Thai / English

ความเคลื่อนไหวหลังปีใหม่-ค่าแรง 300 บาท รัฐบาลประกาศปี 2556 เป็นปีแห่งการปรับสมดุล



07 .. 56
ประชาไท

สื่อ "ตีข่าว" หลายจังหวัด "เลิกจ้าง-ไม่เลิกจ้าง" หลังประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ ด้านรัฐบาลชี้ตั้งเป้าปรับสมดุลระบบเศรษฐกิจภายในประเทศให้สอดรับการลงทุน "เผดิมชัย" เรียก 5 หน่วยงานประเมินผลกระทบค่าแรง 300 บาทสัปดาห์หน้า

รัฐบาลตั้งเป้าปรับสมดุลระบบเศรษฐกิจภายในประเทศให้สอดรับการลงทุน

5 ม.ค. 56 เว็บไซต์ครอบครัวข่าวรายงานว่า รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ที่ออกอากาศวันนี้มีการสัมภาษณ์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2556 และนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั้งนี้นายกิตติรัตน์ บอกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปี 56 น่าจะดีกว่าหรือเท่ากับปี 55 เพราะมีการปรับสมดุล ซึ่งการปรับสมดุลมีการทำงานที่ประกอบกัน การเพิ่มค่าจ้าง ค่าแรงขั้นต่ำ ถึงแม้ว่าเอกชนมองว่ามีภาระเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าเพิ่มที่สุด คือ ค่าแรง เพราะเป็นบุคลากรที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับภาค ธุรกิจ ปี 2556 ถือว่าเป็นการปรับสมดุลในประเทศอีกรอบส่วนปัญหาหน้าผาการคลังของสหรัฐฯนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ได้แก้ไขให้ผ่านพ้นไปได้แล้ว และทิศทางของสหรัฐก็กำลังมาดี มีการจ้างงาน การเกิดชะงักงันในสหรัฐก็คงไม่เกิดขึ้น แต่ก็คงหวังไม่ได้ว่าจะเป็นประเทศที่เติบโตสูงๆ รวมถึงการเป็นประเทศคู่ค้าที่จะไปพึ่งพาได้ ทั้งนี้ไทยต้องพึ่งพาตัวเองก่อน

นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ ยังได้กล่าวถึง กลุ่มอุตสาหกรรมที่อาจได้รับแรงกดดันจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทว่า อุตสาหกรรมที่ต้องไตร่ตรองมาตลอดเวลา และในภาวะที่เรามีแรงงานน้อยลง คือ กลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น คือ ใช้แรงงานมากเมื่อเทียบผลผลิตที่ผลิตได้ เป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยรับช่วงต่อมาจากประเทศ

อื่นๆ และเมื่อเริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ลดการผลิตลง ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องพิจารณาว่าจะเริ่มส่งต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ ไปยังประเทศที่ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า และไทยต้องเพิ่มทักษะแรงงานให้มีทักษะมากขึ้น

รองนายกฯ และ รมว.คลัง ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้วมีการลงทุนครั้งใหญ่ในโครงการท่าเรือน้ำลึก ถ้าไม่มีการลงทุนนั้นก็คงอยู่กับท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือคลองเตย หรือเมื่อทศวรรษที่ผ่านมาก็มีการลงทุนในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ลงทุน แต่ลงทุนน้อยไปเมื่อเทียบกับศักยภาพ เพราะมีฐานเงินออมที่มาก การดำเนินการส่วนนี้สำคัญสำหรับเตรียมประเทศในอนาคต ทำให้ประเทศไทยพร้อมแข่งขันกับประเทศต่างๆในโลกนี้ กับการที่ไม่สามารถพึ่งพาโลกตะวันตก ก็ต้องพึ่งพาตนเอง ในขั้นตอนที่จะลงทุนในอนาคตก็จะต้องผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯ คาดว่าจะลงทุนไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท ในระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บอกว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะกลับเข้าสู่โหมดปกติ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) คาดว่าจะขยายตัว 5-6% โดยสภาพัฒน์มองว่าจีดีพีน่าจะขยายตัว 5.5% โดยปัจจัยที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนในปีนี้มาจาก การบริโภคที่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงครึ่งปีหลัง การลงทุนของภาคเอกชน การส่งออกที่คาดว่าในปีนี้จะขยายตัว 9% และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ทั้งในการป้องกันน้ำท่วม 300,000 ล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

โรงงานตากปิดกิจการ 8 แห่งลอยแพแรงงาน 1,343 คน

5 ม.ค. 56 เนชั่นทันข่าวรายงานว่านายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดตากปรับขึ้นจากวันละ 163 บาท เป็น 226 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 40% มีสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างรอบแรกในช่วง 8 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 31 ธันวาคม 2555 ปิด

กิจการไปถึง 8 แห่ง มีลูกจ้างตกงานทั้งหมดราว 1,343 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท โดยโรงงานสุดท้ายปิดกิจการไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคมก่อนที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 เป็นวันละ 300 บาท โรงงานส่วนใหญ่ที่ปิดกิจการไป มีทั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป อิเล็กทรอนิกส์ และหินแกรนิต ฯลฯ

ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 เป็นวันละ 300 บาทที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา เป็นการปรับขึ้นมาอีก 40% รวมทั้งสองครั้งจังหวัดตากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 80% นับเป็นการปรับเพิ่มในสัดส่วนที่มากจนเป็นภาระหนักกับผู้ประกอบการ หลายรายพยายามปรับตัวและทำทุกวิถีทางเพื่อประคองตัวให้อยู่รอด และรอความหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจับต้องได้มากว่ามาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้กว่า 20 ข้อ แต่ช่วยเหลือได้เพียงส่วนน้อยและไม่มีผลอะไรมากนัก เช่น ลดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจาก 5% เหลือ 4% หรือ สนับสนุนวงเงินสินเชื่อให้ผู้ประกอบการกู้ยืมนำมาจ่ายค่าจ้างเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน แต่ข้อเท็จจริงเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการมากขึ้น ขณะเดียวกันการเข้าถึงแหล่งทุนก็เป็นไปได้ยากเพราะหลักทรัพย์ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินอยู่ก่อนแล้ว

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เชื่อว่านับจากนี้อีก 2 - 3 เดือนจะเห็นภาพสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดตากทะยอยปิดกิจการเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 80% ได้ เพราะอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กว่า 90% เป็นเอสเอ็มอีและกว่า 90% เป็นกิจการประเภทรับจ้างผลิตไม่มีออร์เดอร์เป็นของตัวเองจึงมีการใช้แรงงานเข้มข้นมากกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่น การเข้ามาตั้งโรงงานในพื้นที่ชายแดนเป็นความหวังหนึ่งที่จะลดต้นทุนด้านแรงงานแต่ปรากฎว่ารัฐบาลกลับมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่มีเพียงส่วนน้อยที่พอปรับตัวได้ แนวทางปรับตัวส่วนใหญ่ คือ ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำถูกกว่าประเทศไทย เช่น พม่า และกัมพูชา แต่การย้ายฐานไปพม่ายังมีน้อยเพราะความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ลอยแพแรงงานโคราชแล้วกว่า 1,300 ราย

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา คมชัดลึกรายงานว่า น.ส.อัญชลี สินธุพันธ์ จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ก่อนประกาศดังกล่าวพบว่า ได้มีโรงงานอุตสาหกรรมประเภทรายการผลิตชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิค มีการเลิกจ้างงานไปแล้วกว่า 550 คน ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่ได้มีการเลิกจ้างงานหลังที่รัฐบาลได้ประกาศปรับค่าแรง 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา พบว่าได้มีการเลิกจ้างงานพนักงานแล้วกว่า 800 ราย แต่มีผู้ที่ได้เริ่มงานใหม่ทันทีเพียง 59 ราย รวมตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2555 ถึง ปัจจุบัน มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกเลิกจ้างแล้วทั้งสิ้นกว่า 1,300 ราย แต่มีผู้ที่เดินทางมาขึ้นทะเบียนกับจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เพียง 860 ราย

รง.ตัดเย็บบุรีรัมย์แจ้งจำต้องคัดกรองพนักงาน

นอกจากนี้คมชัดลึกยังรายงานถึงกรณีที่บริษัทนางรองแอพพาเรล จำกัด ตั้งอยู่ถนนสายโชคชัย - เดชอุดม ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ และบริษัท โรงงานเสื้อผ้าชุมชน ตั้งอยู่ ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ หรือตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้เลิกจ้างพนักงานแล้วจำนวน 126 คน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต จากผลพวงของการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานในจ.บุรีรัมย์ ได้ลงไปพบปะพูดคุยทำความเข้าใจกับพนักงาน ที่บริษัท โรงงานเสื้อผ้าชุมชน จำกัด ตั้งอยู่ ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีพนักงานทั้งหมดอยู่ขณะนี้ จำนวน 255 คน พบว่าพนักงานยังคงมีการทำงานกันตามปกติ โดยสอบถามผู้จัดการฝ่ายผลิตของบริษัทฯ ต้องการให้ทางภาครัฐมีการช่วยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่เลิกจ้าง และทางโรงงานพร้อมที่จะรับพนักงานเหล่านี้กลับเข้าทำงานตามเดิม

ทั้งนี้ ได้มีการนำประกาศของบริษัทฯ ที่ลงนามโดยนายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานบริษัทฯ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ติดไว้ที่บอร์ดของโรงงาน มีข้อความระบุว่า เป็นโครงการคัดกรองพนักงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยอ้างว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทั่วประเทศ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป นั้น บริษัทฯ ขอแจ้งให้ทราบว่าการขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ จะเพิ่มต้นทุนของบริษัทฯ เป็นอย่างมาก และทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศที่มีค่าแรงที่ต่ำกว่าได้ ดังนั้น บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องดำเนินการลดต้นทุน

โรงงานสระแก้วปิดไปแล้ว 1 เลิกจ้างบางส่วนอีก 1 ร่อแร่อีก 1 แรงงานตกงานแล้ว 691 คน

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่านายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานประกอบการบางแห่งเริ่มได้รับผลกระทบจากค่าจ้าง 300 บาทแล้ว ซึ่งบางแห่งได้หาทางออกอื่นๆ แทน เช่น ดูแลสวัสดิการครอบครัว เลี้ยงอาหารในเวลาปฏิบัติงาน แต่ถ้าแจ้งมาก็อาจต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพูดคุยกันก่อนว่าพอที่จะหา ทางออกอย่างไรได้บ้าง เพื่อเป็นข้อมูลนำเสนอให้รัฐบาล เท่าที่ทราบมาพบว่าโรงงานบางแห่งก็เปลี่ยนรูปแบบการทำงานในโรงงานไปเป็นการ จ้างแรงงานตามบ้านทำ ซึ่งตรงนี้ทำให้รัฐบาลเสียประโยชน์ไม่ได้ภาษีจากโรงงาน ในส่วนแรงงานต่างด้าวที่จะทะลักเข้ามานั้น จังหวัดได้ประสานไปยังกองทัพเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยขอให้แยกแรงงานออกเป็น 2 ส่วน คือ แรงงานถูกกฏหมายกับแรงงานชั่วคราวแรงวัน เช้าไป-เย็นกลับ หรือ 2-3 วันกลับ เพื่อผู้ประกอบการจะได้ไม่ขาดแรงงาน แล้วจะได้จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวได้อย่างถูกต้อง

นายกรุณา แก้วน้อย สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีประกอบกับนโยบายรัฐบาลขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ได้ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการระดับเล็กและระดับกลางในจังหวัดสระแก้วบาง ส่วนแล้ว ข้อมูลเมื่อ 3 ม.ค.พบว่ามีสถานประกอบการขนาดกลางที่ประกอบธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพื่อส่งออก อยู่ อ.เมืองสระแก้ว ได้ปิดกิจการลง ส่งผลให้เลิกจ้างแรงงาน 471 คน จ่ายเงินค่าชดเชยไปกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโรงงานระดับเล็ก ประกอบธุรกิจประกอบชิ้นส่วนสายไฟรถยนต์ อยู่ อ.วัฒนานคร เลิกจ้างแรงงานบางส่วน จำนวน 207 คน จ่ายเงินค่าชดเชยไปกว่า 3.5 ล้านบาท แล้วยังมีสถานประกอบการขนาดเล็กมีแนวโน้มจะเลิกจ้างแรงงานอีก 1 แห่ง ตั้งอยู่ อ.วัฒนานคร สรุปแล้วขณะนี้เลิกจ้างแรงงานไปแล้ว 691 คน

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานประกอบการในจังหวัดสระแก้ว ส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งอาจมีแนวโน้มเลิกจ้างแรงงานสูง ในส่วนของสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดได้ติดตามสถานการณ์จากการตรวจ แรงงานและคำร้องที่พนักงานมาร้องเรียน ก่อนที่จะลงไปให้คำปรึกษาและช่วยเหลือต่อไป ซึ่งที่ผ่านมามีเจ้าของสถานประกอบการบางแห่งมาปรึกษาหาทางออกเพื่อให้สถานประกอบการอยู่ได้ แรงงานมีงานทำ โดยจะลดเวลาในการทำงานลง จาก 6 วันต่อสัปดาห์เหลือ 5 วัน โดยใช้แรงงานสัมพันธ์คุยกันแบบเปิดใจระหว่างเจ้าของกับลูกจ้าง ถ้าตกลงกันได้ก็ไม่มีปัญหา ในส่วนมาตรการของกระทรวงแรงงาน ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างงาน (ผลกระทบจาก 300 บาท) โดยจัดหางานจังหวัดจะได้ให้คำปรึกษาในการหางานทำให้ใหม่ ประกันสังคมก็จะจ่ายเบี้ยว่างงานให้ ในส่วนของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานก็จะให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงานให

เชียงใหม่ยังไม่พบการเลิกจ้างผิดปกติ หลังปรับค่าแรง 300

5 ม.ค. 55 เนชั่นทันข่าวรายงานว่านายอนันต์ บวรเนาวรักษ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานจากผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 จนถึงขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการเลิกจ้างแรงงานกลุ่มใหญ่ หรือมีการเลิกจ้างแบบผิดปกติเกิดขึ้นในช่วงแรกนี้ แต่สำนักงานฯได้ติดตามปัญหาการเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด และมีการเฝ้าระวังปัญหาเลิกจ้างตั้งแต่มีกาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบแรกจังหวัดเชียงใหม่ปรับขึ้นจากวันละ 181 บาทเป็น 251 บาท แต่ก็ยังไม่พบมีการเลิกจ้างแรงงานแบบผิดปกติเกิดขึ้น

ส่วนการเลิกจ้างที่มีในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา เป็นการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นตามปกติอยู่แล้ว ขณะที่การเข้ามาร้องเรียนของแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และนายจ้างไม่จ่ายค่าแรงก็มีเข้ามาเป็นระยะแต่ไม่ถึงขั้นผิดปกติหรือมีนัยยะแฝงสำคัญอะไรที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ สำหรับปัญหาการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่นจนเป็นข่าวออกมานั้นจะเห็นว่าเป็นการเลิกจ้างในช่วงสิ้นปีก่อนปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท เป็นเทคนิคของผู้ประกอบการที่ตัดสินใจเลิกจ้างก่อนการปรับขึ้นค่าแรงเพื่อจ่ายเงินชดเชยในอัตราค่าจ้างเดิมมากกว่าอาจไม่ได้มาจากผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท

นายอนันต์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีปัญหาการเลิกจ้างเกิดขึ้นหรือไม่มากน้อยเพียงใด คงต้องรอดูอีกระยะหนึ่งเนื่องจากขณะนี้หลายธุรกิจกำลังไปได้ดี เช่น โรงแรมและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพราะยังอยู่ในช่วงไฮซีซั่น มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นแล้วต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้ง นอกจากนี้กระทรวงแรงงานได้กำชับให้ดูแลกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี เป็นพิเศษ โดยจังหวัดเชียงใหม่มีเอสเอ็มอีอยู่ประมาณ 800 แห่งมีการจ้างงานราว 5 พันคน ขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำแนะนำและปรึกษาแก่ผู้ประกอบการแล้ว

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เมษายน - ธันวาคม 2555 ในห้วงเวลาที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบแรก มีการยื่นคำร้องเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำเข้ามา 31 แห่ง เป็นกรณีจ่ายค่าจ้างจั้นต่ำน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด 30 แห่ง พนักงานตรวจแรงงานได้เข้าไปให้คำแนะนำและกำชับให้สถานประกอบการปฎิบัติตามภายใน 30 วัน มีการดำเนินการแล้ว 23 แหาง ส่วนที่เหลือ 7 แห่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ส่วนการเลิกจ้างมีรายงานเข้ามาจำนวน 3 แห่ง จำนวนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง 51 คน ส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ลักษณะการเลิกจ้างเป็นแบบสมัครใจ หรือเกษียญอายุงาน เพื่อรับค่าชดเชยตามที่นายจ้างตกลง นอกจากนี้ยังพบว่ามีสถานประกอบการราว 4 แห่งที่มีแนวโน้มอาจต้องเลิกจ้างพนักงานจำนวน 180 คน ขณะนี้สำนักงานฯได้เข้าไปให้คำแนะนำและช่วยเหลือแล้ว

สภาอุตสาหกรรมพะเยา เผยยังไม่มีเลิกจ้างเพราะ 300 บาท

5 ม.ค. 56 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่านายบุญชู กมุทมาโนชญ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด(ส.อ.จ.)พะเยา เปิดเผยว่า หลังจากที่ผลการบังคับใช้เรื่องค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทั่วประเทศไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา สำหรับจังหวัดพะเยา บรรยากาศของการทำงานของแรงงาน และการจ้างงานของผู้ประกอบการยังเป็นไปตามปกติ แต่ก็มีบ้างที่เกิดกระแสว่านายจ้างกับลูกจ้างบางรายต้องเปิดเวทีหารือร่วมกัน เพราะนายจ้างจะต้องแบกรับภาระค่าแรงที่สูงขึ้น ขณะที่ลูกจ้างก็ต้องกระตือรือร้นและทำงานเข้า-ออก งาน ตรงต่อเวลา ไม่อู้งาน ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ให้ได้งานที่ออกมามีคุณภาพ สมกับค่าจ้างที่ได้รับเพิ่มขึ้นอีกวันละเกือบสองเท่าตัว

ปธ.ส.อ.จ.พะเยา เปิดเผยต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการในจังหวัดพะเยา ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาด เอส.เอ็ม.อี.(SME) มีการจ้างแรงงานประมาณ 120-200 คน ส่วนหนึ่งจ้างเป็นรายงาน ส่วนหนึ่งทำงานประจำเป็นพนักงานบริษัท ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและถึงขั้นผู้ประกอบการต้องหยุดเลิกจ้างแรงงานนั้น ในจังหวัดพะเยาไม่เกิดขึ้น อาจจะเพราะว่าขณะนี้เพิ่งมีการเริ่มดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล คาดว่าหากผ่านพ้นระยะเวลา 90 วัน หรือ 3 เดือนผ่านไป อาจจะเห็นผลกระทบอะไรเกิดขึ้นตามมา ไม่เกินสงกรานต์ปีนี้คาดว่าจะเห็นผลกระทบที่เป็นรูปธรรมชัดเจน แต่จะรุนแรงเพียงใดนั้นทุกฝ่ายยังไม่มีใครพยากรณ์อนาคตได้

จัดหางานอุบลฯ ยันไม่มีแรงงานถูกเลิกจ้างจากค่าแรง 300 บาท

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 56 ที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยรายงานว่านายอาณุภาพ ศิลประเสริฐ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่พบแรงงานในพื้นที่ที่ถูกเลิกจ้างจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท มาสมัครหางานใหม่กับสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุบล ราชธานี เพราะสถานประกอบการขนาดใหญ่ 2 แห่ง ซึ่งส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรและสิ่งทอมีค่าจ้างใกล้เคียงค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลประกาศใช้อยู่แล้ว จึงปรับตัวได้ โดยผู้มาแจ้งความประสงค์สมัครงานนั้นส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ต้องการหางานใหม่แทนงานเดิมที่ทำอยู่แล้ว เนื่องจากสถานที่ทำงานไกลจากบ้านไม่คุ้มกับค่าเดินทาง บางรายเคยทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อกลับมาอยู่ภูมิลำเนาต้องการเงินเดือนเท่าเดิม

ทั้งนี้ ในแต่ละวันมีแรงงานมาตรวจสอบตำแหน่งงานว่างที่ประกาศรับสมัครเฉลี่ยวันละ 100-150 ราย ซึ่งมีบริษัท ห้างร้าน โรงแรม และสถานประกอบการประกาศรับสมัครแรงงานใหม่ในกลุ่มพนักงานขาย พนักงานบัญชี ช่าง แม่บ้าน พนักงานขับรถ กุ๊ก จำนวน 158 ตำแหน่ง จำนวน 642 อัตรา รายได้เฉลี่ย 9,000-20,000 บาท

จับตา 29 จังหวัดผวาเลิกจ้าง ค่าแรง 300 บาท สระบุรีปิดโรงงาน 200 พนักงานเคว้ง

เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 55 ที่ผ่านมามติชนออนไลน์รายงานว่านายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงมาตรการการดูแลแรงงานหลังปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ใน 70 จังหวัด วันที่ 1 มกราคม ว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ออกตรวจสถานประกอบการทั่วประเทศอย่างเข้มงวดให้มีการจ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย โดยเฉพาะ 29 จังหวัดที่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด ซึ่งให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสถานประกอบการให้ได้ 4,000 แห่งต่อเดือน และให้รายงานผลทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป หากพบสัญญาณการเลิกจ้างที่รุนแรงแจ้งได้ตลอดเวลา ขณะนี้มี 2 จังหวัดที่ส่งสัญญาณว่าจะมีการเลิกจ้างคือ จ.ขอนแก่น และ จ.พะเยา ซึ่งเป็นโรงงานในกิจการสิ่งทอและเซรามิก ทั้งนี้ กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง หรือนำสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้างจะมีความผิดตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"ซึ่งในช่วงแรกจะออกคำเตือน แต่หากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนนายจ้างที่แจ้งการจ่ายค่าจ้างเท็จ แม้ว่าลูกจ้างจะยินยอม หากตรวจพบต้องจ่ายเงินย้อนหลังให้กับลูกจ้าง ซึ่งเรื่องนี้มีอายุความ 2 ปีนับจากวันที่เกิดสิทธิ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการตรวจสอบสาเหตุการเลิกจ้างที่แท้จริงนั้นทำได้ยาก ดังนั้น ไม่ว่านายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างด้วยสาเหตุใด ต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด" นายปกรณ์กล่าว

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2555 ยังไม่พบสัญญาณการเลิกจ้างอย่างรุนแรงตามที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะทราบสถานการณ์ที่แน่ชัด ขณะนี้ คสรท.เปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์จากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และตามจังหวัดต่างๆ โดยผู้ใช้แรงงานสามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่โทร.0-2251-3170 ทั้งนี้ คสรท.จะรวบรวมข้อมูลให้กระทรวงแรงงานภายใน 2-3 เดือน และอยากให้กระทรวงแรงงานเข้มงวดในการตรวจสอบเรื่องการที่นายจ้างนำสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้างด้วย

นายชาลีกล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 กำหนดว่า ลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จะต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 30 วัน ลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อย 90 วัน ลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อย 180 วัน ลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จะต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อย 240 วัน และลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 300 วัน ของค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่ได้รับ

ด้านนายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 2 มกราคม เป็นวันแรกของการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่ง 300 บาทต่อวันจะมีผลตามกฎหมาย เชื่อว่าผู้ประกอบการโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และยอมจ่ายค่าแรงดังกล่าวทั้งหมดเพราะเป็นกฎหมาย และรักษาแรงงานเพื่อให้กิจการยังอยู่รอด ไม่เหมือนบริษัทใหญ่ไม่ได้รับความเสี่ยงดังกล่าว แต่จะอยู่รอดได้นานแค่ไหนเชื่อว่าครึ่งปีหลังจะได้ภาพผลกระทบชัดเจนขึ้น จากข้อมูลของเอกชนพบว่า ผลจากค่าแรง 300 บาทต่อวัน ทำให้ผู้ประกอบการรองเท้าปิดกิจการไปแล้วประมาณ 30 ราย นอกจากนี้ มีกลุ่มเซรามิกและเครื่องนุ่งห่มปิดกิจการและบางรายย้ายไปตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านแล้วเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเกิดกับผู้ประกอบการอย่างรุนแรงต้องการให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบด้วย

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า โดยเชื่อว่าผู้ประกอบการคงจะปรับราคาสินค้าขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งหากเป็นกลุ่มที่เน้นการจำหน่ายสินค้าในประเทศจะได้รับผลกระทบไม่มาก แต่หากเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีที่เน้นการส่งออกหรือเป็นเครือข่ายกับต่างประเทศ จะต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดที่เพิ่มขึ้น และคงไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพราะสินค้าไทยจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ หากมีราคาสูงเกินไป

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ แม้ไม่กระทบอุตสาหกรรมหลัก แต่อาจกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เพราะบางจังหวัดค่าจ้างกระโดดถึง 70-80% แต่โดยรวมแล้วจะส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 20% และกระทบต่อค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9%

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า สิ่งที่เห็นชัดคือมีการย้ายแรงงานจาก 70 จังหวัดที่ยังไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างเข้ามาในพื้นที่ 7 จังหวัดที่มีการปรับขึ้นในรอบแรก ทำให้แรงงานบางส่วนใน 70 จังหวัดได้ปรับขึ้นค่าจ้างไปแล้ว ซึ่งในตลาดแรงงาน 7 จังหวัดเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีแรงงานที่ค่อนข้างตึงตัวพอสมควร

ขณะที่นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนธันวาคม 2555 เท่ากับ 116.86 เพิ่มขึ้น 0.39% จากเดือนพฤศจิกายน 2555 และเพิ่มขึ้น 3.63% เทียบเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อขยายตัวสูงสุดในรอบปี 2555 ทำให้ทั้งปี 2555 เงินเฟ้อขยายตัว 3.02% อยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ 3-3.40%

นางวัชรีกล่าวว่า เงินเฟ้อปี 2556 กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ 2.80-3.40% บนสมมติ ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ ไม่เกิน 100-120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 28.50- 32.50 บาท/เหรียญสหรัฐ และรัฐบาลคงมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน ซึ่งปี 2556 จะมีการปรับเพิ่มรายการสินค้าและบริการมาเป็นน้ำหนักเพิ่มต่อการคำนวณเงินเฟ้อ หรือเพิ่มจาก 417 รายการ เป็น 450 รายการ อาทิ แก๊สโซฮอล์ เอ็นจีวี ค่ารักษาความปลอดภัย ค่าทำฟัน ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าเช่ารถ เป็นต้น ส่วนอัตราจะเป็นเท่าไหร่จะประชุมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในวันที่ 22 มกราคมนี้

"แนวโน้มเงินเฟ้อปีนี้น่าจะต่ำกว่าปี 2555 ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อเงินเฟ้อสูงขึ้นในปีนี้คือ ภาวะอากาศที่ประเมินว่าอาจมีภัยแล้งจะกระทบต่อผลผลิตผักสดลดลงมีผลให้บางช่วงราคาอาจแพง ส่วนเนื้อสัตว์ปริมาณยังเพียงพอไม่น่าจะมีปัญหาอะไรที่รุนแรง และต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น" นางวัชรีกล่าว

นางวัชรีกล่าวถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ว่าค่าแรงขึ้นต่ำที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.1% และไม่มีนัยสำคัญที่จะทำให้ต้องปรับราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและกลุ่มอาหารสด ซึ่งผลกระทบจะเกิดจากราคาขนส่งและพลังงานที่สูงขึ้นมากกว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้มีหน่วยงานติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าต่อเนื่อง และสายด่วน 1569 ที่จะรับเรื่องร้องเรียน หากประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบร้องเรียนมาได้

นางวัชรีกล่าวว่า กลุ่มที่ได้ผลกระทบคือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กรมการค้าภายใน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดทำแนวทางช่วยเหลือและส่งเสริมเอสเอ็มอี โดยเน้นการเข้าถึงแหล่งทุนและสินเชื่อ รวมถึงจัดหาตลาดใหม่

"ภาคอุตสาหกรรมและรายใหญ่นั้นมีการปรับตัวมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา มีการปรับตัวรับการเข้าเออีซี จึงเห็นว่าตลาดแรงงานและการทำธุรกิจมีการแข่งขันสูงมา 2 ปีแล้ว เดิมกังวลว่าการปรับขึ้นค่าแรงจะกระทบต่อเงินเฟ้อ ปรากฏว่ากระทบน้อยมากไม่มีผลต่อราคาสินค้าแพงขึ้น เพราะมีระบบการแข่งขันที่เป็นธรรมกดดันอยู่" นางวัชรี กล่าว

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้สัมภาษณ์ในรายการฟ้าวันใหม่ทางสถานีโทรทัศน์บลูสกาย ชาแนล ถึงการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 300 บาท ที่มีผลตั้งแต่ 1 มกราคมนี้ว่ารัฐบาลให้คำตอบกับบริษัทใหญ่ๆ ว่าจะลดภาษีจาก 23% เหลือ 20% แต่ห่วงเอสเอ็มอีหรือธุรกิจขนาดเล็กที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เมื่อขึ้นค่าแรงเป็น 300 แล้วจะอยู่ได้หรือไม่ได้อยากให้มีการติดตามโดยเร็ว ส่วนตัวเลขการว่างงานปีใหม่นี้จะมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 150,000 คน จากเดิม 350,000 คน เป็นเรื่องที่รัฐบาลตายใจและประมาทไม่ได้

วันเดียวกัน (2 ม.ค.) กลุ่มพนักงานบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด บริษัทผลิตชุดชั้นใน ใน อ.วิหารแดง จ.สระบุรี กว่า 200 คน นำโดย นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี เดินทางมาหน้าศาลากลางจังหวัดสระบุรี ประท้วงบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด หลังปิดกิจการไปโดยไม่แจ้งล่วงหน้า โดยมี นายชโลธร ผาโคตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ออกมารับหนังสือร้องเรียนพร้อมแจ้งว่าจะนำเรื่องนี้เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแก้ไขปัญหาให้ ซึ่งผู้ชุมนุมได้แยกย้ายกันกลับ

น.ส.ดารา (นามสมมุติ) อายุ 39 ปี อายุงาน 15 ปี กล่าวว่า ไม่มีใครคาดคิดว่าโรงงานจะปิดกิจการ เพราะทำงานจนวันสุดท้ายของปีในวันที่ 29 ธันวาคม 2555 แต่เพื่อนคนงานที่อยู่ใกล้โรงงานพบป้ายประกาศกลางดึก ก่อนจะหยุดในวันที่ 30 ธันวาคม 2555 ทำให้มีการโทรศัพท์แจ้งกันต่อๆ กัน จึงพากันหมดสนุก เนื่องจากต้องวิตกกังวลว่าจะตกงานในช่วงนี้

ด้านนายกิติพงศ์ เหล่านิพนธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สระบุรี กล่าวว่า ได้ประสานติดต่อนายจ้างให้มาเจรจากับผู้แทนพนักงาน ซึ่งนายจ้างพร้อมจะจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย และสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย โดยวันที่ 5 มกราคม นายจ้างจะมาเจรจาในเรื่องรายละเอียด ทั้งนี้โรงงานได้แจ้งเหตุผลปิดกิจการว่าเนื่องจากประสบปัญหาในเรื่องยอดคำสั่งซื้อสินค้าในต่างประเทศลดลง ไม่ใช่เรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแต่อย่างใด

"เผดิมชัย" เรียก 5 หน่วยงานประเมินผลกระทบ 300 บ. สัปดาห์หน้า

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 55 ที่ผ่านมาเนชั่นทันข่าวรายงานว่านายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.รง.) กล่าวถึงกรณีสถานประกอบการในหลายจังหวัดปิดกิจการทำให้แรงงานถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก หลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทใน 70 จังหวัดเริ่มมีผลเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาว่า เท่าที่ตนได้รับข้อมูลจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) พบว่า สถานประกอบการเหล่านี้ปิดตัว เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนสะสมมานานและยอดการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศลดลง ซึ่งสถานประกอบการเหล่านี้ส่วนหนึ่งเลือกที่จะปิดกิจการตั้งแต่ในช่วงเดือนธ.ค.2555 เพราะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเงินที่น้อยกว่าหลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ขณะที่สถานประกอบการบางแห่งยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปมาจนถึงช่วงเดือนมกราคม 2556 แต่เมื่อประเมินแล้วสู้ไม่ไหวก็เลือกที่จะปิดกิจการในช่วงนี้

"เวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทใน 70 จังหวัด คาดว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หน้าผมได้เชิญผู้บริหารทั้ง 5 หน่วยงานของกระทรวงแรงงานมาหารือเพื่อกำชับให้เฝ้าระวังและประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง รวมทั้งกำหนดแนวทางช่วยเหลือแรงงานให้สอดรับกับผลกระทบที่เกิดขึ้น และให้ทุกหน่วยงานรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นมายังกระทรวงแรงงานเป็นระยะ " นายเผดิมชัย กล่าว

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการช่วยเหลือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบนั้น วันนี้(4 ม.ค.)ได้พูดคุยกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งนายกิตติรัตน์ยืนยันว่ามาตรการตั้งกองทุนจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่ปรับเพิ่มตามที่ภาคเอกชนเสนอมานั้นไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ เพราะต้องใช้งบประมาณมาก อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือมาแล้ว 11 มาตรการ และกระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอรัฐบาลให้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจเพิ่มเติมโดยเน้นมาตรการภาษี เช่น การปรับลดภาษีหักเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2 ของเงินค่าจ้าง

รมว.แรงงาน กล่าวต่อไปว่า ส่วนข้อกังวลที่หลายฝ่ายเกรงว่า บริษัทขนาดใหญ่จะหันมาใช้บริษัทซับคอนแทรกในการทำงานมากขึ้นนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องเชิงเทคนิคที่ต้องการลดภาระในเรื่องสวัสดิการ หากต้องมีการจ้างพนักงานบริษัทเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าพนักงานของบริษัทซับคอนแทรกก็จะต้องได้รับค่าจ้างขั้นต่ำไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาทตามที่มีการออกประกาศไว้ มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามมาตรา 144 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน100,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าสถานประกอบการอาจจะมีปรับรูปแบบการจ้างงาน โดยให้ลูกจ้างงานรับงานไปทำที่บ้าน และจ่ายค่าจ้างวันละ 300 บาท เพื่อลดการจ่ายโอทีนั้น เรื่องนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วยโดยมีการตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน ซึ่งจะต้องมีฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานร่วมหารือ หากลูกจ้างยินยอมจึงจะสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม จากการที่ผมได้พูดคุยกับสถานประกอบการขนาดใหญ่ต่างไม่มีความคิดจะใช้ทั้งสองวิธีการข้างต้น ทั้งนี้ สถานประกอบการขนาดใหญ่ร้อยละ 80 กังวลเรื่องค่าวัตถุดิบและยอดสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศจะลดลงมากกว่าเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง" นายเผดิมชัย กล่าว