Thai / English

สหภาพคนทำงาน ตปท. เสนอ ก.แรงงานจัดส่งคนงานแทนบริษัทเอกชน



06 .. 55
ประชาไท

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 55 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจได้รายงานว่าที่กระทรวงแรงงาน นายโพชฌงค์วัฒน์ ชื่นตา ผู้ใช้แรงงานที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน ได้ร้องเรียนต่อสื่อมวลชนประจำกระทรวงแรงงานว่า ตนและแรงงานไทยประมาณ 60 คน ได้เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม -19 กันยายน 2555 ผ่านบริษัท เค.เค.วาย. บิสซิเนส กรุ๊ป จำกัด และทำสัญญาจ้าง เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางประมาณ 75,000 บาท เป็นเงินที่กู้มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องเสียค่าวีซ่า 2 ประเภท คือ วีซ่าในการเดินทางไปทำงานและวีซ่าท่องเที่ยวอีก 2,000 บาท ทั้งหมดไม่มีใบเสร็จหลังจากการจ่ายเงิน เพื่อแจกแจงรายละเอียดว่าเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

"เมื่อได้เดินทางไปทำงาน บริษัทไม่จ่ายค่าจ้างให้แรงงานแต่อย่างใดตลอดระยะเวลาที่ทำงานเก็บผลไม้อยู่ที่สวีเดน ต้องรอจนกลับมาถึงประเทศไทยถึงได้เงินค่าจ้าง อยากให้กระทรวงแรงงานช่วยแก้ปัญหาเรื่องสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรมและสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากในการเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดน เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานที่จะเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าครั้งต่อไปถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทที่จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานอีก" นายโพชฌงค์วัฒน์กล่าว

หลังจากนั้นนายโพชฌงค์วัฒน์และเพื่อนแรงงานได้เข้าพบนายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเล่าถึงข้อเท็จจริงและให้ตรวจสอบพฤติกรรมของบริษัท เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง นายสง่ากล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายสมบัติ นิเวศรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ปัญหาจากการไปเก็บผลไม้ป่าในครั้งนี้มีน้อยมาก มีเพียงแรงงานบางส่วนเท่านั้นที่เกิดปัญหา ทั้งนี้ หากพบว่าบริษัทใดเอาเปรียบแรงงาน ในปีหน้าจะไม่อนุญาตให้จัดส่งแรงงานไปเก็บผลไม้ป่าอีก ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคมนี้จะประสานกับสถานทูตประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ เพื่อหารือเรื่องการส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่า ได้แก่ การลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร และการดูแลเรื่องสวัสดิการต่างๆ ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น

นอกจากนี้สหภาพคนทำงานต่างประเทศเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทางานที่ต่างประเทศได้ทำจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คุณธีระ วงศ์สมุทร โดยมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้

1. ขอให้ท่านนำการเจรจา (โดยมีตัวแทนของคนงานทีเสียหายร่วมเจรจาด้วย) กับอุตสาหกรรมเบอร์รี่ และรัฐบาลของสวีเดนและฟินแลนด์และรัฐบาลของทั้งสองประเทศ เพื่อให้มีการจ่ายค่าเสียหายให้กับคนงานไทยที่เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เสียหายจากฤดูกาลในปี 2555

2. ขอให้กระทรวงแรงงานหยุดให้การอุดหนุนให้บริษัทเอกชนและตัวแทนนายหน้าชาวไทย ขนแรงงานไทยมาเป็นแรงงานทาสที่ต่างประเทศเพื่อแลกกับค่าหัวคิวและรายได้เพียงเล็กน้อย และของคนกลุ่มน้อย บนความทุกข์ยากของเกษตรกรไทยจำนวนหลายพันคนทุกปี

3. ขอให้กระทรวงแรงงานหยุดค้ำประกันเงินกู้ ธกส. ให้กับบริษัทนายหน้าและอุตสาหกรรมเบอร์รี่ และหยุดทำตัวเป็นหน่วยงานประชาสัมพันธ์เชิญชวนคนไทยมาเก็บเบอร์รี่ โดยที่ไม่เข้าใจสภาพปัญหาและความยากลำบากอย่างถ่องแท้

4. กระทรวงฯ ควรจะต้องหยุดยั้งขบวนการหลอกลวงค้าแรงงานไทยต่างประเทศ ซึ่งกรณีเก็บเบอร์รี่ ให้ภาพสะท้อนที่ชัดเจนของแรงงานไทยในต่างแดนที่มีชีวิตราวกับแรงงานทาส ไม่ได้ทำงานอย่างมีคุณค่า ไม่ได้รับการเคารพในสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน และเผชิญกับความยากลำบากในการทางาน ที่ต้องลงทุนกันคนละ 160,000 บาท (ครึ่งหนึ่งเป็นเงินที่ขนออกไปจากประเทศ) โดยไม่ได้มีเงินเหลือกลับบ้านอย่างคุ้มค่า เป็นการลงทุนที่สูงเกินไป และเกษตรกรคนงานเก็บเบอร์รี่ (และครอบครัว) เป็นผู้แบกรับความเสียหายแต่เพียงฝ่ายเดียว

5. กระทรวงแรงงานต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เรื่องการส่งเสริมการไปทางานต่างประเทศผ่านบริษัทเอกชน และยุติการให้อนุญาตบริษัทจัดหางานเอกชนดำเนินการจัดส่งแรงงาน เพราะไม่มีบริษัทจัดส่งแรงงานใดเลยมีศักยภาพในการจ่ายค่าเสียหายเลยแม้แต่บริษัทเดียว ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานเอง ก็ไม่สามารถควบคุม และหยุดยั้งกลยุทธการหลอกลวงคนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือคนงานได้ทันท่วงทีกรณีเกิดปัญหา

6. ขอเรียกร้องอีกครั้งว่า ถึงเวลาแล้ว ที่กระทรวงแรงงาน ต้องรับหน้าที่พัฒนากลไก และทำตัวเป็นหน่วยงานประสานงานและจัดส่งคนไปทางานต่างประเทศให้กับผู้แสวงหางานชาวไทยเอง ซึ่งขณะนี้กระทรวงทำหน้าที่นี้ได้เพียง 5% เท่านั้น ของแรงงานที่ออกไปทางานต่างประเทศที่ต้องผ่านกระทรวงฯ