Thai / English

แรงงานอยุธยา 3 บริษัท บุก ก.แรงงาน วอนเจรจานายจ้างให้เลิกจ้าง-จ่ายเงินชดเชย

แรงงานอยุธยา 3 บริษัท นับร้อยบุก ก.แรงงาน ร้องช่วยเจรจานายจ้างให้เลิกจ้าง-จ่ายเงินชดเชยเลิกจ้าง ด้าน “เผดิมชัย” มอบ กสร.ช่วยเจรจากับนายจ้าง สรุปยอดสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการป้องกันเลิกจ้าง ชงเข้า ครม.ของบเพิ่มในเดือน มี.ค.นี้

07 .. 55
ผู้จัดการ

วันนี้ (6 มี.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน เวลา 09.30 น. พนักงานบริษัท พีเอส ซี เทคโนโลยี (อยุธยา) จำกัด บริษัท แอ๊คคอมพลิช เวย์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแยกและจัดเก็บขยะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และบริษัท ซันฟลอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนพื้นไม้ปาร์เก้ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา รวมประมาณ 100 คน ได้มาชุมนุมด้านข้างกระทรวงแรงงานและยื่นหนังสือต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เพื่อขอให้ช่วยเจรจากับนายจ้างให้เลิกจ้าง รวมทั้งจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายและเงินชดเชยถูกเลิกจ้าง

นายสมศักดิ์ สือเนตร วัย 44 ปี อดีตหัวหน้าแผนกผลิตบริษัท ซันฟลอริ่ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทถูกน้ำท่วมและตั้งแต่เดือน ก.ย.2554 จนถึงเดือน ก.พ.2555 ไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานรายเดือนและรายวัน ที่มีทั้งหมด 175 คน ต่อมาบริษัทได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด และแจ้งว่า จะจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายและเงินชดเชยเลิกจ้าง แต่จนถึงขณะนี้พวกตนก็ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวจากทางบริษัทจึงมาร้องเรียนต่อ กสร.

“พนักงานมีอายุตั้งแต่ 30-40 ปีขึ้นไป พวกเราไม่ได้เงินค่าจ้างมาหลายเดือนแล้ว และเมื่อถูกเลิกจ้าง บริษัทได้แจ้งว่าจะจ่ายเงินชดเชยให้พนักงานแต่ละคนตามอายุงาน ซึ่งก็ได้มีการคำนวณตัวเลขไว้แล้วว่าแต่ละคนจะได้รับเท่าไหร่ อย่างผมทำงานมา 17 ปี ได้เงินเดือนประมาณ 1.4 หมื่นบาท ก็ต้องได้เงินชดเชยกว่า 2 แสนบาท แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับเงินชดเชย โดยบริษัทอ้างว่าไม่มีเงิน เพราะประสบปัญหาน้ำท่วม” นายสมศักดิ์ กล่าว

น.ส.สุภาษิต เสือเหลือง วัย28 ปี พนักงานฝ่ายคลีนรูม บริษัท พีเอส ซี เทคโนโลยี (อยุธยา) จำกัด กล่าวว่า ตนและเพื่อนๆ พนักงานบริษัท พีเอสซี รวมถึงพนักงานบริษัท แอ๊คคอมพลิช เวย์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือบริษัทเดียวกันรวมทั้งสองบริษัท 40 คน ได้มาขอให้ กสร.ช่วยเจรจาให้บริษัทเลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชย ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ก.พ.พนักงานได้ยื่นข้อเรียกร้องขอให้บริษัทเพิ่มสวัสดิการต่างๆ เช่น จ่ายโบนัสคนละ 1 หมื่นบาท เพิ่มค่าเบี้ยขยันเป็นแบบขั้นบันไดเริ่มต้นที่ 500 บาท 700 บาท และ 800 บาท ค่าครองชีพคนละ 500 บาท ค่าอาหารจากวันละ 20 บาท เพิ่มเป็นวันละ 35 บาท ค่ารถจากวันละ 30 บาท เพิ่มเป็นวันละ 50 บาท ซึ่งทางบริษัทไม่ตอบรับข้อเรียกร้อง พวกตนจึงไปยื่นเรื่องที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อให้ช่วยเจรจากับนายจ้าง แต่ก็ไม่ได้ข้อสรุปใดๆ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มี.ค.บริษัทได้สั่งให้พวกตนหยุดงานโดยไม่มีกำหนดตนกับเพื่อนๆ จึงมายื่นเรื่องต่อ กสร.ช่วยเจรจากับบริษัทให้เลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชย

“ตอนนี้โรงงานสั่งให้พวกเราหยุดงาน และนำพนักงานจากโรงงานในเครือ จ.ปทุมธานี มาทำงานแทนและจัดสวัสดิการเพิ่มขึ้นตามที่พวกเราเรียกร้อง ทำให้รู้สึกน้อยใจ เพราะเวลาทำงานก็ทำให้อย่างเต็มที่พอเรียกร้องสวัสดิการเพิ่มก็สั่งให้หยุดงาน ก็คิดว่าขอให้เลิกจ้างเลยดีกว่า” น.ส.สุภาษิต กล่าว

ต่อมาเวลา 13.30 น.นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวภายหลังพูดคุยกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเกือบ 100 คน ใน 3 บริษัทจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า ในเรื่องนี้ได้มอบให้นายสุวิทย์ สุมาลา ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ เป็นผู้รับผิดชอบในการเจรจากับนายจ้าง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อจากนายจ้าง ส่วนบริษัทที่ร้องเรื่องความไม่เป็นธรรมของการจัดสวัสดิการนั้นก็ต้องมีการดูข้อเรียกร้องและเจรจาหาข้อยุติต่อไป

“ขณะนี้ได้สั่งการให้ นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เร่งสรุปยอดสถานประกอบการที่ยังเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม และต้องการเข้าร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ ก่อนนำมาประมวลผลว่ามีจำนวนโรงงานเท่าใดที่ต้องการรับความช่วยเหลืออีก หากมีจำนวนมากก็สามารถขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีได้โดยใช้หลักการเดิม ทั้งนี้ โรงงานจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้จากปัญหาอุทกภัยนั้น ต้องการกลับมาเปิดงานมาก แต่ไม่สามารถทำได้ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ไม่อยากจ่ายเงินเดือนโดยไม่มีผลผลิต แต่ก็ต้องทำเพื่อรักษาคนงาน” นายเผดิมชัย กล่าว