http:/
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2555 นางจันทนา เอกเอื้อมณี ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่องานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เปิดเผยในการประชุมประจำเดือนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามในกฎกระทรวงฉบับที่..(พ.ศ
.) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2543 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน โดยขณะนี้รอเพียงการประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็จะมีผลบังคับใช้ได้ทันทีซึ่งคาดว่าจะเป็นภายในสิ้นปีนี้
นางจันทนากล่าวว่า จากการที่มีการเรียกร้องและติดตามอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ขณะนี้ลูกจ้างทำงานบ้านกำลังจะได้รับสิทธิได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น แม้ว่าหลายเรื่องที่เรียกร้องจะยังไม่ได้รับการตอบสนอง จึงอยากให้ภาครัฐและนายจ้างช่วยให้กฎกระทรวงฉบับนี้เกิดผลในการปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ อันจะทำให้ชีวิตของลูกจ้างทำงานบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ซึ่งรายละเอียดโดยสรุปของกฎกระทรวงบางส่วนที่ลูกจ้างทำงานบ้านได้รับการคุ้มครองเพิ่มคือ
มาตรา 28 ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน
มาตรา 29 ให้นายจ้างกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้าง ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบสามวัน
มาตรา 32 ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง
มาตรา 36 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน สำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี
มาตรา 57 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาป่วยตามมาตรา 32 เท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันทำงาน
มาตรา 62 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง
สำหรับส่วนที่ยกเว้นซึ่งกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้กำหนดไม่ให้บังคับใช้ อันส่งผลให้ลูกจ้างทำงานบ้านไม่ได้รับการคุ้มครองในเรื่องสำคัญคือ
มาตรา 23 การกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวัน วันหนึ่งต้องไม่เกินแปดชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง
มาตรา 33 การลาเพื่อทำหมันและลาเนื่องจากการทำหมันตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันกำหนด
มาตรา 36 การลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ
มาตรา 39 การให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกา ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด
มาตรา 41 การให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกินเก้าสิบวัน
มาตรา 42 การให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ซึ่งมีใบรับรองมาแสดง ขอให้นายจ้างพิจารณาเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้างเป็นการชั่วคราว
มาตรา 43 การให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์
มาตรา 59 การให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกินสี่สิบห้าวัน
มาตรา 61 ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานในกรณีที่ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน