http:/
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ที่สำนักงานสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง สมาชิกสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง จำนวน 47 คน ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทนครหลวงยิ่งเจริญ จำกัด ผลิตถุงเท้า ตั้งอยู่ที่ ต.อ้อมใหญ่ อ.สามพราน จ.นครปฐม เข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงจากนางสาวสุรินทร์ พิมพา ประธานสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง เรื่องบริษัทฯประกาศปิดกิจการ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นไป เนื่องจากขาดสภาพคล่องไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
นางสาวสุรินทร์ พิมพา กล่าวว่า เมื่อเวลา 10.30 น. ได้เข้าร่วมเจรจากับนายจ้างบริษัทนครหลวงยิ่งเจริญการทอ โดยมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางคือพนักงานประนอมจากสำนักงานกองแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐมมาร่วมรับฟังด้วย ซึ่งนายจ้างก็ยอมรับว่า ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องปิดกิจการเนื่องจากขาดสภาพคล่อง ที่ผ่านมาบริษัทนครหลวงยิ่งเจริญการทอ ได้ประสบปัญหาด้านการเงินมานานแล้ว แต่ก็พยายามประคับประคองมาตลอด เช่น บริษัทได้เคยทำหนังสือขอรับสภาพหนี้การจ่ายเงินสมทบประกันสังคมบางส่วนที่นายจ้างติดค้างชำระเงินสมทบประกันสังคมอยู่ จนล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2555 ทางเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเข้าไปตัดกระแสไฟ เนื่องจากนายจ้างไม่ได้จ่ายค่าไฟกว่าแสนบาท จึงเป็นเหตุให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ในการดำเนินกิจการต่อไป จนในที่สุดนายจ้างจำเป็นต้องปิดกิจการ โดยได้มีการเจรจาร่วมกันทั้ง 3 ฝ่ายคือนายจ้าง ลูกจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งบรรยากาศการเจรจาเป็นไปอย่างง่ายดาย ภายในวันเดียวจบ นายจ้างยอมทำตามกฎหมายทุกอย่าง ซึ่งไม่รู้จะเชื่อได้แค่ไหน ก็ได้แต่หวังว่านายจ้างจะทำตามที่ตกลงไว้
นางสาวเกศแก้ว ทะเบียนธง กรรมการสหภาพผู้แทนร่วมเจรจาฝ่ายลูกจ้างกล่าวว่า การเจรจาครั้งนี้ถือว่าทุกฝ่ายยอมรับพอใจด้วยกันและยินดีปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้บันทึกและลงนามไว้ด้วยกัน โดยสรุปคือนายจ้างตกลงจ่ายค่าจ้างงวดวันที่ 16-31 ตุลาคม 2555 ในวันที่ 7 พฤศจิกายน ส่วนค่าชดเชยนายจ้างตกลงจ่ายตามกฏหมาย ตามเงื่อนไขค่าจ้างและอายุงานของลูกจ้างแต่ละคน ซึ่งส่วนใหญ่เฉลี่ยแล้วได้รับค่าชดเชยคนละ 10 เดือน (300 วัน)เนื่องจากแต่ละคนอายุงานมากว่า 10 ปีขึ้นไป แต่นายจ้างต่อรองขอลดเหลือคนละ 90 % ของค่าชดเชยแต่ละคนที่จะได้รับ การจ่ายเงินแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด คือ งวดที่ 1 จ่ายวันที่ 25 ธันวาคม 2555 งวดที่ 2 จ่ายวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 และงวดที่ 3 ในวันที่ 10 เมษายน 2556 การจ่ายเงินทุกครั้งตกลงจ่าย ณ ที่สำนักงานสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวงเท่านั้น
นอกจากค่าชดเชยแล้วยังมีสวัสดิการอื่นๆที่นายจ้างค้างจ่ายลูกจ้างหลายรายการ เช่น เงินเบี้ยขยันประจำปี ทอง (ภายหลังเปลี่ยนเป็นตัวเงินคนละ 15,000 บาท ให้กับสำหรับลูกจ้างที่งานครบ 10 ปี ขึ้นไป) เงินเกษียณอายุ เป็นต้น
นางจุฬาวรรณ ทองดี อายุ 32 ปี พนักงานแผนกทอ ทำงานมา 6 ปี 5 เดือน กล่าวด้วยความเสียใจว่า ตนกำลังตั้งท้องได้ 7 เดือน รู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรต่อไปเพราะใกล้จะคลอดแล้ว คงไม่มีที่ไหนรับเข้าทำงาน รอคลอดก่อนค่อยหางานใหม่ทำ โชคดีที่สามียังทำงานอยู่ ค่าที่พักก็ไม่ต้องจ่ายเพราะอยู่หอพักที่สามีทำงานอยู่ แต่ก็ยังมีภาระที่ต้องส่งลูกเรียน อีก 2 คน คนโตเพิ่ม 10 ขวบ ส่วนคนเล็ก 1 ขวบ อยู่ในท้องอีก 1
ส่วนเรื่องการจ่ายเงินที่นายจ้างบอกจะจ่ายให้ 3 งวดนั้น ยังกังวลเหมือนกันว่าจะได้รับครบทั้ง 3 งวดไหม เพราะขณะเห็นกันในโรงงานทุกวันส่วนที่ค้างจ่ายก็ยังไม่จ่าย เคยบอกว่าจะจ่ายให้ก็ไม่จ่ายตามที่พูด เงินตั้งเยอะจะเอาที่ไหนมาจ่าย ได้แต่ภาวนา
ส่วน นางสาวเรือน รามัน พนักงานแผนกแพ็คกิ้ง อายุ 62 ปี ทำงานมา 28 ปี พูดด้วยน้ำตาคลอว่า ตนอายุมากแล้วเมื่อมาตกงานตอนแก่ก็ต้องทำใจ คงไม่หางานใหม่ทำคิดว่าจะกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ใจหายเหมือนกันเพราะทำมานาน ยอมรับว่าผูกพันกับที่นี่มาก ไม่อยากไปคิดถึงเพื่อนๆ
ทางด้าน นางเบญญพัฒน์ คำมูล อายุ 36 ปี ร้องไห้กอดเพื่อนเสียใจที่ต้องตกงาน เพราะตัวเองมีภาระมากที่ต้องเลี้ยงลูก 4 คนเพียงลำพังเพราะสามีหนีไปแล้ว จะทำอย่างไร ตกใจที่นายจ้างปิดกะทันหัน เพราะในใจคิดว่าเขาไม่ปิดหรอก คงต้องตั้งสติ ตั้งหลักใหม่ และหางานใหม่ หวังว่านายจ้างจะไม่เบี้ยวเพื่อจะมีเงินใช้ตอนที่ยังไม่ได้งานใหม่ทำ
หลังจากนี้สหภาพฯจะได้รวบรวมรายละเอียดข้อมูลของลูกจ้างแต่ละคนเพื่อคำนวณตัวเลขที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้แต่ละคน และรวมยอดที่นายจ้างจะต้องจ่ายทั้งหมดจากการปิดกิจการครั้งนี้
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน