แรงงานข้ามชาติชาวพม่าร้องศาลแรงงาน ขอบริษัทซีพีชดเชยความเสียหาย01 .. 55 ประชาไท หลังประสบอุบัติเหตุจากการทำงานก่อสร้างในอาคารโรงงาน CP จนบาดเจ็บสาหัสลำใส้ใหญ่แตก กระดูกหัก นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลกว่าสามเดือน เมื่อวันที่ 28 กุมพาพันธ์ 2555 ศาลแรงงานกลางนัดพร้อมคู่ความเพื่อไกล่เกลี่ยคดีกรณีที่นายชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติชาวพม่า ยื่นฟ้องนายธารา ริตแตง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด NSV Supply, และบริษัทซีพีค้าปลีกและการตลาดจำกัด เพื่อเรียกค่าเสียหายจากอุบัติเหตุจากการทำงานก่อสร้างในบริเวณอาคารโรงงาน CP ซึ่งมีสาเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อของนายธาราและ หจก. NSV Supply ในฐานะนายจ้างผู้รับเหมา และบริษัทซีพีค้าปลีกในฐานะเจ้าของอาคารโรงงานและสถานที่ก่อสร้างซึ่งว่าให้ หจก. NSV Supply รื้อถอนและดัดแปลงต่อเติมอาคารโรงงาน แต่กลับละเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการหาผู้รับจ้างที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพก่อสร้าง และไม่ได้ควบคุมดูแลความปลอดภัยจนเกิดอุบัตเหตุเป็นเหตุให้นายชาลี ดีอยู่ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ลำใส้ใหญ่แตก กระดูกสะโพกและขาหัก นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลกว่าสามเดือน ปัจจุบันสภาพร่างกายยังอ่อนแอและไม่สามารถกำงานได้ตามเดิม ทั้งนี้ มีเพียงทนายของบริษัทซีพีค้าปลีกและการตลาดจำกัดจำเลยที่ 4 มาศาล แต่นายจ้างและผู้รับเหมาซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ไม่มาศาล เป็นเหตุให้ทนายของบริษัทซีพียุติการเจรจาไกล่เกลี่ย โดยให้เหตุผลว่า หากนายจ้างและผู้รับเหมาะไม่มาปรากฏตัวเพื่อร่วมไกล่เกลี่ยและร่วมรับผิด บริษัทซีพีจึงไม่สามารถรับผิดแต่เพียงผู้เดียวแทนจำเลยทั้งสองได้ ศาลจึงนัดสืบพยานในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 โดยในคดีนี้ นายชาลีเรียกค่าเสียหายเพื่อชดเชยค่าใช่จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าขาดรายได้ที่ไม่สามารถทำงานได้เมื่อระหว่างรักษาตัวจนกระทั่งปัจจุบัน ตลอดจนค่ารักษาพยาบาลในอนาคตและค่าขาดรายได้ในอนาคตอีกรวมเป็นเงิน 1,327,335 บาท อีกทั้งเนื่องจากชาลี มีสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทย และยังไม่สามารถหางานทำได้ตามปกติอันเป็นอุปสรรคในการต่อใบอนุญาตทำงาน เมื่อการเจรจาไกลเกลี่ยไม่บรรลุผล คดีจึงต้องยืดเยื้อต่อไป ซึ่งอาจส่งผลเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความยุติธรรมและการได้รับการเยียวยาของชาลีในคดีนี้ กรณีดังกล่าว เกิดมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 นายชาลี ถูกผนังปูนหล่นทับ ระหว่างทำงานก่อสร้างให้ผู้รับเหมา ซึ่งทำการรื้อถอน ดัดแปลง และต่อเติมห้องทำงานวิศวกรภายในอาคารโรงงานบริษัท ซีพี ค้าปลีกและการตลาด จำกัด ในอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี โดยขณะเกิดเหตุผู้รับเหมาได้ทำการทุบผนังอิฐก่อที่มีความกว้าง 4.80 เมตร สูง 2 เมตร และเป็นผนังที่ไม่มีเหล็กยึดรับน้ำหนัก โดยมิได้มีการจัดอุปกรณ์หรือโครงสร้างชั่วคราวที่ความเหมาะสม และมิได้ปรับระดับพื้นที่ยืนปฏิบัติงานให้สามารถทำการทุบผนังอิฐที่ระดับความสูง 2 เมตร ซึ่งไม่เป็นไปตามกำหนดวิธีการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยตามมาตรฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายชาลีถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปทุมธานี ต่อมาโรงพยาบาลเเจ้งตำรวจให้เข้าควบคุมตัวนายชาลี ด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย และเกือบถูกส่งกลับประเทศพม่าทั้งที่ยังป่วยหนัก แต่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาได้เข้าให้ความช่วยเหลือ นายชาลีจึงถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ที่ซึ่งนายชาลีถูกล่ามโซ่ไว้กับเตียงในสถานะผู้ป่วยต้องกัก ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายนาชาลี เและให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองชดเชยค่าเสียหายจากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัจจุบันเเม้นายชาลีจะได้รับการผ่าตัดนำลำใส้กลับเข้าช่องท้องและต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการตลอดมาเป็นเวลา 1 ปี จนอาการดีขึ้นตามลำดับ แต่ชาลียังคงต้องดามเหล็กเพื่อรักษากระดูกสะโพกและขาที่หัก โดยที่ปัจจุบันชาลียังคงไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติตามเดิม และมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถกลับไปทำงานใช้แรงงานหนักได้อีก กรณีนายชาลี เนื่องจากเป็นแรงงานข้ามชาติที่ยังมิได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จึงถูกปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับการดูแลเยียวยาการบาดเจ็บจากการทำงาน จากกองทุนเงินทดเเทน แม้สำนักงานประกันสังคมจะเข้ามาดูแลเป็นตัวกลางในการมีคำส่งให้นายจ้างเข้ามาดูแลค่ารักษาพยาบาลสำหรับนายชาลี แต่วิธีปฏิบัติเช่นนี้ เช่นเดียวกับในกรณีอื่นๆ กลับปัญหาอุปสรรคในการบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่ง หรือมีความล่าช้า ส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติไม่สามารถได้รับการเยียวยาได้อย่างทันท่วงทีและเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามสิทธิที่ตนควรได้รับ |