Thai / English

แรงงานอ่วมได้ขึ้นค่าจ้างแต่ค่าครองชีพกระฉูด

สมานฉันท์แรงงานเผยผลสำรวจค่าจ้างสวนทางคุณภาพชีวิต รายได้เพิ่มแต่ค่าครองชีพพุ่งเผยค่าอาหารจากวันละ 174บาทเพิ่มเป็น 259 บาท จี้รัฐคุมราคาสินค้า

17 .. 55
โพสต์ทูเดย์

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า หลังรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้าง ขั้นต่ำ 300 บาท 7 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. คสรท.จึงได้ทำการสำรวจค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงานโดยเปรียบเทียบระหว่างช่วงก่อนและหลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าจ้าง พบว่า แม้ผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่กลับไม่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นแต่อย่างใด และยังสวนทางกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง

นายชาลี กล่าวว่า ผลการสำรวจค่าครองชีพผู้ใช้แรงงานจำนวน 2,197 คน พบว่า แรงงานส่วนใหญ่ 76.6% ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทจริง ขณะที่แรงงานอีก 18.3% ได้รับการปรับค่าจ้างแบบมีเงื่อนไข โดยนายจ้างใช้วิธีนำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง หรือมีการเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน และอีก 5.1% ไม่มีการปรับค่าจ้างแต่อย่างใด ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมของนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ผลสำรวจค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานเปรียบเทียบระหว่างเดือน ส.ค.2554 กับเดือน พ.ค.ปีนี้ พบว่า ผู้ใช้แรงงานต้องเสียค่าใช้จ่ายต่อเดือนเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าเช่าบ้าน ค่าเสื้อผ้า รวมทั้งสิ้นกว่า 1.3 หมื่นบาท จากเดิมอยู่ที่ 1 หมื่นบาท

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ยังมีปัญหาหนี้นอกระบบมากที่สุด รองลงมาเป็นหนี้ธนาคาร หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้สหกรณ์ และหนี้บัตรเครดิต ซึ่งรัฐบาลควรเร่งหามาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนด้วยการหาแหล่งเงินทุนหรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย

"สถานการณ์ดังกล่าวทำให้น่าเป็นห่วงว่า คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานจะตกต่ำลงเรื่อยๆ ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาค่าครองชีพและสินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง"นายชาลี กล่าว

ทั้งนี้ คสรท.มีจุดยืนสนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้แรงงานให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างศักดิ์ศรีความเป็นคน ซึ่งจากการสำรวจของ คสรท.พบว่า ค่าจ้างที่ควรจะเป็นคือวันละ 348 บาท

นายยงยุทธ เม่นตะเภา กรรมการอำนวยการ คสรท. กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้แรงงานเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งรัฐบาลต้องมีมาตรการในการดูแลบังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำอย่างจริงจัง และจะต้องหามาตรการควบคุมค่าครองชีพไม่ให้สูงเกินความเป็นจริง

"รัฐบาลอย่าบิดเบือนข้อมูลโดยเอาลูกจ้างเป็นตัวประกันว่า หากขึ้นค่าจ้างแล้วจะส่งผลให้ค่าครองชีพเพิ่มและราคาสินค้าแพงขึ้น เพราะเมื่อเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อทั่วประเทศเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปี 2.76% แต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 2.57% เท่านั้น" นายยงยุทธ กล่าว

ด้าน น.ส.ธนพร วิจันทร์ เลขาธิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี กล่าวว่า คสรท.มีข้อเสนอให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด เนื่องจากมีคณะกรรมการค่ากลางเป็นผู้ตัดสินใจอยู่แล้ว และเพื่อให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำสอดคล้องกับอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ น.ส.ธนพร กล่าวอีกว่า อยากให้มีการตรวจสอบนายจ้างเอสเอ็มอีที่อ้างว่าประสบปัญหาขาดทุน ไม่สามารถขึ้นค่าจ้างได้จริงหรือไม่ เนื่องจากเอสเอ็มอีเหล่านี้อาจเป็นซับคอนแทร็คของบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

เปรียบเทียบค่าครองชีพ ก่อน-หลังปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท

รายจ่าย/คน/วัน ส.ค.2554 พ.ค.2555

- ค่าอาหารและค่าเดินทาง 175 บาท 259.26 บาท

- ค่าน้ำประปา 6.7 บาท 6.86 บาท

- ค่าโทรศัพท์ 10 บาท 12 บาท

- ค่าเช่าบ้าน 58 บาท 91 บาท

- ค่าเสื้อผ้า-รองเท้า 19 บาท 34 บาท

รวมค่าใช่จ่ายต่อเดือน 10,451 บาท 13,869 บาท

(ที่มา : คสรท.)