Thai / English

หอการค้าห่วงค่าแรงทำธุรกิจปิดกิจการ

หอการค้าไทยชี้เริ่มเห็นธุรกิจปิดกิจการจากผลค่าแรง 300 บาทในช่วงไตรมาส 2 และเป็นห่วงค่าเงินบาทแข็งค่าจนกระทบผู้ส่งออก

25 .. 56
โพสต์ทูเดย์

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท จากกลุ่มตัวอย่าง 600 ตัวอย่าง พบว่า ค่าแรงทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแล้ว 10.2% หากไม่ได้รับการแก้ไขภายใน 3 เดือน จะทำให้ต้นทุนเพิ่มถึง 12.8% การจ้างงานลดลง 6.3% และจะเริ่มปรับราคาสินค้าขึ้น 13.6% ปลดคนงานเพิ่มขึ้น 5.7% โดยจะเริ่มเห็นการปิดกิจการในไตรมาสที่ 2 และหากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในอีก 6 เดือนข้างหน้า จะมีผลต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 18.3% การจ้างงานลดลง 8.7% ปลดคนงานเพิ่มขึ้น 6.6% และปรับขึ้นราคาสินค้าถึง 17.9%

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ สามารถแบบรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้นาน 7 เดือนเท่านั้น ต้องการให้รัฐบาล ช่วยลดภาษี หาแหล่งเงินทุน จัดอบรมฝีมือแรงงาน ลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการส่งออก และชดเชยแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งหากไม่มีการแก้ไข คาดว่า จะมีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบกว่า 1 แสนราย และแรงงานต้องตกงาน 1-2 แสนคน

ขณะที่ ความคิดเห็นของแรงงานที่ได้รับค่าจ้าง 300 บาท พบว่า ส่วนใหญ่ 57% เห็นว่า รายจ่ายยังเท่ากับรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยค่าแรงที่เหมาะสมในปัจจุบันควรอยู่ที่วันละ 464.30 บาท จึงต้องการให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำทุกปีหรือปรับขึ้นตามค่าครองชีพ อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่ 59.5% กังวลว่านายจ้างจะแบกรับภาระไม่ไหวจนต้องเลิกจ้าง จึงต้องการให้ภาครัฐ เข้ามาดูแลสวัสดิการ ลดค่าครองชีพ ตรึงราคาสินค้า ลดภาษี มีแหล่งงานรองรับ และหาช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาททั่วประเทศ ทำให้มีเม็ดเงินลงสู่แรงงานประมาณ 7 หมื่นล้านบาท มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจไทย 0.4-0.5% ซึ่งหอการค้าไทย เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในเดือนหน้า จากเดิมที่มองว่าจะขยายตัวในกรอบ 4.5-5.0%

นอกจากนี้ ยังสำรวจผลกระทบภาคธุรกิจจากอัตราแลกเปลี่ยน พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 52.6% เห็นว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่จะสามารถรับค่าเงินแข็งค่าได้ที่ 29.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่รับได้เพียง 1 เดือนครึ่ง ขณะที่ผู้ประกอบการ 33.5% ระบุว่า พึงพอใจการกำกับดูแลของธปท.น้อย โดยมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็ว และปรับไปในทิศทางและอัตราใกล้เคียงคู่แข่ง สนับสนุนออกไปลงทุนต่างประเทศ สกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงิน สนับสนุนลดต้นทุนการส่งออก