http://vo
แม้จังหวัดสมุทรสาครจะเป็น 1 ใน 7 จังหวัดนำร่องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท แต่จากการตรวจสอบพบว่าแรงงานชาวพม่าถูกนายจ้างกดขี่ค่าแรงไม่ยอมปรับขึ้นค่าจ้าง ส่งผลให้แรงงานพม่ากว่า 40 คน ตัดสินใจลาออก แม้ว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะระบุไว้ชัดเจนว่าแรงงานต่างด้าวทุกคนจะต้องได้รับค่าจ้างเท่ากันกับแรงงานไทย ผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตรวจสอบสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
แรงงานชาวพม่าของโรงงานผลิตเครื่องใช้พลาสติกในจังหวัดสมุทรสาครกว่า 40 คน ตัดสินใจลาออกจากโรงงานทันที หลังนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท เหมือนกับแรงงานไทย และแรงงานลาวที่ทำงานในโรงงานเดียวกัน แม้พวกเขาจะรู้ดีว่าในช่วงนี้แรงงานต่างด้าวจะหางานทำยากขึ้น เพราะเป็นช่วงที่มีการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่การรับค่าจ้างเพียงวันละ 215 บาท ไม่เพียงพอสำหรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
แม้แรงงานพม่าจะถูกกดราคาค่าจ้างขั้นต่ำมาโดยตลอด แต่มีส่วนต่างเพียง 10 15 บาทเท่านั้นเมื่อเทียบกับแรงงานชาติอื่น ต่างจากการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ที่มีส่วนต่างมากถึง 85 บาท ทำให้แรงงานพม่ากลุ่มนี้ รับไม่ได้เพราะถูกนายจ้างเอาเปรียบค่าแรงมากเกินไป ผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ จึงเสนอให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบ และเจรจากับสถานประกอบการ เพราะการปล่อยให้นายจ้างกดขี่ค่าจ้างของแรงงานต่างด้าวจะทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคม
ผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติบอกด้วยว่า ความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานต่างด้าวของรัฐบาล เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นายจ้างนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานต่างด้าว แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการะทรวงแรงงานจะยืนยันว่าแรงงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทย หรือแรงงานต่างด้าวจะต้องได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างตามนโยบายของรัฐบาล
สำหรับการร้องเรียนเกี่ยวกับการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ของแรงงานชาวพม่าในจังหวัดสมุทรสาคร ขณะนี้มีการร้องเรียนผ่านมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแล้วกว่า 70 คน เข้าร้องเรียนสถานประกอบการ 7 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการประเภทธุรกิจประมงต่อเนื่อง และโรงงานอุตสาหกรรม
หมายเหตุ : นำเสนอในThai PBS NEWS (http://news.thaipbs.or.th/content/เรียกร้องค่าจ้าง-300-บาท-ให้แรงงานต่างด้าว)