Thai / English

แรงงานลาวในภาคเกษตรของไทย


เนตรดาว เถาถวิล
06 .. 55
ประชาไท

การใช้แรงงานชาวลาวในไร่นาพื้นที่ชายแดนไทย-ลาวนับเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นมากขึ้นในปัจจุบัน ลักษณะการข้ามพรมแดนของแรงงานลาวเพื่อทำงานในไร่นาฝั่งไทยเป็นการอพยพตามฤดูกาล ซึ่งจะมีการอพยพมาทำงานมากเฉพาะบางช่วงที่มีความต้องการใช้แรงงานอย่างเข้มข้นในภาคเกษตร เมื่อแรงงานลาวทำงานเสร็จก็อาจอพยพกลับถิ่นฐาน หรือรับจ้างทำงานในไร่นาของเกษตรกรไทยคนอื่นๆ ในหมู่บ้านนั้นหรือหมู่บ้านข้างเคียงต่อไป ส่วนใหญ่ของแรงงานลาวที่เข้ามาทำงานในภาคเกษตรของไทยไม่มีหนังสือเดินทาง แต่จะทำใบผ่านแดนเพื่อให้สามารถเดินทางเข้ามาอยู่ประเทศไทยได้ชั่วคราว และแรงงานลาวส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย

การใช้แรงงานลาวในภาคเกษตรให้ผลประโยชน์แก่เกษตรกรไทยซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตหลายประการ เช่น ปัญหาต้นทุนการผลิตสูงแต่ราคาผลผลิตตกต่ำ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร ปัญหาแรงงานไร้ทักษะ และค่าจ้างแรงงานสูง ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวการจ้างแรงงานลาวเพื่อทำงานในไร่นาได้กลายเป็นทางเลือกที่ช่วยสร้างความอยู่รอดให้แก่เกษตรกรบางกลุ่ม เพราะการจ้างแรงงานลาวทำให้มีแรงงานมาช่วยทำงานในยามที่แรงงานรับจ้างชาวไทยขาดแคลน หรือในยามที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานเข้มข้นมาก อีกทั้งการที่ค่าจ้างแรงงานลาวโดยเฉลี่ยถูกกว่าค่าจ้างแรงงานไทย ทำให้เกษตรกรไทยที่จ้างแรงงานลาวมีต้นทุนการผลิตลดลงมาก

หากพิจารณาในบริบทที่กว้างออกไปกว่าภาคอีสาน จะเห็นว่าการใช้แรงงานลาวในไร่นาแถบพื้นที่ชายแดนอีสานเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปรับตัวของเกษตรกรไทยภายใต้บริบทการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคเกษตรกรรม (Agricultural restructuring) ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก โดยประเทศต่างๆ เน้นการหันไปผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง เช่น ผัก ผลไม้ ไม้ดอก แทนการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าต่ำที่เคยผลิตกันมา เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปอ เพื่อส่งออกไปขายยังตลาดที่มีมูลค่าสูง

การใช้แรงงานลาวในการผลิตพืชพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ที่ผู้เขียนพบในการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์เพื่อส่งออกที่จังหวัดอุบลราชธานี และการผลิตเมล็ดพันธุ์พริกลูกผสมเพื่อส่งออกที่จังหวัดอำนาจเจริญ ทำให้เข้าใจว่าแรงงานลาวมีความสำคัญต่อการเพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อส่งออกของไทย เพราะแรงงานลาวคือผู้ผลิตหลักในกิจกรรมเกษตรบางอย่าง และเป็นแรงงานทดแทนแรงงานไทยในช่วงที่ขาดแคลน อย่างไรก็ดี การจ้างแรงงานลาวในพื้นที่แถบชายแดนอีสานยังไม่มีการให้หลักประกันเรื่องรายได้และสวัสดิการแก่แรงงานลาว พูดอีกอย่างก็คือแรงงานลาวได้รับค่าตอบแทนที่ราคาถูกกว่าและมีความไม่มั่นคงในการจ้างงานยิ่งกว่าแรงงานรับจ้างชาวไทยเสียอีก

ผู้เขียนมีความเห็นว่า ความเปราะบางและความไม่มั่นคงในการจ้างงานของแรงงานลาวในไร่นาพื้นที่ชายแดนอีสานมีสาเหตุเชื่อมโยงกับการที่แรงงานลาวมีสถานภาพเป็นผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และการที่แรงงานลาวไม่มีใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย

นายจ้างชาวไทยใช้กลยุทธ์หลายรูปแบบเพื่อเข้าถึงแรงงานลาว เช่น การจ้างแรงงานลาวที่เคยมาทำงานให้ตนเองเมื่อปีก่อนทำงานในปีต่อมา การให้แรงงานลาวที่เคยมารับจ้างให้ตนเป็นนายหน้าจัดหาแรงงานให้เพิ่ม การใช้วิธีเดินเตร็ดเตร่ที่ท่าเรือข้ามฟากไทย-ลาวเพื่อติดต่อแรงงานลาว การโทรศัพท์ติดต่อแรงงานในฝั่งลาวโดยตรงเพื่อนัดหมายให้ข้ามฟากมาฝั่งไทยแล้วไปรอรับ รวมถึงการใช้บริการจากนายหน้าชาวไทยที่มีอาชีพจัดหาแรงงานลาว และการจ้างแรงงานลาวต่อจากนายจ้างรายอื่นๆ ในหมู่บ้าน นายจ้างจะพาแรงงานลาวไปทำใบอนุญาตผ่านแดนชั่วคราว ซึ่งมีผลให้แรงงานลาวอาศัยอยู่ในฝั่งไทยได้สามวัน อย่างไรก็ดีเมื่อครบกำหนดสามวันแล้ว นายจ้างชาวไทยมักไม่นำแรงงานลาวมาขอต่ออายุใบอนุญาตผ่านแดนที่ท่าข้ามเรือ เพราะต้องการความสะดวกและต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย และนายจ้างเลือกที่จะให้แรงงานลาวทำงานต่อไปจนกว่างานจะเสร็จสิ้น ซึ่งกินเวลานานนับสัปดาห์หรือเกินกว่านั้น

ทั้งๆ ที่แรงงานลาวมีคุณูปการต่อเกษตรกรไทย เช่น แรงงานลาวช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่มีความต้องการใช้แรงงานอย่างเข้มข้นและต้องเร่งรีบทำงานให้เสร็จทันเวลา เช่น การเกี่ยวข้าวซึ่งต้องเร่งทำให้เสร็จภายในเวลาไม่นานเกินหนึ่งสัปดาห์เพื่อป้องกันปัญหาต้นข้าวล้มเพราะลมแรง หรือฝนหลงฤดูตกใส่รวงข้าวจนเปียกชื้น หรือรวงข้าวสุกเกินจนแห้งกรอบ ทำให้ผลผลิตเสียหาย นอกจากนั้น การจ้างแรงงานลาวช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถหาแรงงานรับจ้างทำงานได้เพียงพอและทันเวลา ช่วยแก้ปัญหาแรงงานในครัวเรือนมีไม่เพียงพอ เนื่องจากสมาชิกครอบครัวบางส่วนอพยพไปทำงานต่างถิ่น และเกษตรกรอื่นๆ ก็ต้องไปทำงานเกี่ยวข้าวในไร่นาของตนเอง จนไม่มีเวลาไปทำงานรับจ้างในแปลงนาของเพื่อนบ้าน หากไม่มีแรงงานลาวเข้ามาช่วยทำงาน เกษตรกรไทยคงประสบภาวะที่ยากลำบากกว่าที่เป็นอยู่มาก

สำหรับในกรณีของการปลูกเมล็ดพันธุ์พริกลูกผสม ยิ่งต้องพึ่งพาแรงงานลาวในการผสมเกสรดอกพริกลูกผสมอย่างมาก เพราะเวลาในการผสมเกสรดอกพริกเริ่มตั้งแต่ตอนเช้ามืดถึงสิบโมงเช้าหรือเที่ยงเท่านั้น และงานผสมเกสรจะเริ่มต้นอีกครั้งในช่วงบ่ายสามโมงถึงค่ำ ในช่วงอากาศร้อนจะผสมเกสรพริกไม่ได้ เพราะดอกพริกจะช้ำและร่วง หรือไม่ก็เมือกที่ติดอยู่กับเกสรดอกพริกแห้ง ทำให้ดอกพริกผสมแล้วไม่ติดลูก ยิ่งกว่านั้น การผสมเกสรดอกพริกเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานมีทักษะสูงมาก เพราะต้องแคะกลีบดอกพริกตอนดอกตูมแล้วทำการผสม ไม่ให้เกสรดอกพริกหักเสียหาย แรงงานที่จะทำงานผสมเกสรดอกพริกจึงต้องเป็นแรงงานที่มีทักษะ และต้องมีจำนวนมากเพียงพอที่จะผสมเกสรดอกพริกได้ทันในเวลาเพียงไม่กี่วันก่อนดอกพริกจะบาน ในขณะที่เกษตรกรไทยมักประสบปัญหาในการหาแรงงานรับจ้างชาวไทยในหมู่บ้าน เพราะเกษตรกรไทยคนอื่นๆ ต่างก็ปลูกพริกหรือไม่ก็ยุ่งกับงานของตัวเอง ดังนั้นหากไม่มีการจ้างแรงงานลาวเข้ามาทำงาน เกษตรกรไทยผู้ปลูกพริกก็ต้องประสบปัญหาและเสี่ยงกับการขาดทุนจนอยู่รอดไม่ได้

จากกรณีศึกษาสองกรณีทำให้เข้าใจว่า แม้แรงงานลาวจะมีคุณูปการต่อภาคเกษตรกรรมของไทย แต่คนเหล่านี้กลับไม่ได้รับหลักประกันในเรื่องการทำงานและสวัสดิการ ผู้เขียนมองว่า การมีสถานภาพเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและการไม่มีใบอนุญาตในการทำงานในประเทศไทยเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้แรงงานลาวตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบและไม่มีอำนาจต่อรอง จึงจำเป็นต้องยอมรับเงื่อนไขการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม เช่น การจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น การจ่ายค่าตอบแทนต่ำกว่าราคามาตรฐานที่จ้างแรงงานไทยทั่วไป การติดค้างค่าตอบแทน หรือการไม่จ่ายค่าตอบแทนให้ครบจำนวนภายหลังจากทำงานเสร็จสิ้น การเลิกจ้างงานก่อนครบกำหนดตามสัญญา การไม่มีสวัสดิการในเรื่องสุขภาพและความมั่นคงในชีวิต และการทำงานที่เสี่ยงกับโรคจากการทำงาน เช่น การผสมเกสรพริกที่ต้องสูดดมและสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายต่อสุขภาพ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การจะทำให้แรงงานลาวเปลี่ยนสถานะเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายและมีใบอนุญาตในการทำงานอย่างถูกต้อง ยังเป็นเรื่องยากจะเป็นจริง เพราะแรงงานลาวส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน และไม่มีหนังสือเดินทาง นอกจากนั้นทางการไทยก็ไม่ได้มองเห็นตัวตนของแรงงานข้ามชาติ จึงไม่ได้ส่งเสริมให้แรงงานลาวมีใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ กลับเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในพื้นที่ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่ทำให้มีการเอาเปรียบแรงงานลาวยิ่งขึ้น เพราะภายใต้โครงสร้างที่ไม่ได้รับรองสิทธิและสวัสดิภาพแรงงานข้ามชาติ การที่เจ้าหน้าที่รัฐไล่จับกุมแรงงานลาวที่ไม่มีบัตร กลับทำให้แรงงานลาวต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ยอมรับสภาพการถูกเอรเปรียบ และกลายเป็นเหยื่อที่ไร้ทางเลือกมากขึ้น ในกรณีที่ถูกจับกุม แรงงานลาวมักจำต้องยอมร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่เรียกผลประโยชน์เพื่อแลกกับการปล่อยตัวให้สามารถเดินทางกลับประเทศลาว เท่ากับเป็นการส่งเสริมการคอรัปชั่นในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐให้เติบโตขึ้นไปอีก อีกทั้งยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกทาง เพราะพอถึงเวลาปีหน้า ฤดูกาลผลิตใหม่ แรงงานลาวก็มักจะเดินทางกลับมาทำงานในฝั่งไทยอีกครั้ง