ชำแหละ! ประกันสังคม เว็บล่ม-ระบบห่วย17 .. 56 ผู้จัดการ หลังจากเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมล่มแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เพียงแค่ไม่กี่วันก็เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนัก ซ้ำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบขอไปที ด้วยการเขียนข้อมูลผู้ประกันตนใส่กระดาษไปพลางๆ ก่อน จนหลายคนเริ่มอดรนทนไม่ไหว พาลชำแหละถึงเรื่องระบบประกันสังคมที่ห่วยแตกมานาน ตอนนี้ระบบของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ทั่วประเทศ ไม่สามารถเปิดใช้ข้อมูลผู้ประกันตนที่ขอใช้สิทธิกรณีว่างงาน และกองทุนเงินทดแทนได้ หลังจากการเช่าและใช้ระบบเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลเพื่อบริการงานประกันสังคมทั่วประเทศถูกปิดลง
สาเหตุหลักมาจาก สปส.ไม่ต่อสัญญากับบริษัทเอกชนที่จ้างทำระบบกว่า 2,300 ล้านบาท ซึ่งหมดลงเมื่อ 31 ธันวาคม 2555 ทำให้บริษัทคู่สัญญาดังกล่าวจำเป็นต้องนำเครื่องคอมพ์ ที่สปส.เช่าใช้กลับคืน ซึ่ง สปส.รู้มาก่อนเป็นปีแล้วว่าจะเกิดปัญหานี้ขึ้น แต่ก็ไม่ได้แก้ไขเสียที จนกลายเป็นปัญหาบานปลาย ส่งผลกระทบแก่ผู้ประกันตนทั่วประเทศ
สปส.ปล่อยระบบฯ ล่ม ขณะนี้ส่วนของฐานข้อมูลเว็บไซต์ยังใช้งานไม่ได้ค่ะ และไม่ทราบว่าจะใช้งานได้เมื่อไหร่ นี่คือเสียงปลายสายจาก 1506 สายด่วนประกันสังคม และเมื่อโทร.ไปถามฝ่ายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้ความว่า หมดสัญญา โดยไม่สามารถชี้แจง หรือให้รายละเอียดได้มากไปกว่านี้
ผ่านมาเป็นอาทิตย์แล้วที่ระบบปิดตัวลง โดยหน้าเว็บขึ้นชี้แจงแต่เพียงข้อความว่า เนื่องจากไม่สามารถติดต่อระบบฐานข้อมูลได้ ขณะนี้อยู่ในระหวางการปรับปรุงแก้ไข ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย ทำให้ระบบกองทุนเงินทดแทน ระบบประกันสังคมที่ขอใช้สิทธิกรณีว่างงาน เปิดใช้งานไม่ได้ในระยะนี้ แต่ระบบประกันสังคม การขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และการจ่ายเงินประกันสังคม ยังคงใช้งานได้ปกติ
ประเด็นของปัญหานี้ คือ สปส.รู้มาล่วงหน้ากว่า 3 เดือนแล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการอะไร จนกระทั่งปล่อยให้หมดสัญญา และระบบปิดตัวลง โดยไม่ทำการถ่ายโอนข้อมูลต่างๆ ให้แล้วเสร็จ หรือหาบริษัทเอกชนรายใหม่ก่อนหมดสัญญามารับงานต่อ
จีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการ สปส. ได้ออกมากล่าวถึงปัญหานี้ว่า บริษัทคู่สัญญาเอสโอเอ คอนซอร์เตียม ที่ สปส.ว่าจ้างดูแลระบบฐานข้อมูลของผู้ประกันตนทั้งหมด ซึ่งครบสัญญาเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา และไม่ได้ต่อสัญญา เนื่องจาก สปส.ไม่ต้องการต่อสัญญากับบริษัทดังกล่าว เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 2,300 ล้านบาท
จึงได้สั่งการไปยัง สปส.ทั่วประเทศ ให้เตรียมพร้อมรองรับแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยใช้รูปแบบเดิมในการเก็บข้อมูลใส่กระดาษแบบฟอร์มต่างๆ แทนในระหว่างรอการกู้หลักฐานทั้งหมดคืน โดยยืนยันว่าจะสามารถกู้ข้อมูลทั้งหมดได้ภายใน 15 วัน อย่างไรก็ตามขณะนี้ สปส.เตรียมจัดทำระบบฐานข้อมูลเอง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการว่าจ้างบริษัทเอกชนมาดูแล
เท่ากับว่าตอนนี้ระบบ eService เหตุที่ใช้ไม่ได้ เพราะประกันสังคมต้องการ Freeze ข้อมูลไว้จนกว่าจะทำการ migrate สำเร็จ
แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า ระบบปิดตัวลงนั้นเกิดขึ้นจากปัญหาภายใน เมื่อใกล้ถึงเวลาหมดสัญญา หลังจากบอร์ดประกันสังคมอนุมัติให้ต่อสัญญา ก่อนหน้านี้ 4เดือน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า จึงมาเร่งดำเนินการขอต่อเวลาสัญญาออกไป 3-6 เดือน แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือทางการบริหาร ทำให้ผู้มีอำนาจไม่อนุมัติ ทาง สปส.จึงต้องออกมาแก้ต่าง พร้อมกับเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น
ด้านแหล่งข่าวหนึ่งในทีมพัฒนาระบบของ สปส. สำนักงานใหญ่ เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ทาง สปส. มีการวางแผนจะ migrate ข้อมูลเข้าสู่ระบบใหม่ แต่สุดท้ายก็ไม่คืบหน้า ได้แค่ครึ่งๆ กลางๆ เท่านั้น ทำให้ตอนนี้ระบบของ สปส. ยังคงเช็กอะไรไม่ได้เหมือนแต่ก่อน เพราะผู้พัฒนาระบบรายใหม่ยังไม่เข้ามา
แม้ว่าตอนนี้ทางบริษัทเอกชนที่เคยรับทำระบบจะนำเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ สปส.เช่าใช้กลับคืนแล้ว แต่ด้าน สปส. ก็ยังไม่มีทีท่าติดต่อใครมารับช่วงต่อ ถึงแม้จะเข้ามาแล้วก็คงต้องใช้เวลาศึกษาระบบอยู่นานพอสมควร จึงเป็นไปได้ยากว่าในอีก 14-15 วันข้างหน้า ระบบจะเปิดใช้งานได้จริง อย่างที่ สปส.ยืนยัน แต่ที่แน่ๆ ตลอดเดือนมกราคมนี้เชื่อว่ายังคงใช้งานไม่ได้
จ้างดูแลระบบฯ 2,300 ล้าน แพงไปไหม!? คงเกิดเป็นคำถามค้างคาใจหลายคนว่าจำนวนเงิน 2,300 ล้านบาท มากไปไหมสำหรับค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบอย่างเดียว
หากคิดตรรกะแบบง่ายๆ คนทำงานที่ต้องเสียค่าประกันสังคมทุกๆ เดือน ก็คงอยากเห็นระบบที่มีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ถึงแม้เงินที่จ่ายให้ประกันสังคม ในแต่ละเดือนจะไม่มากนัก เมื่อเทียบเป็นรายคน แต่หากคิดรวมในทุกๆ เดือนก็เป็นยอดเงินที่สูงพอสมควร และเมื่อรวมกับ 10 ล้านคนที่จ่ายประกันสังคมทั่วประเทศด้วยแล้ว นับว่าเป็นจำนวนเงินมหาศาล
เหมือนอย่างที่รู้ๆ กันว่าเงินบริหารพวกนี้ เข้าไปตรวจสอบยาก และก็ไม่ใช่จำนวนเงินน้อยๆ ซึ่งที่มาของเงินมาจากการตั้งงบประมาณบริหาร 10% แล้วเงินประกันสังคมที่เก็บจากผู้ประกันตนมาปีละประมาณ 70,000 ล้านบาท หัก 10% ก็คือ 7,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ไม่ต้องเข้าสภา ไม่ต้องผ่าน ครม. อยู่ที่บอร์ดบริหารจัดการเพียงอย่างเดียว
ฉะนั้นบอร์ดบริหารจะเอาไปทำอะไร จึงไม่มีใครรู้ ส่งผลถึงการปฏิรูประบบแต่ละครั้ง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะด้วยเม็ดเงินหลายพันล้าน มันคือผลประโยชน์มหาศาลซึ่งมีคนไม่กี่คนที่เข้าถึง มันเป็นระบบราชการที่จัดการได้ยาก
สิ่งนี้จึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัย (ด้านหลักประกันทางสังคม) ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (Thailand Development Research Institute Foundation: TDRI) ยื่นจดหมายลาออกจากคณะอนุกรรมการพิจารณา และกำหนดแนวทางการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของ สปส. เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า สปส. ไม่มีความจริงใจ ใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหา เปล่าประโยชน์ที่จะอยู่ต่อไป
หากย้อนมาดูเงินงบประมาณ 2,300 ล้านบาท ที่นำมาใช้ดูแลระบบฐานข้อมูลผู้ประกันตน ซึ่งก็หมายถึงเงินส่วนหนึ่งของหลายพันล้านที่ได้รับจากผู้ประกันตน แต่กลับไม่ได้รับการบริการที่มีคุณภาพ แค่การดูแลระบบยังปล่อยให้ล่ม และเท่าที่ได้ยินมาระบบคอมพิวเตอร์ประกันสังคมนี้แพงมากกว่าเอกชนรายใหญ่หลายองค์กรด้วยซ้ำ หากถามว่า 2,300 ล้านบาทนี้ ใช่เอาไปทำระบบอย่างเดียวหรือเปล่า คงเหมือนแดนสนธยาดินแดนลี้ลับที่เข้าถึงความจริงยาก
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของข้าราชการไทย (บางคน) กับที่มาของระบบฐานข้อมูลล่ม ที่สาวต้นตอของปัญหาไม่ได้ อาจไม่ใช่แค่เรื่องการไม่ต่อสัญญา แต่ถึงอย่างไรต้นเหตุของเรื่องคงอยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่าเรื่องเงินที่อ้างว่าเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินไป และต้องการทำระบบฐานข้อมูลเอง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย
จริงๆ แล้วระบบการพยาบาลควรใช้ระบบเดียว ไม่ควรแยก 30 บาท ระบบหนึ่ง ประกันสังคมระบบหนึ่ง มันไม่จำเป็น เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน ควรมีเซ็นเตอร์จัดการที่เดียวก็จบ ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวถึงการทำงานซ้ำซ้อนที่สิ้นเปลืองงบประมาณ
ตอนนี้คิดว่าตัวประกันสังคมเองต้องปรับปรุงใหม่หมด ที่อยู่ในระบบราชการ เพราะมันมีเงินที่ต้องดูแลเป็นพันๆ ล้าน แต่ปัจจุบันมันก็ไม่ได้ตอบสนองให้ผู้ประกันตนเข้ารับบริการที่ดีที่สุด จึงควรได้เวลาปรับปรุง โดยการรื้อทั้งระบบ ตรงนี้ผมแค่สะท้อนด้านการพยาบาลส่วนเดียวนะ 30 บาทมาทีหลังยังดีกว่าเลย
ทีมทำงานเฉพาะด้านรักษาพยาบาล ทีมประกันสังคมมี 20 คนเอง มีแค่สำนักเดียวที่เป็นแบบนี้ และไม่มีหมอสักคนเดียว ทำให้การบริหารมันเป็นไปไม่ได้เท่าที่ควร กำลังคนเขามีความสามารถที่มีขีดจำกัดในการปรับปรุงระบบ มีคนแค่ 20 คนจะไปทำอะไร แค่รับเรื่องร้องเรียน 20 คนนี้ก็รับไม่ไหวแล้ว ฉะนั้นจะไปหวังอะไรกับคนแค่ 20 คน มาดูแลคนตั้ง 10 ล้านคน ให้ได้รับบริการการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ อย่างที่เห็นเท่าที่ออกมาจึงทำได้แค่นี้
นี่แหละหนา...ระบบประกันสังคมแบบไทยๆ ตอนนี้การจัดการระบบฐานข้อมูลต้องเข้าสู่ยุคจดด้วยมือเหมือนหลาย 10 ปีก่อน โดยเก็บข้อมูลใส่กระดาษแบบฟอร์มต่างๆ แทน ในระหว่างรอการกู้หลักฐานทั้งหมดคืน และไม่แน่ใจว่าจะทันภายใน 15 วันที่ทาง สปส.ยืนยันไว้หรือไม่
ว่ากันตามจริง เรื่องระบบล่มแล้วทำให้ผู้ประกันตนรับไม่ได้นั้น ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการไม่ได้รับสิทธิพยาบาลที่มีคุณภาพ ทั้งที่เป็นกลุ่มที่เสียเงิน เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันสุขภาพให้แก่ตัวเอง
ประเด็นที่สำคัญก็คือ ผู้ประกันตนในระบบ ประกันสังคม ประมาณ 10 ล้านคนอย่างที่กล่าวในข้างต้น เป็นกลุ่มเดียวที่ยังต้องจ่ายสมทบสำหรับสิทธิรักษาพยาบาล แต่กลับได้รับการบริการที่ไม่เป็นธรรม และไม่มีคุณภาพในหลายเรื่อง อย่างเช่นว่า กรณีการถูกปฏิเสธการรักษา กรณีวินิจฉัยพลาด การจ่ายยาที่ไม่มีประสิทธิภาพ การรักษาแบบขอไปที ระบบส่งต่อล่าช้า การส่งกลับต้นสังกัดช้า หรือไม่ได้ส่งต่อ ที่สำคัญก็คือ ปัญหาเหล่านี้ ไม่เคยได้รับการแก้ไข และผู้ประกันตน ก็ยังต้องเผชิญกับความไม่มั่นใจและความทุกข์จากการใช้บริการอยู่
หลายปัญหาที่ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมพบเจอ จนมาถึงเรื่องระบบฐานข้อมูลล่ม ก็ยิ่งสร้างความไม่มั่นใจในการรับบริการหนักเข้าไปใหญ่ ทำให้คนบนโลกออนไลน์ออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก อย่างเช่น
รู้ล่วงหน้าเป็นปี วิธีแก้ปัญหาคือให้กรอกเอกสารใส่กระดาษไปก่อน ถ้าเป็นสมัยก่อนโทษแบบนี้คือประหารสถานเดียว ปลดไปเถอะครับ ผู้บริหารห่วยๆ แบบนี้ ไม่มีวิสัยทัศน์และการเตรียมความพร้อมเลย
พระเจ้าช่วย กล้วยทอด แล้วถ้าฐานข้อมูลกู้มาได้ไม่สมบูรณ์ อะไรจะเกิดขึ้น ช่วยอธิบายให้ผู้ประกันตนทราบด้วย เพราะว่าทุกวันนี้พวกคุณก็เอาเปรียบพวกเรามากมายอยู่แล้ว อย่าให้มันมากไปกว่านี้เลย
ทุกวันนี้ผมต้องใช้โรงพยาบาลเอกชน พร้อมกับนั่งเสียดายเงิน 750 บาทที่ต้องจ่ายทุกเดือน และนั่งฟังข่าวว่าประกันสังคมร่ำรวยเอาเงินผมไปเล่นหุ้น เอาไปจัดสัมมนาพาเพลินผลาญเงินเล่นกันอย่างสนุกสนาน จะประท้วงกันวันไหน นัดมาได้เลยครับ
ไม่ว่าปัญหาที่แท้จริงจะอยู่ตรงไหน ใครเป็นตัวต้นเหตุ อีกไม่นานเรื่องคงชัดเจนขึ้น แต่ตอนนี้ไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ ถ้าผู้ประกันตนต้องเป็นฝ่ายก้มหน้ารับกรรมกับปัญหาการบริหารที่ผิดพลาดอย่างไม่รู้จักคิด และการแก้ปัญหาแบบขอไปทีของหน่วยงานรัฐ (บางคน) ที่ไม่รับผิดชอบ นี่แหละหนาที่เขามักพูดกันว่า ระบบราชการแบบไทยๆ |