นักสิทธิแรงงานแนะเลิกมองแรงงานข้ามชาติเป็นภัยคุกคามKhonkhurtai: 26 กันยายน 2555 27 .. 55 ประชาไท เสวนาการทำงานร่วมระหว่างภาคประชาสังคมกับสื่อมวลชนเพื่อแรงงานข้ามชาติที่เชียงใหม่ นักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงานย้ำ แรงงานข้ามชาติถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ชี้ไทยควรเปลี่ยนทัศนะมองแรงงานข้ามชาติเป็นภัยคุกคามความมั่นคง วานนี้ (25 ก.ย.) ที่โรงแรมเมอร์เคียว เมืองเชียงใหม่ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) จัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับสิทธิและโอกาสแรงงานข้ามชาติในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายใต้เชื่อ "การทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมกับสื่อมวลชน เพื่อพื้นที่แรงงานข้ามชาติในยุคบูรณาการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงาน สื่อมวลชน และแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ การเสวนากล่าวเน้นถึงการเตรียมการรับมือและแนวทางรองรับแรงงานข้ามชาติในปี 2558 ที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน ในสิทธิของแรงงานข้ามชาติ โดยระบุปัจจุบันแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาใช้แรงงานในประเทศไทย ถูกหลบซ่อนจากสังคม อาศัยอยู่ในเพิงพักหรือกระท่อมที่สร้างขึ้นมาในพื้นที่ก่อสร้าง ถูกจำกัดให้อยู่ในบ้านพักส่วนตัวของนายจ้าง และยังถูกเอารัดเอาเปรียบ ละเมิดสิทธิต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนจะสื่อสารเรื่องราวและสิทธิต่างๆ ของแรงงานข้ามชาติในกรอบของการทำงานของอาเซียนในอนาคต นางกาญจา ดีอุต จากมูลนิธิแมพ (MAP) กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน 2558 แต่เชื่อว่าจะยังคงมีแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามาทำงานในประเทศไทย ขณะนี้กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานงานนานแล้วกว่า 10 ปี ยังไม่ได้รับสิทธิด้านการดูแลที่เพียงพอ ขณะที่อีกสามปีจากนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ชาติประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่ยังไม่มีหลักการรองรับแรงงานข้ามชาติอย่างชัดเจน นางกาญจนา ดีอุต กล่าวอีกว่า จนถึงขณะนี้อาเซียนได้กำหนดงานสำหรับแรงงานจะทำได้อย่างอิสระเพียง 7 อย่าง คือ งานเกี่ยวกับวิศวกร, แพทย์, พยาบาล, ทัณตแพทย์, พนักงานบัญชี, งานสำรวจรังวัด และ สถาปนิก ซึ่งงานเหล่านี้ล้วนเป็นงานสำหรับผู้ผ่านการเรียนรู้มาเฉพาะด้าน ฉะนั้น ในส่วนของแรงงานข้ามชาติแล้วจะทำกันอย่างไร ด้านนางปรานม สมวงศ์ จากสมาคมผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาแห่งเอเซียแปซิฟิก (APWLD) กล่าวว่า จนถึงปัจจุบันนี้สภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ยังมองแรงงานข้ามชาติเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง ในฐานะประเทศไทยเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกประชาคมอาเซียนถึงเวลาเปลี่ยนทัศนะมุมมองนี้ นอกจากนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ยังควรที่จะเปลี่ยนเป็น "สภาความมั่นคงมนุษย์" แล้วเช่นกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันในประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ ลาว พม่า กัมพูชา รวมไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน เฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานข้ามชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวไทใหญ่ไม่มากกว่า 3 แสนคน ในจำนวนนี้มีเพียง 5 หมื่นกว่าคนที่จดทะเบียนเป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่ยังมีรายงาน แม้รัฐบาลพม่าจะประกาศสันติภาพและกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มเจรจาหยุดยิงแล้ว แต่จนถึงขณะนี้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังไม่ลดน้อยลง โดยในพื้นที่รัฐฉานซึ่งมีพรมแดนติดกับไทยด้านจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ก็ยังคงเกิดการสู้รบระหว่างทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA และทหารกองทัพพม่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าหากสถานการณ์ความข้ดแย้งยังไม่สงบอาจส่งผลให้มีผู้อพยพหลั่งไหลเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/ |