อ.ณรงค์ โต้ ทีดีอาร์ไอ ยันขึ้นค่าแรงไม่ทำ ศก.เจ๊ง"อ.ณรงค์" แย้งผลวิจัย TDRI ใช้แต่ตัวเลขแรงงานในระบบ แต่ไม่ดูเศรษฐกิจบนท้องถนนที่โตขึ้นมาชดเชย ชี้ขึ้นค่าแรง 40% ทำต้นทุนโดยรวมเพิ่มแค่ 3 - 6% อีกทั้งขึ้นราคาสินค้าแซงหน้าไปแล้ว แต่นายจ้างกลับไม่เอามาคิด ย้ำสิ่งสำคัญต้องเพิ่มศักยภาพการผลิต ไม่ใช่คิดแต่จะหา30 .. 55 ผู้จัดการ วันที่ 29 มี.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการแรงงานสมานฉันท์ ได้ร่วมพูดคุยในรายการ คนเคาะข่าว ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ภายใต้หัวข้อ 1 เมษา ดีเดย์ค่าแรง 300 บาท นายณรงค์ กล่าวถึงกรณีที่ทีดีอาร์ไอ (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย)ระบุว่าถ้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1 เมษายนนี้ จะมีแรงงานตกงาน 6-7 แสนคนทันที ว่า เรื่องนี้ขอฝากนักวิชาการ ถ้าพูดตามตรรกะตัวเลขมันไม่ผิด แต่ถ้ามองบริบทของเศรษฐกิจไทย การพูดเช่นนี้ไม่ครบถ้วนกระบวนความ และไม่สามารถสรุปอย่างนั้นได้โดยง่าย บริบทก็คือ ยกตัวอย่าง การมองไปเฉพาะภาคหัตถอุตสาหกรรม ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตล้วนๆ หรือมาถึง SME หรือไปถึงภาคค้าส่งค้าปลีกบ้างเล็กน้อย แต่ต้องเข้าใจว่าสังคมไทยเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีภาคนอกทางการใหญ่เหลือเกิน เช่น หาบเร่แผงลอย ร้านค้าต่างๆ ถ้าค่าจ้าง 300 บาท มีธุรกิจสองประเภทที่กระทบมากๆคือ 1.ประเภทที่กำไรต่ำ 2.ประเภทที่จ้างคน 50-100 คน หรือเรียกว่าธุรกิจขนาดกลาง ส่วนขนาดใหญ่ไปเลยและเล็กไปเลยไม่มีปัญหา ธุรกิจมีกำไรต่ำก็คือพวกสิ่งทอ ซึ่งถ้ามองประวัติศาสตร์ควรเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว ไม่มีประเทศไหนที่ยืนอยู่กับอุตสาหกรรมสิ่งทอครบ 50 ปี ยุคแรกของการพัฒนาอุตสาหกรรมจะเริ่มจากสิ่งทอไป 20-30 ปี แล้วสู่รถยนต์ จากนั้นไปอิเล็กทรอนิกส์ แต่ของเราข้ามไปข้ามมา และอยู่กับอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 50 ปีแล้ว ถือว่ายาวนานมาก และกำลังมีรถยนต์มาแทน แต่ก็แทนได้ไม่หมด เพราะแค่ประกอบไม่ได้ผลิตเอง สิ่งทอทำไมอยู่ไม่ได้ เพราะธรรมชาติของสิ่งทอโตมาได้จากค่าแรงต่ำ เมื่อประเทศพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง ค่าครองชีพสูง ค่าจ้างขยับ ฉะนั้นสิ่งทอก็อยู่ไม่ได้ จึงเคลื่อนไปที่อื่นที่ค่าจ้างต่ำกว่า
ถ้าสมมุติจะเคลื่อนย้ายจากไทยไปเขมร - ลาว ก็ต้องไป แบบนี้มันเกิดขึ้นทั่วโลก เป็นสิ่งปกติ ถ้าจะยึดอยู่กับสิ่งทอแล้วไม่ขึ้นค่าจ้างมันก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ส่วนธุรกิจ 50 -100 คน ต้องแข่งกับธุรกิจขนาดใหญ่ เวลากู้แบงก์ก็ได้ดอกเบี้ยแพงกว่า การส่งเสริมการลงทุนก็ไม่มี ต่างจากขนาดใหญ่ ที่หลายๆแห่งได้ยกเว้นภาษี
นายณรงค์ กล่าวอีกว่า อย่าลืมพอค่าจ้างเพิ่ม กำลังซื้อก็ดีขึ้น ส่งผลให้มีการจ้างงานดีขึ้น ปัญหาคือเวลาคำนวณตัวเลข ไม่มีตัวเลขเศรษฐกิจภาคนอกทางการ เอาแต่ในระบบทั้งหมด ไม่ดูเศรษฐกิจบนท้องถนนว่าโตขึ้นมาชดเชยหรือเปล่า
นายณรงค์ กล่าวต่อว่า ถ้าพูดแบบหนี้สิน เป็นการปรับค่าแรงขึ้นเพื่อใช้หนี้ เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเราโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ เงินเฟ้อไม่ต่ำกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ค่าจ้างขึ้นไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย แค่เงินเฟ้อยังไล่ไม่ทันเลย ทีนี้ธรรมชาติของนายจ้างไทย อยู่กับความง่ายในการกำหนดค่าจ้าง เลยไม่เตรียมตัวที่จะปรับ เลยปรับตัวไม่ทัน
การปรับตัวไม่ทันมีผลต่อการขาดทุนจริงหรือไม่ แม้แต่สิ่งทอเองต้นทุนค่าจ้างไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเพิ่ม 300 บาท ต้นทุนโดยรวมเพิ่มขึ้นแค่ 3 - 6 เปอร์เซ็นต์ คนตกใจว่าค่าจ้างเพิ่ม 40 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้หมายความว่าต้นทุนเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ สมมุติต้นทุนเดิม 100 บาท มันเป็นแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนรวม พอเป็น 140 เปอร์เซ็นต์ อาจแค่ 6 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนรวม ในขณะที่ราคาสินค้าขึ้นไปแล้ว 15 เปอร์เซ็นต์ มันขึ้นนำหน้าค่าแรงไปแล้ว แต่ความรู้สึกนายจ้างดูแต่ตัวเลขที่ขึ้น ไม่ได้ดูต้นทุนรวม
อย่ามองแค่ปัญหาเฉพาะหน้า ดูอย่างสิงคโปร์มาจากเหมือนเรา วันนี้ค่าจ้างมากกว่าเรา 6 - 7 เท่า ทำไมเศรษฐกิจไม่เจ๊ง มาเลเซียพัฒนาหลังเรา ค่าจ้างสูงกว่า 2-3 เท่า ทำไมเศรษฐกิจไม่เจ๊ง แถมดีกว่าเราอีก เพราะอะไร เราเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมเมื่อปี 1961 จีน 1980 มาหลังเรา 20 ปี แต่ขณะนี้ค่าจ้างนำเราแล้ว
ส่วนถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านว่าค่าแรงถูกมาก ถามว่าเราพัฒนาอุตสาหกรรมมา 50 ปี จะใช้ค่าจ้างเท่าลาวที่เพิ่งทำมา 4-5 ปี หรือ ในโลกนี้มีที่ไหน เราจะเทียบกับคนที่ล้ำหน้าเราไป หรือตามหลังเรามา แล้วเราจะพัฒนาไปทำไม
"แต่ต้องถามว่าทำไงให้จ่ายต้นทุนต่ำที่สุดต่างหาก รัฐบาลบริหารอย่างไร และธุรกิจไทยคิดอย่างไร ในการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม การเพิ่มศักยภาพการผลิตมันมาจาก 2 ด้าน 1.ทักษะแรงงาน 2.ความสามารถในการคิดค้นและจัดการ แต่ของเรากดค่าจ้าง มันไม่ใช่เส้นทางการพัฒนาศักยภาพ ต้องขึ้นค่าจ้างและต้องทำให้ผลผลิตเพิ่มเร็วกว่าค้าจ้าง เพราะเพิ่มค่าจ้างทำให้ของขายได้ ในสามอย่าง รัฐบาล ทุน แรงงาน ทั้งรัฐบาลและทุน คิดแต่จะเอากำไรจากแรงงาน มันจะไปยังไง ต้องรู้จักคิดค้นเทคโนโลยีให้การผลิตเพิ่มขึ้น" นายณรงค์ กล่าว
ด้านนายชาลี กล่าวว่า ค่าแรงที่ขึ้นมาก็ดีใจ แต่ถือว่าเอามาโปะกับค่าครองชีพที่ขึ้นไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเอกชนแบกรับภาระค่าครองชีพสูงมาหลายเดือนแล้ว สำหรับแรงงานไม่ได้ร่ำรวยขึ้นแต่ช่วยบรรเทาให้เดือดร้อนน้อยลง
ส่วนกรณีที่ทีดีอาร์ไอ บอกว่าแรงงานข้ามชาติจะเข้ามาแทน มันเป็นไปไม่ได้ เพราะค่าจ้างก็ได้เท่าคนไทย แต่ที่ถูกเพราะเข้ามาแบบผิดกฎหมาย แล้วถามว่ารัฐะทำอะไร ทำไมไม่ควบคุม หรือหลับตาข้างนึงแล้วปล่อยให้ทำอย่างนั้น อีกทั้งที่ว่าจะทำให้แรงงานตกงาน ตอนน้ำท่วมก็ตกงานไปเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ตัวเลขที่เอามารายงาน มีแค่ตัวเลขในระบบประกันสังคมเท่านั้น |