Thai / English

โรงงานหัวหมอลอยแพนักงาน อ้างค่าแรง300

ผลสำรวจแรงงานพบโรงงานหัวหมอลอยแพลูกจ้าง อ้างค่าแรง 300 ชิงปิดโรงงาน เลี่ยงจ่ายชดเชย ให้ไปเรียกร้องตามกม.แรงงาน

24 .. 56
กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 1 มกราคม 2556 ถือเป็นวันดีเดย์ ค่าแรง 300 บาท ทั่วประเทศ ตรงประเด็นข่าวเที่ยง "กรุงเทพธุรกิจทีวี"สัมภาษณ์ ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งได้ทำผลสำรวจและรวบรวมข้อเรียกร้องของบรรดาแรงงานไทย ว่า เขาได้รับตามที่รัฐบาลประกาศหรือไม่ และมีความกังวลอย่างไร ท่ามกลางกระแสข่าวนายจ้างแบกรับค่าแรงไม่ไหว บ้างเตรียมย้ายฐานการผลิต บ้างปิดโรงงาน ...เจาะลึกแบบ (คำต่อคำ)

ถาม ล่าสุดหลังจากที่ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้จัดทำผลสำรวจและข้อเรียกร้องบรรดาแรงงานเป็นอย่างไรบ้างครับ

ตอบ ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 เป็นต้นมาเราเปิดรับเรื่องราวร้องเรียนมีพี่น้องของเรามีการร้องเข้ามาประมาณ 16 ปัญหาประเด็นหมายถึงว่าคนงานบางทีจะโทรเข้ามาถามว่าเขาจะได้ไหม 300 บาท คือเขายังไม่มั่นใจว่านายจ้างยังไม่มีท่าทีว่าจะปรับหรือไม่ปรับ เรามีการตอบเบื้องต้นไปว่าต้องให้รอในช่วงเงินเดือนออกสิ้นเดือนก่อนถึงจะได้รู้ว่านายจ้างจะปรับหรือไม่ปรับ อันนี้เป็นปัญหาที่โทรเข้ามาสอบถาม ส่วนปัญหาเรื่องของที่มีร้องเข้ามาว่านายจ้างปิดโรงงานจะมีตามที่สื่อมวลชนพูดไปแล้ว ไมว่าจะเป็น วีณาการ์เมนต์ เลคโทรลักษณ์ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ปัญหาคือแตกต่างกันไป อย่าง วีณาการ์เมนต์ ที่ร้องเข้ามาเนื่องจากว่านายจ้างใช้ข้ออ้างเกี่ยวกับเรื่อง หมายถึงว่าเขาไม่เกี่ยวกับเรื่อง 300 บาท แต่เรื่องที่ว่าเขาขาดทุนสะสมมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เขาสู้ไม่ไหวก็ปิดไป อันนี้ก็ไม่เกี่ยวกับ 300 บาท เนื่องจากว่าการปิดงานจะมีประเด็นอยู่ว่าปิดเราไม่ว่าแต่นายจ้างจะต้องมีการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน แต่เนื่องจากนายจ้างเดี๋ยวนี้ใช้เทคนิคใหม่คือปิดไปก่อนแล้วให้ลูกจ้างมาเคลื่อนไหว มาร้องเรียนเรียกร้องเพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งความจริงแล้วมันไม่สมควร คือนายจ้างหรือรัฐต้องมีการไปบังคับบอกว่าถ้าคุณปิดงานโดยที่ลูกจ้างไม่ผิดกฎหมายต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน แต่นี่ปิดไปแล้วให้ลูกจ้างมาร้องว่านายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยอันนี้ไม่ถูก เป็นหน้าที่ของรัฐ รัฐต้องเข้าไปควบคุมดูแล

ถาม นี่เป็นปัญหาที่ลูกจ้างมีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุดหรือเปล่าครับ

ตอบ ครับนี่เป็นปัญหามากเลย อีกประเด็นคือนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แต่่มีปัญหาเรื่องภายในว่าคนใหม่ได้ขึ้นมา 300 คนเก่าทำงานมาประมาณ 7-8 ปี เขาได้ 300 อยู่พอดี เพราะฉะนั้นคนเก่านายจ้างจะไม่ปรับให้ ปรับให้เฉพาะคนใหม่ ประเด็นนี้จะเป็นปัญหาเรื้อรังและจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ

ถาม มีส่วนหนึ่งที่นายจ้างบอกว่าหลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เขาไม่สามารถต่อสู้กับต้นทุนไหว มีแพลนที่จะย้ายโรงงานไปต่างประเทศทำให้เกิดการเลิกจ้าง เรื่องนี้ฝั่งลูกจ้างมองอย่างไรบ้างครับ

ตอบ ความจริงแล้วตามหลักเศรษฐศาสตร์ถ้าเผื่อนายจ้างในเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจขาดทุนก็คงอยู่ไม่ได้ นี่เราพูดเรื่องของการลงทุนธุรกิจ เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อเขาอยู่ไม่ได้เขาย้ายก็เรื่องของเขาไม่เกี่ยวกับเรา ถ้าเขาย้ายไปก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่คนงานถูกต้องตามกฎหมาย อันนี้เราพูดกันตรงไปตรงมา แต่ธุรกิจที่เขาย้ายไป ถ้าเรามาพูดจริงก็ตามหน้าสื่อมวลชนทั่วไปก็คือ สิ่งทอ เซรามิก เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า อย่างอื่นผมคิดว่าน่าจะอยู่ได้