Thai / English

อดีตลูกจ้างเวิลด์เวลล์ ช้ำเจอกองทุนสงเคราะห์ ซ้ำเฉลี่ยเงินทั้งต้นและดอก



28 .. 55
http:/

อดีตลูกจ้างบริษัทเงิลด์เวลล์ การ์เม้นท์จำกัด หารืออธิบดิสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ช่วยเคลียร์กองทุนสงเคราะห์ ลูกจ้าง หลังกรมบังคับคดีเฉลี่ยเงินที่ลูกจ้างยึดทรัพย์นายจ้างขายทอดตลาด หลังนายจ้างเมินไม่จ่ายค่าชดเชย ย้ำสู้มากว่า 3 ปี หากกองทุนฯแบ่งเงินไปเหลือคนละไม่กี่พันบาท วอนเห็นใจบ้าง

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้นำอดีตคนงานเวิลด์เวลล์ การ์เม้นท์ เข้าพบ นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน คนใหม่ เพื่อหารือกรณีปัญหาที่กองทุนส่งเคราะห์ลูกจ้างยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอร่วมเฉลี่ยทรัพย์ของอดีตคนงานเวิลด์เวลล์หลังที่คนงานได้มีการยึดทรัพย์นายจ้างขายทอดตลาด

นางสาวสุพิน หมอพิมาย ตัวแทนของอดีตคนงานเวิลด์เวลล์ การ์เม้นท์ จำกัด กล่าวว่า กรณีการเลิกจ้างลูกจ้างบริษัทเวิลด์เวลล์ การ์เม้นท์ จำกัด เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ไม่จ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างจำนวน 37 คน ซึ่งลูกจ้างได้รวมตัวเรียกร้องสิทธิที่หน้าบริษัทเป็นเวลา 8 เดือน และได้ดำเนินการฟ้องร้องเพื่อยึดทรัพย์สินนายจ้างขายทอดตลาดได้เงินจากการขายทรัพย์สินนายจ้างทั้งสิ้น 1,393,925.83 บาท โดยตามคําสั่งศาลตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างเป็นเงินจํานวน 2,216,942.25 บาท เมื่อศาลสั่งขายทรัพย์สินแล้วอดีตคนงานที่ร้องบังคับคดีที่เหลือ 34 คน ได้เข้ามาช่วยกันขายทรัพย์สินทั้งหมด แต่ยังเหลือเครื่องเจาะกระเป๋า 1 ตัว ที่ขายไม่ได้เพราะราคาที่ตั้งไว้สูง จึงได้เงินมาล้านกว่าบาทซึ่งยังไม่เพียงพอตามสิทธิที่กฎหมายกำหนด แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือทางกรมบังคับคดีได้เฉลี่ยทรัพย์ให้กับกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างครบหนี้พร้อมดอกเบี้ย 15 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 675,783.09 บาท ทำให้เหลือเงินเฉลี่ยให้กับคนงานเพียง 718,142.74 บาทเท่านั้น แถมยังให้คนงานแบกภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นเงินจำนวน 233,496 บาท และปัจจุบันคนงานยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว

“ลูกจ้างอย่างเราก็ไม่ได้รู้ข้อกฎหมายมากนัก ได้ทำหนังสือเพื่อขอคัดค้านการขอเฉลี่ยทรัพย์ของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างแล้ว การที่พวกเราต้องต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม เพื่อให้ได้ซึ่งสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นายจ้างปฏิบัติมาถึง 3 ปีกว่า ใช้ทั้งเงิน แรงกาย เวลาที่มี และพวกเราส่วนใหญ่หางานทำไม่ได้เพราะอายุมาก จึงทำงานนอกระบบ ทั้งรับจ้างรายวัน บางคนได้ค่าจ้างวันละ 135 บาทต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน บางส่วนรับงานมาทำที่บ้าน วันนี้ขายทรัพย์สินนายจ้างได้มาล้านกว่าบาทแล้วกองทุนฯมาเฉลี่ยไปเกือบไม่เหลืออะไรให้กับลูกจ้างเลย มันไม่เป็นธรรม เพราะกองทุนควรฟ้องเอากับนายจ้างไม่ใช่มาเฉลี่ยจากลูกจ้าง ” สุพิน หมอพิมาย กล่าว

สุพินยังกล่าวต่ออีกว่า ทางคนงานได้ขอหารือและพยายามหาทางโดยมีข้อเสนอ 4 ข้อ คือ 1) การให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเป็นเจ้าหนี้ระดับเดียวกับลูกจ้าง 2) กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต้องไม่รับดอกเบี้ย 3) ให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเป็นผู้ซื้อเครื่องเจาะกระเป๋า 1 ตัวจากทรัพย์ที่เหลือ และ4) ให้กองทุนสงเคราะห์รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นในกระบวนการบังคับคดีทั้งหมด เพราะไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระของคนงานฝ่ายเดียว ให้เห็นใจคนงานบ้าง

นางวิเชียร ธนสัน อายุ 65 ปี อดีตคนงานเวิลด์เวลล์ การ์เม้นท์ จำกัด กล่าวว่าได้เข้ามาทำงานมาตั้งแต่โรงงานเก่าที่เป็นโรงงานทอผ้า อยู่ที่บางปะกอก พระประแดง สมุทรปราการ โดยเข้าทำงานตั้งแต่ปี 2527 ต่อมาโรงงานได้ย้ายมาเป็นโรงงานเวิลด์เวลล์ การ์เม้นท์ นายจ้างก็ให้คนงานย้ายมาด้วย และเปลี่ยนเป็นโรงงานเย็บเสื้อผ้า เย็บชุดชั้นใน ซึ่งงานมีมากต้องทำงานล่วงเวลามาโดยตลอดได้รับค่าจ้างวิกละ(15วัน)ประมาณ 2,500 บาท ช่วงที่ย้ายมามีคนงานราว 400 คน ซึ่งก็ลาออกจากงานไปบ้างเพราะว่า รายได้ที่อื่นดีกว่า และมีสวัสดิการ

“ส่วนป้าที่ไม่ได้เปลี่ยนงานเพราะต้องดูแลสามีอายุ 85 ปี ที่เป็นทหารผ่านศึกพิการขาขาด ซึ่งโรงงานวิลด์เวลล์ฯก็อยู่ใกล้กับบ้านที่เช่าอยู่ตอนนั้น ทำให้สามารถที่จะกลับไปดูสามีในช่วงพักกลางวันเพื่อหาข้าวให้ทานได้” วิเชียร ธนสัน กล่าวว่า

นางวิเชียร ยังกล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2552 หลังจากที่หยุดงานในวันแรงงานทุกคนเดินทางไปทำงานตามปกติ เมื่อไปถึงพบว่าโรงงานปิดนายจ้างประกาศเลิกจ้างคนงานทั้งหมดทุกคนจึงรวมตัวกันอยู่หน้าโรงงาน เพื่อขอพบนายจ้าง “จริงๆป้าก็อยากรู้เหตุผลนายจ้างว่าทำไมถึงปิดโรงงาน เพราะงานยังมีให้ทำ มีการสั่งให้ทำงานล่วงเวลาด้วย ป้าอายุมากแล้วจะไปหางานที่ไหนทำ ภาระก็มีมาก แต่ก็ร่วมสู้กับเพื่อนๆตลอดเพื่อให้ได้รับค่าชดเชย เพราะถือเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่จะได้รับจากนายจ้างใช้เวลากว่า 8 เดือนชุมนุมหน้าโรงงาน และฟ้องเพื่อยึดทรัพย์ และมาถึงวันนี้กว่า 3 ปีที่รอค่าชดเชยที่คิดว่าจะได้ประมาณ 6 หมื่นกว่าบาท เมื่อขายทรัพย์สินนายจ้างแล้วมาเฉลี่ยก็ได้ต่ำกว่าที่จะได้รับ พอมารู้ว่ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมาขอเฉลี่ยเงินที่จ่ายให้คนงานมาซึ่งได้มา 1.5 หมื่นบาท พร้อมดอกเบี้ย โยไม่ช่วยคนงานเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในระหว่างบังคับคดี การขนย้าย การเช่าที่เพื่อเก็บทรัพย์ และค่าจ้างยามเฝ้าเพื่อไม่ให้ทรัพย์สินหาย รู้สึกเศร้ามากเพราะเหลือเงินเฉลี่ยแบ่งกันไม่กี่พันบาท ความหวังสุดท้ายที่จะมีเงินก้อนกับเขาเพื่อใช้จ่ายในชีวิตเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว”

ผลการปรึกษาหารือของอดีตงานเวิลด์เวลล์ฯกับอธิบดีสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่กระทรวงแรงงานนั้น ด้านนายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ ได้เสนอให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่สวัสดิการแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร และกลุ่มอดีตคนงานเวิลด์เวลล์ การ์เม้นท์ กลับไปหารือกันก่อน แล้วให้นำขึ้นมาเสนอต่ออธิบดีฯอีกครั้ง

หมายเหตุ : ปัญหาคนงานบริษัทเวิลด์เวลล์ การ์เม้นท์ จำกัด 14 หมู่ 7 ถนนเศรษฐกิจ ตำบลนาดี อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 74000 สินค้าและบริการ : ตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้ประกาศเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 41 คน โดยไม่แจ้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 โดยไม่ยอมจ่ายเงินค่าชดเชย ค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างค้างจ่าย จากนั้นวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 พนักงานตรวจแรงงาน ได้ออกคำสั่งให้บริษัทเวิลด์เวลล์ การ์เม้นท์ จำกัด จ่ายเงินค่าชดเชย ค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างค้างจ่าย แต่ทางบริษัทไม่ยอมจ่าย เป็นเหตุให้ลูกจ้างทั้งหมดยื่นข้อเรียกร้องให้ กระทรวงแรงงานสำรองเงินที่บริษัทค้างจ่ายแก่ลูกจ้างก่อนเป็นเงิน 2,216,942.25 บาท พร้อมทั้งให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินคดีกับนายจ้างทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งรวมเวลาการดำเนินคดี การขายทรัพย์สินบริษัทฯทอดตลาดเป็นเวลากว่า 3 ปี โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 233,496.00 น.ได้รายได้จากการขายทรัพย์เป็นเงินรวม 1,393,925.83 บาท และมีเครื่องเจากระเป๋าที่ยังขายไม่ได้อีก 1 เครื่อง และทางกรมบังคับคดีได้ทำบัญชีเฉลี่ยทรัพย์ให้กับกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 รวมเป็นเงิน 718,142.74 บาท (ดูรายละเอียดระเบียบการบริหารงาน กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง)

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน