Thai / English

ม็อบแรงงานบุกทำเนียบ ทวงค่าจ้าง 300 บ.

ม็อบแรงงานกว่า 1,000 คน บุกทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือนายกฯ จี้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ โอดค่าครองชีพพุ่ง 2-3 เท่า สวนทางรายได้ เตือนอย่าหงอนายทุน ประกาศนโยบายหาเสียงไว้แล้วต้องทำให้ได้ ลั่นหลัง 1 เม.ย.รัฐยังเมินข้อเรียกร้

29 .. 55
ผู้จัดการ

วันนี้ (28 ก.พ.) เวลา 09.30 น. เครือข่ายแรงงานเพื่อการปฏิรูปค่าจ้างที่เป็นธรรมประมาณกว่า 1,000 คน ประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้นัดรวมตัวกันที่บริเวณด้านข้างพระลานพระราชวังดุสิต พร้อมทั้งชูป้ายแสดงจุดยืนเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศให้เป็นไปตามนโยบายหาเสียงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบตามที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางเสนอ ให้พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 40 ทั่วประเทศ ส่งผลให้เพียง 7 จังหวัดเท่านั้นที่ได้รับการปรับค่าจ้าง 300 บาทก่อนจังหวัดอื่น ซึ่งไม่ตรงตามนโยบายของรัฐบาลที่จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300บาทเท่ากันทั่วประเทศ ขณะที่การปรับเงินเดือนของรัฐวิสาหกิจและราชการ มีการปรับเท่ากันทั่วประเทศ แต่ภาคเอกชนกับไม่เท่ากันแสดงถึงความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม ขณะเดียวกันค่าครองชีพได้ขยับสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้มูลค่าของรายได้ผู้ใช้แรงงานลดลง

“มองว่าค่าครองชีพในอีก 70 จังหวัดอาจสูงเท่ากับ 7 จังหวัดที่ได้ปรับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทก่อน เนื่องจากราคาสินค้าก็มีอัตราที่เท่ากันหรือสูงกว่าในบางชนิด จริงอยากให้ปรับพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่1 เมษายนนี้ และเชื่อว่า หากปรับค่าจ้างให้เฉพาะแรงงานแรกเข้าจะเกิดปัญหาภายในโรงงานแน่นอน เนื่องจากค่าจ้างของผู้ที่มีประสบการณ์และทำงานมานานมีค่าจ้างไม่แตกต่างจากกลุ่มเข้าใหม่ จึงอยากขอความเห็นใจจากนายจ้างให้มีการปรับค่าจ้างแบบขั้นบันไดให้กลุ่มที่มีประสบการณ์ด้วย” ประธาน คสรท.กล่าว

นายชาลี กล่าวต่อไปว่า ส่วนมติคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่ออกมาว่าหากจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศแล้วจะไม่ปรับค่าจ้างอีก 3 ปีนั้นไม่เห็นด้วยเพราะการปรับค่าจ้างควรปรับตามสภาพเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ถ้าการเรียกร้องในครั้งนี้รัฐบาลยังนิ่งเฉยเชื่อว่าหลังจาก 1 เมษายนนี้ จะมีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานแน่นอน

นายชาลี ยังกล่าวถึงการแสดงท่าทีที่ไม่พอใจและตำหนิการออกมาเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานจาก นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานว่า อยากขอความเห็นใจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพราะหากผู้ใช้แรงงานไม่เดือดร้อนคงไม่ออกมาเคลื่อนไหว อีกทั้งที่ผ่านมาเรื่องการเรียกร้องก็มีทุกปี ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนก่อนๆจะออกมารับข้อเรียกร้อง จึงอยากให้นายเผดิมชัย เข้าใจในกระบวนการของภาคแรงงานที่ทำงาน เพื่อพี่น้องแรงงานส่วนรวม

“จริงๆ แล้วไม่อยากให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน อยากให้มองในเรื่องของการทำงานมากกว่า และมองว่ายังไม่ต้องการให้เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ หากท่าทีของนายเผดิมชัย ไม่หนักหนาจนแรงงานรับไม่ได้ อย่างไรก็ตามบทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดที่ต้องเป็นที่พึ่งให้กับผู้ใช้แรงงาน เพราะสถานที่แรกที่ผู้ใช้แรงงานคิดถึงเมื่อเดือดร้อนก็คือกระทรวงแรงงาน” นายชาลี กล่าว

ต่อมาเวลา 09.30 น.เครือข่ายแรงงานได้เปิดเสวนาวิชาการ” รัฐบาลพรรคเพื่อไทย กับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ โดยทันที” โดย นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง นั้น มักจะถูกฝ่ายรัฐบาลและนายจ้างพร้อมใจกันกดค่าจ้างไว้ เวลาฝ่ายการเมืองหาเสียงกับแรงงานถึงจะยอมปล่อยให้ขึ้นค่าจ้าง ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้ ต้องตัดสินใจให้ชัดเจนว่าจะอยู่ข้างนายจ้างหรือลูกจ้าง

นางสุนี ไชยรส กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ขณะนี้มีทั้งฝ่ายสถานประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะลูกจ้างมีปัญหาไม่ได้ค่าจ้าง และตกงาน ซึ่งเมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างก็จะก่อให้เกิดผลกระทบเพิ่มขึ้น ดังนั้น อยากให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐ และนักวิชาการขึ้นมาตรวจสอบและประเมินกลุ่มนายจ้างและลูกจ้างที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม

โดยแยกเป็นแรงงานที่เดือดร้อนหนัก สถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เดือดร้อน รวมถึงสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อวางมาตรการช่วยเหลือให้ชัดเจน ขณะเดียวกันขณะนี้ลูกจ้างส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงโครงการเงินกู้ของประกันสังคม ซึ่งกระทรวงแรงงานควรจะต้องแก้ไข

นางสุจิน รุ่งสว่าง ศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม. กล่าวว่า ขณะนี้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เนื่องจากขณะนี้ค่าครองชีพขยับขึ้นไปถึง 2-3 เท่าแล้ว เช่น ค่าอาหารมื้อละ 35 บาท ค่ารถไปกลับวันละ 120 บาท ถึงแม้จะมีรายได้เดือนละ 7,000 บาท ก็ยังไม่พอกับค่าใช้จ่าย จึงอยากให้รัฐบาลดูแลให้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็นวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

นายบุญมา ปงมา รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า ภาคธุรกิจไม่ควรเห็นแก่ตัวเกินไปในการปรับขึ้นค่าจ้าง 300บาท เพราะรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เช่น การลดหย่อนภาษีนิติบุคคล และเงินกู้ให้แก่ภาคธุรกิจ ซี่งก่อนหน้านี้ ได้มีสภาองค์การนายจ้างกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีไม่กี่ตระกูล ออกมาขู่จะฟ้องศาลปกครองเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ทั้งนี้ ตนมองว่า นายทุนกลุ่มนี้เป็นคนที่เห็นแก่ตัว จึงอยากให้กระทรวงแรงงานอย่าเกรงกลัวในเรื่องนี้ เดินหน้านโยบายค่าจ้าง 300 บาทต่อไป อย่าให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงของนายทุน แต่ต้องเป็นกระทรวงของแรงงานจริงๆ เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายหาเสียงไว้แล้วก็ต้องทำให้ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น เวลา 11.30 น.เครือข่ายแรงงานฯได้เคลื่อนขบวนไปยังบริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล และรวมกลุ่มปักหลักชุมนุมที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐโดยบรรดาแกนนำแรงงานได้ผลัดเปลี่ยนกันกล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงบนเวทีรถหกล้อ เพื่อเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมารับหนังสือเปิดผนึก ข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานฯ