดังเช่นปกติ ซึ่งสามารถนำไปสู่วิกฤตการณ์การว่างงานในอัตราส่วนที่สูงและเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

(2) การเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษมากขึ้น เพราะการรวมตัวของอาเซียนจะทำให้เกิดการย้ายทุนเสรี ในขณะเดียวกันทุนการเคลื่อนย้ายเสรีจะพยายามสร้างประโยชน์จากแรงงานที่ติดอยู่กับพื้นที่ เพราะแรงงานเหล่านี้จะถูกล็อกไม่ให้เคลื่อนที่ เนื่องจากกฎหมายต่างๆไม่เอื้อ และรวมทั้งรัฐบาลก็พยายามที่จะให้ประโยชน์กับทุนที่เข้ามาหาประโยชน์ เช่นการลงทุนที่ไม่ต้องเสียภาษี มีสิทธิประโยชน์ต่างๆมากมาย ซึ่งจะทำให้แรงงานที่ติดอยู่กับพื้นที่ก็จะถูกขูดรีดมากขึ้น ในขณะที่ทุนก็มีอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยการอ้างว่าจะย้ายฐานการผลิต เป็นต้น

สถานการณ์ทั้ง 2 ข้อที่กล่าวมาจึงนำมาสู่จ้างงานแบบยืดหยุ่น-นอกระบบมากขึ้น การจ้างงานแรงงานประจำในโรงงานหรือสถานประกอบการลดลง แรงงานในลักษณะนี้จะเป็นการจ้างงานแบบชั่วคราวหรือจ้างตามฤดูกาล

แต่พบว่าทุกวันนี้ระบบสวัสดิการและการคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิและบริการของแรงงานกลุ่มนี้ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน

คำถาม คือ ในอนาคตจะมีการจัดระบบสวัสดิการของแรงงานเหล่านี้อย่างไร และจะให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างไร หรือแรงงานของไทยที่จะส่งออกไปนอกประเทศ จะมีนโยบายที่ชัดเจนอย่างไร

เช่น ระบบประกันสังคมจะเป็นอย่างไร เพราะถ้ารวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน หมายความว่าแรงงานจะมีการเคลื่อนย้าย แล้วแรงงานที่เคลื่อนย้ายไปประเทศอื่นจะเข้าถึงสิทธิประกันสังคมอย่างไร รวมถึงต้องคิดด้วยว่าจะจัดการปฏิรูประบบคุ้มครองแรงงานอย่างไร หรือการจัดการระบบการศึกษาที่เอื้อต่อคนทำงานที่จะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อยกระดับตัวเองให้สามารถเข้าไปสู่การจ้างงานแรงงานแบบใหม่ๆ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายแรงงานให้มีมิติในการมองถึงความเป็นธรรมต่างๆ เหล่านี้ด้วย

นี้ไม่นับเรื่องการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในด้านทัศนคติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและลดข้อขัดแย้งต่างๆของแรงงานกลุ่มต่างๆโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ที่ต้องมาทำงานร่วมกับแรงงานไทยที่มีวัฒนธรรมหรือรูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นผู้หญิงเหมือนกัน

เหล่านี้คือสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานหญิงอย่างยิ่ง และจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปว่าปัญหาแรงงานหญิงในรั้วโรงงาน เป็นภาพสะท้อนสำคัญถึงความเหลื่อมล้ำของแรงงานหญิงกลุ่มต่างๆในประเทศไทยเป็นอย่างดี เพราะนี้คือความหลากหลายของคำว่า “แรงงานหญิง” ที่มิสามารถ “เหมารวม” ได้ ว่าแรงงานหญิงในระบบ เท่ากับ แรงงานหญิงทุกกลุ่มในประเทศไทย

โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานหญิงชายขอบ ด้อยอำนาจ อยู่ระหว่างพื้นที่ชายแดน และถูกนิยามว่า “ไม่ใช่ไทย” (นี้ยังมิได้พูดถึงแรงงานหญิงที่ตัวดำ ยากจน ไร้การศึกษา กินเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน เล่นหวย ติดยาบ้า มีเพศสัมพันธ์นอกสมรส ท้องก่อนแต่ง นิยมความรุนแรง ชอบด่ารัฐบาล อย่างนี้เรียกว่าแรงงานหญิงไหม?) แน่นอนผู้เขียนนึกไม่ออกจริงๆว่า แรงงานหญิงกลุ่มนี้ ที่ทางของพวกเธออยู่ที่ไหนในวัน “สตรีสากล” หรือยังคงอยู่ใต้พรมเหมือนที่เคยเป็นมา

สุดท้ายการแก้ไขปัญหาแรงงานหญิงจึงไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ลวกน้ำร้อนแล้วกินได้ทันที ไม่ใช่ผลไม้สุกอยู่บนต้นที่จะกินเมื่อไหร่ก็ไปสอยลงมาเมื่อนั้น แต่คือการเริ่มต้นจากการเคารพในศักยภาพของแรงงานหญิงทุกกลุ่มที่ทุกคนมีเท่ากันมาตั้งแต่เกิดก่อน เคารพและมีพื้นที่ให้กับเสียงหนึ่งเสียงของแรงงานหญิงทุกคนที่มีตัวตน สามารถส่งเสียงได้โดยปราศจากความกลัว เมื่อนั้นจึงจะนำไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างกติการ่วมกันของแรงงานหญิงทุกกลุ่มในสังคมที่เป็นธรรมต่อไป