Thai / English

ชวนแรงงานหญิงนักดื่ม! ร่วมปฏิญาณตนหันหลังให้น้ำเมาตัวการชีวิตตกต่ำ



06 .. 56
ผู้จัดการ

โพลชี้ น้ำเมาคุกคามคุณภาพชีวิตแรงงานหญิงกว่า 68.4% เผยค่าเหล้าทำค่าแรง 300 บาท ไม่พอใช้ ต้องแบกภาระหนี้สิน ด้านแรงงานหญิงเปิดใจ หลังเจอมรสุมจากพิษสุรา เป็นหนี้เหยียบแสน ครอบครัวหย่าร้าง วอนนักดื่มหญิงหันหลังให้น้ำเมาเพื่อครอบครัว พร้อมจี้กระทรวงแรงงาน มีบทบาทส่งเสริม พัฒนาคุณภาพชีวิต

วันนี้ (5 มี.ค.) ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เวลา 10.00 น.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายสตรี และผู้ใช้แรงงานหญิงกว่า 100 คน จัดกิจกรรมรณรงค์ “หยุดสุรา หยุดอบายมุข เพื่อคุณภาพชีวิตแรงงานหญิง” เนื่องในโอกาส 8 มีนาคม วันสตรีสากล พร้อมทั้งร่วมกันปฏิญาณตนจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข โดยภายในงานได้มีการแสดงละครชุด“ปลดพันธนาการแรงงานหญิง” เพื่อสะท้อนถึงพิษภัยจากอบายมุขที่ทำลายคุณภาพชีวิตแรงงานหญิง จากเครือข่ายละครดีดี๊ดี

นางสาวมณี ขุนภักดี หัวหน้าฝ่ายรณรงค์และเผยแพร่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยผลสำรวจ“คุณภาพชีวิตและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของแรงงานหญิง” โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานหญิงทั้งหมด 526 ราย ใน 10 โรงงาน 3 จังหวัด คือ นนทบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 22 ก.พ.-3 มี.ค.2556 พบว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานหญิงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 2 ใน 3 หรือ 68.4% ส่วนใหญ่ดื่มเป็นประจำสัปดาห์ละ 1-3 วัน ทั้งนี้ปัญหาของแรงงานหญิงกลุ่มที่ดื่มคือ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ตามด้วยปัญหาหนี้สิน และมีภาระเลี้ยงดูคนในครอบครัว นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่าง มักจะหาทางออกของปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีดื่มสุราเป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นการระบายทุกข์กับเพื่อน ตามด้วยดูหนังฟังเพลง และเที่ยวผับบาร์ ซึ่งกลุ่มที่ดื่มเป็นประจำกว่า 76.7% ระบุว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยคลายเครียด แต่ในกลุ่มที่ดื่มในโอกาสพิเศษ 68.9% ระบุว่าช่วยไม่ได้ ส่วนประเภทของเครื่องดื่มที่นิยมมากที่สุด คือเบียร์ รองลงมา เหล้าสี สปาย และยาดอง และเมื่อถามถึงรายจ่ายในแต่ละเดือน พบว่า กลุ่มที่ดื่มเป็นประจำจะมีค่าใช้จ่ายในการดื่ม 14.76% ของรายได้ และกลุ่มที่ดื่มบางโอกาส จะมีค่าใช้จ่ายดื่ม 11.0% ของรายได้ นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างยอมเสียค่าใช้จ่ายในการเล่นหวยเกือบ 10% ของเงินเดือน ที่น่าห่วงคือในกลุ่มที่ดื่มประจำ เกือบครึ่งนิยมดื่มจนเมาเต็มที่ หรือ 43.8%

“กลุ่มตัวอย่างที่ดื่มสุราเป็นประจำกว่า 89% ระบุว่าแม้จะมีค่าแรง 300 บาทต่อวัน แต่ก็ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย นอกจากนี้ 93.2% ยังระบุว่า แม้จะได้รับค่าจ้างมากกว่า 300 บาทต่อวัน แต่ถ้ายังมีค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอื่นๆ เช่น ค่าสุรา การพนัน บุหรี่ หวย เงินที่ได้จะไม่เพียงพอต่อรายจ่ายอยู่ดี ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างที่ดื่มเป็นประจำ 87.7% และกลุ่มที่ดื่มเป็นบางโอกาส89.2% เห็นด้วยที่ว่า หากลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยโดยเฉพาะเหล้านี้ได้ ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นางสาวมณี กล่าว

นางสาวมณี กล่าวอีกว่า จากผลสำรวจสะท้อนชัดเจนว่า กลุ่มแรงงานหญิง เมื่อมีความเครียดจะหาทางออกด้วยการดื่มสุราเป็นอันดับแรก จึงทำให้ปัญหาที่ตามมาเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และผู้ชายต้องเข้ามาดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัว ค่าเลี้ยงดูบุตร ช่วยทำงานบ้าน ช่วยเลี้ยงลูก ไม่ควรปล่อยเป็นหน้าที่ผู้หญิงฝ่ายเดียว นอกจากนี้ อยากเสนอให้กระทรวงแรงงาน คำนึงถึงคุณภาพแรงงานหญิงให้มากกว่านี้ โดยการมีสถานที่เลี้ยงเด็กของผู้ใช้แรงงาน และควรตรวจสอบโรงงานให้มีการจ้างงานที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบแรงงานหญิง ไม่เลือกปฏิบัติจากความเป็นผู้หญิง นอกจากนี้กระทรวงแรงงานควรต้องมีส่วนร่วมเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี อันว่าด้วยการห้ามดื่ม ห้ามขายในโรงงานให้กับคนงานและสถานประกอบการและติดตามการบังคับใช้อย่างจริงจัง นโยบายโรงงานสีขาวปลอดยาเสพติดต้องครอบคลุมเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีการรณรงค์ลด ละ เลิก สุราและอบายมุขให้จริงจังด้วย

รศ.บุญเสริม หุตะแพทย์ สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า จากสถิติการดื่มสุราในกลุ่มผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่ามีแนวโน้มการดื่มเพิ่มมากขึ้น และปริมาณการดื่มก็มากขึ้นด้วย ส่วนช่วงอายุที่ดื่มมากที่สุด คือ 25-44 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยแรงงาน โดยส่งผลกระทบต่อ ปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ สุขภาพ อย่างไรก็ตามควรมีการให้ความรู้เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงผลกระทบ ชี้ให้เห็นโทษ โดยเฉพาะปัญหาครอบครัวซึ่งส่วนใหญ่มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรใส่ใจนำปัญหาไปแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีการพูดถึงระบบรองรับสวัสดิการเพื่อให้ครอบคลุมดูแลสุขภาพของผู้ใช้แรงงาน อีกทั้งควรมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ผ่อนคลาย ได้ใช้เวลาว่างเพื่อสุขภาวะ เพราะจะเป็นผลดีทั้งต่อตัวนายจ้างและลูกจ้าง ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น ไม่ขาดลามาสาย

ขณะที่ นางสาวสุกัญญา เกิดทิม อายุ 45 ปี ผู้ใช้แรงงานหญิงที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุข กล่าวว่า ตนเริ่มดื่มเหล้าตั้งแต่อายุ 13 ปี เข้ามาทำงานเมื่อปี 2531ที่โรงงานเย็บผ้าแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังดื่มหนักขึ้นเรื่อยๆ และมีการเล่นพนันทั้งไพ่ ไฮโล หวย จนทำให้รายรับไม่พอกับรายจ่าย ต้องกู้หนี้นอกระบบ ยอมจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 20 บาทต่อเดือน ช่วงนั้นเป็นหนี้ประมาณแสนกว่าบาท และปัญหาที่ตามมาคือ ครอบครัวแตกแยก ลูกสาวหมดอนาคตในการศึกษาเล่าเรียน มีปัญหากับลูกบ่อยครั้งจนลูกเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่ยังโชคดีที่เพื่อนบ้านเข้ามาห้ามไว้ได้ทัน และนี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตนต้องการเลิกดื่มเหล้า จากนั้นหันมาเข้าร่วมโครงการลดละเลิกเหล้า ประกอบกับมีหลานที่ต้องดูแล

“ตอนนี้เลิกเหล้าได้ 5 ปีแล้ว ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปมาก ครอบครัวอบอุ่นขึ้นมีเงินเหลือเก็บ สามารถซื้อรถจักรยานยนต์และเสื้อวิน มาวิ่งรับจ้างหลังเลิกงานเพื่อเป็นรายได้เสริม ซึ่งต่างจากช่วงที่ติดพนันและดื่มสุรา เพราะไม่มีแม้แต่เงินจะกินข้าว สุขภาพก็ย่ำแย่ เจ็บป่วยบ่อยครั้ง ทั้งนี้อยากฝากถึงผู้ใช้แรงงานหญิงที่ยังดื่มอยู่ให้กลับตัวกลับใจ ก่อนที่จะสาย ควรหันหลังให้น้ำเมา ทำตัวให้ดีเพื่อคนที่เรารัก เพราะแม้จะขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน แต่ถ้าเรายังเป็นนักดื่มก็ทำให้เราชักหน้าไม่ถึงหลัง ล่มจมหมดอนาคตได้” นางสาวสุกัญญา กล่าว