สหรัฐขู่ไทยค้า"แรงงานมนุษย์" จ่อแบนกุ้ง-การ์เมนต์ผวาหนัก11 .. 55 เครือมติชน ประมงไทย/ห้องเย็นกุ้ง-การ์เมนต์รับศึกหนัก หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐ (ILAB) กล่าวหาไทยเป็นเรือค้ามนุษย์-โรงงานแรงงานเด็ก จัดลำดับความรุนแรงเฝ้าระวัง Tier 2 Watch List มีการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น ก่อนประกาศแอนตี้สินค้าไทยสมาคมผู้เกี่ยวข้องดาหน้ายันสหรัฐมั่วข้อมูล ไทยไม่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา The U.S. Department of Labor"s Bureau of International Labor Affairs (ILAB) ได้ออกรายงานเกี่ยวข้องกับการละเมิดและการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมายในการผลิตสินค้า 134 รายการจาก 74 ประเทศทั่วโลก โดยไทยถูกระบุเป็น 1 ใน 134 ประเทศที่ใช้แรงงานเด็ก แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมง อาหารทะเล เครื่องนุ่งห่ม น้ำตาล และหนังสือประเภทตำราเรียน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐยังออกรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Tip Report) ฉบับล่าสุด จัดลำดับให้ไทยอยู่ในกลุ่มบัญชี Tier 2 Watch List หรือประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำ แต่ยังใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการแก้ไขปัญหา ในขณะเดียวกันก็ตรวจพบว่า มีจำนวนเหยื่อหรือการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น นายภูเบศ จันทนิมิ ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงธุรกิจประมงไทยกำลังถูกสหรัฐจับตามองว่า เป็นธุรกิจที่แฝงการค้ามนุษย์ มีระดับความรุนแรงในการเฝ้าระวังอยู่ Tier 2 Watch List และถ้าหากปรับไทยขึ้นไปอยู่ในบัญชี Tier 3 หรือประเทศที่ไม่ดำเนินการตามมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำและไม่ใช้ความพยายามแก้ไขปัญหาแล้ว สหรัฐก็จะแอนตี้สินค้าประมงจากไทย ซึ่งเรื่องนี้สมาคมยืนยันว่า เรือประมงไทยปฏิบัติไม่มีการค้ามนุษย์ ส่วนที่ทำผิดกฎหมาย คิดว่า มีเพียง 1-2% เท่านั้น ซึ่งน้อยมาก แต่เมื่อมีการรายงานข่าวเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมายในเรือประมงขึ้นมา ก็จะสร้างความเสียหายต่อภาพรวมทั้งหมด ข้อมูลที่สหรัฐได้ไปเป็นเพียงบางส่วนที่ไม่สมบูรณ์ เช่น มีลูกเรือเสียชีวิต แต่ไม่ได้ติดตามเหตุผลว่าเสียชีวิตเพราะอะไร "เราได้ทำงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มากว่า 6 เดือน มีตัวแทนของ ILO ออกเรือไปดูการทำงานและดูวิถีชีวิตคนงานบนเรือประมง และทาง ILO แสดงความเชื่อมั่นว่า สถานการณ์ในไทยไม่ได้แย่อย่างที่คิด วิถีชีวิตชาวประมงในแต่ละภูมิภาคก็แตกต่างกัน จะมาเทียบกับสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นไม่ได้" นายภูเบศกล่าว ส่วนการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานประมงที่ผิดกฎหมายนั้น ต้องอาศัยทางราชการเข้าไปตรวจสอบและจัดการกับชาวประมงส่วนที่ทำผิดกฎหมายอย่างจริงจัง แล้วเสนอข้อมูลที่ถูกต้องไปยังประเทศคู่ค้า ซึ่งทางสมาคมก็มีการประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ขณะที่นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ, สถานทูต และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมตรวจสอบโรงงาน ห้องเย็น และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศเพื่อแก้ไขข้อกล่าวหาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ การส่งออกกุ้งไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสสุดท้ายน่าจะลดลง 8% ทำให้ปริมาณการส่งออกปีนี้จะติดลบ 6-7% ต่ำที่สุดใน 8 ปี โดยเฉพาะสหรัฐซึ่งมีสัดส่วน 50% ติดลบไป 25% แล้ว และยังถูกสหรัฐออกรายงานโจมตีการใช้แรงงานเด็กของผู้ประกอบการไทยอีก ขณะที่คู่แข่ง ทั้งเวียดนาม อินเดีย เอกวาดอร์ เพิ่มการผลิตมากขึ้น ทำให้เกิดการดัมพ์ราคาส่งออกลงมาแข่งกับไทย เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดไป "แนวโน้มการส่งออกกุ้งปี 2556 ยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยในเชิงปริมาณจะลดลง 3-5% ทำให้รายได้การส่งออกลดลง 3-4% เมื่อประเมินเป็นเงินบาทอาจจะยิ่งลดลงอีก เพราะค่าเงินไทยแข็งค่า ทำให้มูลค่าส่งออกหายไปถึง 6-7%" ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลไทยยืนยันว่า ไม่มีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานที่ผิดกฎหมาย ส่วนการใช้แรงงานเด็กในการตัดอ้อยก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะต้นอ้อยเกินกำลังและความสูงของเด็ก ประกอบกับปัจจุบันไทยเข้าสู่ยุคของการใช้รถตัดอ้อยไปแล้ว นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธาน บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล จำกัด กล่าวว่า กระทรวงแรงงานกับกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานไปยังหน่วยงานกระทรวงแรงงานสหรัฐให้เข้ามาตรวจสอบประเมินโรงงานของไทยอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2552 และไม่พบว่า มีการใช้แรงงานอย่างที่สหรัฐกล่าวหา แต่กลับไม่มีการถอดไทยออกจากบัญชีดังกล่าว ตรงนี้อาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าสิ่งทอไปยังสหรัฐซึ่งมีสัดส่วนถึง 33% ของการส่งออก ขณะที่นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยังไม่ได้รับข้อมูลเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย โดยในส่วนของสมาคมผู้จัดพิมพ์เองใช้การจ้างผลิตเป็นหลัก สำหรับในส่วนของธุรกิจโรงพิมพ์ ที่มีแผนกเข้าเล่ม เก็บเล่ม ไสกาว เจียขอบ ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องใช้แรงงานฝีมือ เท่าที่เห็นส่วนใหญ่เป็นแรงงานผู้หญิง ผศ.อินทิรา บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักพิมพ์ ไทยวัฒนาพานิช จำกัด กล่าวว่า ไม่เคยมีความคิดรับแรงงานเด็กเข้ามาทำงาน เพราะรู้อยู่แล้วว่า "ผิดกฎหมาย" ธุรกิจสำนักพิมพ์ไม่เอื้อรับเด็กเข้ามาทำงาน เพราะลักษณะงานต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ และชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ขณะที่เด็กไม่มีความเชี่ยวชาญ |