http:/
กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ จัดอบรมการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับแกนนำและกรรมการสหภาพฯรวมถึงแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ เรื่องกฎหมายประกันสังคม สิทธิที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ให้สามารถนำไปเผยแพร่ให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในสถานประกอบการเดียวกันได้รับรู้และเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องเมื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย ในวันที่ 5 สิงหาคม 2555 ณ ศูนย์วัฒนธรรมกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ มีผู้เข้าร่วมจำนวน 23 คน จัดโดยมูลนิธิเพื่อนหญิง สนับสนุนโดย แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน
นางสาวสุรินทร์ พิมพา ประธานสหภาพกิจการสิ่งทอนครหลวง กล่าวว่าต้องยอมรับไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด รัฐบาลไทยเองเมื่อรับเข้ามาทำงานในประเทศแล้วก็ต้องบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นคนชาติใดโดยไม่มีข้อยกเว้น จึงต้องมีการจัดอบรมกฎหมายเพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รู้สิทธิขั้นพื้นฐานเมื่อมาทำงานในประเทศไทย เช่นกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม
นายบัณฑิตย์ แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิงฝ่ายแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่าต้องการสร้างการเรียนรู้ให้กับแกนนำสหภาพ สหภาพแรงงานจะอยู่อย่างไรในอนาคตเมื่อนายจ้างนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทดแทนแรงงานไทย จึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจและทัศนคติให้กับแกนนำสหภาพ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติในการอยู่ร่วมกัน และให้แกนนำสหภาพสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้แรงงานข้ามชาติได้เข้าใจและเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพ
ด้านนายบัณฑิตย์ ธนะชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ให้ความรู้เรื่องหลักการประกันสังคม เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ทำไมต้องมีประกันสังคม และให้ผู้เข้าร่วมทำแบบทดสอบเพื่อทำความเข้าใจสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนก่อนช่วยกันแสดงความคิดเห็น หลักการประกันสังคมมีอะไรบ้าง 1. เป็นหลักการที่กฎหมายบังคับ 2. เป็นลูกจ้างในระบบ 3. มีนายจ้าง 4. มีรายได้ประจำ 5. กองทุนประกันสังคมจ่ายสมทบ 3 ฝ่าย 6. เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เฉลี่ยความเสี่ยงภัยร่วมกันของคนในสังคม
นายบัณฑิตย์ พูดถึงการประกันสังคมจะแตกต่างจากการประกันชีวิตของบริษัทเอกชนที่มุ่งเน้นเรื่องการคุ้มครองการประสบอันตรายจากอุบัติเหตุและการเสียชีวิต แต่ระบบประกันสังคมมีการคุ้มครองถึง 7 กรณี ซึ่งหลักประกันสังคมทั่วโลกก็จะเหมือนกันแต่การเก็บเงินสมทบจะไม่เท่ากัน และได้พูดถึงกองทุนเงินทดแทน ที่เรียกเก็บจากนายจ้างเพียงฝ่ายเดียวเป็นเงินที่นายจ้างสมทบเข้ากองทุนเมื่อลูกจ้างเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บเนื่องจากการทำงานโดยคิดจากฐานค่าแรงลูกจ้าง 90 คน โดยไม่คิดแรงงานข้ามชาติ แต่จะเรียกเก็บเพิ่มเมื่อลูกจ้างแรงงานข้ามชาติเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน และได้มีการเฉลยคำตอบแบบทดสอบโดยวิทยากรและผู้เข้าร่วม ร่วมกันแสดงความคิดเห็น จาก 5 ข้อ มี 11 คะแนน ผู้เข้าร่วมตอบได้ 9 คะแนน 1 คน 8 คะแนน 2 คน 6 คะแนน 6 คนส่วนที่เหลือลดลำดับลงไป การเฉลยทำแบบทดสอบทำให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจมากขึ้น
รายงานโดย นางสาวดาวเรือง ชานก นักสื่อสารแรงงานอ้อมน้อย อ้อมใหญ่