ค่าจ้างที่เป็นธรรม: เปลี่ยนมุมคิด พลิกคุณภาพชีวิตแรงงานบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์[1] 22 .. 55 ประชาไท -1- ย้อนไปสมัยเรียนปริญญาตรีเมื่อหลายสิบกว่าปีที่แล้ว ครั้งหนึ่งต้องลงเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ฉันจำได้แม่นยำว่านักศึกษาทุกคนต้องผ่านตาคำพูดหนึ่งของ Henry Ford ผู้ก่อตั้งบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ ที่พูดไว้ว่า Quality means doing it right when no one is looking" ซึ่งคำพูดนี้เป็นที่มาของ วิถีการผลิตแบบฟอร์ด (Fordism) บริษัท Ford เป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใหญ่มากในสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1913 (พ.ศ.2456) โรงงานผลิตรถยนต์แห่งนี้มีคนงานสูงกว่าหนึ่งหมื่นคน แต่กลับพบว่ามีการประท้วงของคนงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งมีคนงานเข้าร่วมถึงแปดพันกว่าคน ที่นี่มีคนงานหมุนเวียนเข้าออกจากงานมากถึงห้าหมื่นกว่าคน เนื่องเพราะอัตราการลาออกอยู่ในระดับที่สูงมาก ฉันไม่รู้ว่าขณะนั้นในฐานะ CEO บริษัท Henry Ford คิดอะไรอยู่ พอๆกับ Walter Reuther ประธานสหภาพแรงงานที่ต้องดูภาพคนงานที่เดินเข้าออกจากโรงงานเป็นว่าเล่น อย่างไรก็ตาม 5 มกราคม ค.ศ.1914 Henry Ford ตัดสินใจประกาศขึ้นค่าจ้างให้คนงานหนึ่งเท่าตัวจากที่เคยได้รับจากเดิม พร้อมๆไปกับการลดชั่วโมงทำงานของคนงานลง คำประกาศดังกล่าวในช่วงเวลานั้นได้สร้างความตกตะลึงให้แก่สังคมทุนนิยมอเมริกันอย่างมโหฬาร กำไรของบริษัท Ford ทะยานขึ้นอย่างก้าวกระโดด อัตราการลาออกของคนงานลดลงจากเดิมเหลือเพียงหนึ่งในสิบ ขณะที่อัตราการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นถึงสามเท่าตัว เกิดอะไรขึ้นเมื่อ นายทุน ตัดสินใจยอมลด กำไร หรือ ส่วนเกิน เพื่อขึ้นค่าจ้างให้คนงาน หรือนี้คือการนำมาซึ่ง กำไร ที่สูงกว่าในอนาคต Henry Ford รู้ดีว่า การ จ่ายงาม มักมาพร้อมกับ งานที่ดี ที่จะได้กลับคืนมาในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเสมือนเป็นเครื่องบังคับทางอ้อมให้ลูกจ้างต้องขยันทุ่มเททำงานหนักเพื่อรักษางานนี้ไว้ เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่างานอื่นๆ ความขยันทำงานหนักของลูกจ้างจึงส่งผลประโยชน์ให้นายจ้างในบั้นปลาย รวมทั้งยังสามารถทำให้คนงานในโรงงานสามารถซื้อรถฟอร์ดที่โรงงานผลิตออกมาได้อีกด้วย -2- แม้ฉันจะเป็นลูกทะเลที่คุ้นชินกับกลิ่นทะเลมาแต่อ้อนแต่ออก แต่กลิ่นคาวของปลา ปลาหมึก กุ้งสดๆ ที่สะพานปลาแห่งนี้ กลับชวนให้คลื่นเหียนและต้องรีบวิ่งออกไปอาเจียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนหมดแรง ที่นี่เต็มไปด้วยแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่ากว่า 300 คน ที่จ้างงานด้วยค่าแรงไม่ถึง 150 บาทต่อวัน ภาพของการใช้รองเท้าบู้ทย่ำและเหยียบไปบนอาหารทะเลสดๆเหล่านี้ก่อนจะถึงมือผู้บริโภคอย่างฉัน ทำให้คนโปรดปรานอาหารทะเลไม่กล้าแตะไปอีกหลายเดือน ด้วยค่าแรงต่ำต้อยเพียง 150 บาท แลกกับการทำงานตั้งแต่ตี 3 จนถึง 3 โมงเย็น กว่า 12 ชั่วโมง แม้จะเป็นที่โปร่ง แต่กลับอับชื้น และเต็มไปด้วยกลิ่วคาวคละคลุ้งของฟอร์มาลีนซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ บางแพมีการแอบใช้แรงงานเด็ก อีกหลายคนก็ต้องทำงานหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง ยิ่งถ้าเรือเข้าติดๆกันยิ่งไม่มีเวลาพัก ไม่มีวันหยุด แต่แรงงานข้ามชาติทุกคนกลับต้องยอมอดทนและก้มหน้ารับชะตากรรมที่ไม่ได้ร้องขอนี้ การลงแรงทำงานหนักไม่ได้ช่วยให้นายทุนเพิ่มค่าแรงให้แต่อย่างใด ดูเหมือนว่าการทำงานแต่ละวันๆเพื่อให้เวลาเดินผ่านไปเร็วที่สุดเป็นทางเลือกที่หล่อเลี้ยงความหวังของแรงงานที่นี่ หลายต่อหลายครั้งที่เรือลำแล้วลำเล่าแล่นเข้ามาเทียบท่า สองมือก็ระวิงไม่ได้หยุดพัก รถรับส่งอาหารทะเลจากโรงแรมคันแล้วคันเล่าทยอยเข้ามารับของไม่ขาดสาย แต่ค่าแรงคนงานก็กลับคงที่เท่าเดิมและกลายเป็นเรื่องปกติของนายจ้างแถบนี้ไป ดำ แรงงานข้ามชาติชาวมอญที่ทำงานที่นี่มากว่าสิบปีแล้ว เล่าให้ฉันฟังว่า ถ้าผมมีบัตรถูกกฎหมาย ผมไม่อยู่ที่นี่แล้วพี่ แม้ผมจะขยันทำงานมาก แพปลามีอาหารทะเลส่งออกไปตามร้านอาหารใหญ่ๆมากขึ้น แต่ชีวิตพวกผมก็เหมือนเดิม ค่าแรงเท่าเดิม จะทำมากทำน้อยไม่ต่างกัน ค่าแรงเท่ากับการทำงานตามมีตามเกิด พวกผมถึงทำไปแบบให้หมดเวลาไปวันๆ งานอย่างนี้ไม่มีคนไทยคนไหนมาทำหรอก ถ้าไม่จ้างพวกผม เจ๊จะไปจ้างใครมาทำ ไม่มีหรอกครับ แม้ขยันทำงานมาก หนัก ทุ่มเท ทำให้แพได้กำไรมากขึ้น แต่ก็ไม่เคยตกถึงพวกผมแม้แต่น้อย ที่พี่เห็นหลายคนใช้เท้าเหยียบไปบนอาหารทะเล เพราะไม่มีใครอยากใช้มือหรอกครับ กลัวฟอร์มาลีนกันทั้งนั้น และเจ๊ก็ไม่สนใจอยู่แล้ว ขอมีอาหารทะเลส่งออกเป็นพอ พวกผมมีหน้าที่ใช้เท้าคัดแยกเป็นกองๆตามขนาดอย่างเดียว ที่เหลือเจ๊ก็ไปจัดการเอาเอง สกปรก ไม่สกปรก กินได้ กินไม่ได้ ผมไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องของผม -3- ปิดกิจการ ปลดคนงาน ย้ายฐานการผลิต ภาคธุรกิจกระอัก แรงงานตกงาน นายทุนพังแน่ การเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันจะเป็นแรงกดดันให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวหันไปใช้เครื่องจักรแทนคนงานมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นห่วงอนาคตแรงงานไทยที่อาจจะลำบากในการหางาน แม้ว่าระยะสั้นนี้จะยังไม่เกิดปัญหาก็ตาม (นายพากร วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) หากเป็นไปได้รัฐบาลควรจะชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันใน 7 จังหวัดนำร่อง เม.ย.55 นี้ออกไปอย่างน้อยสิ้นปี เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ประสบภาวะน้ำท่วม เนื่องจากคาดว่า มิ.ย.55 โรงงานต่างๆจึงจะกลับมาฟื้นตัวผลิตได้ 100% ซึ่งสิ่งที่เป็นห่วงคือธุรกิจเอสเอ็มอีที่อาจไม่สามารถรักษาคนงานเอาไว้ได้ หากมีการขึ้นค่าแรงซ้ำ (นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ผู้ประกอบการในนิคมฯ ภาพรวมยังคงจ่ายค่าแรง 75% แม้ว่าจะยังไม่กลับมาผลิตเพราะต้องรอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ได้ร้องผ่านมาเพื่อเสนอให้รัฐได้พิจารณาช่วยเหลือในการชะลอการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันออกไปก่อน เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ลงทุนอย่างมาก (นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูรประธานกรรมการบริหาร สวนอุตสาหกรรมบางกะดี่) โรงงานประสบน้ำท่วมในนิคมฯสหรัตนนคร คาดว่าจะเดินเครื่องผลิต 1 มี.ค.55 แต่ที่ผ่านมาบริษัทได้จ่ายเงินเดือนพนักงานเต็ม 100% อย่างไรก็ตามการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนั้น หากรัฐบาลชะลอออกไปได้ก็จะดีต่อภาพรวมของนักลงทุน (นายยาสุโนริ ซาคูไร ประธาน บริษัททีเอสเทค ประเทศไทย จำกัด) -4- แง่คิดจากเวทีเสวนาเรื่อง มหาอุทกภัยจากไป คำถามต่อชะตากรรมและอนาคตแรงงานหญิง? เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2555 จัดโดยกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และจากการแลกเปลี่ยนกับผู้นำแรงงานบางท่าน [2] ชี้ชวนให้ตระหนักชัดในอีกมุมของความจริงที่บางครั้งหลงลืม-ละเลย-และไม่พยายามมองเห็นว่า (1) การที่ลูกจ้างยิ่งได้รับค่าจ้างสูงและเป็นค่าจ้างที่มีความเป็นธรรม มากพอที่ตัวเองและครอบครัวสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจมหภาคตามมา เพราะเป็นการช่วยกระตุ้นความต้องการใช้จ่ายรวมของระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อคนงานมีรายได้สูง ย่อมมีอำนาจซื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น เป็นการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปในตัว ทำให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การผลิตและการจ้างงานของเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แม้ต้นทุนแรงงานจะสูงขึ้น แต่สินค้าก็ถูกผลิตเพิ่มมากขึ้น ภาคธุรกิจก็ได้ประโยชน์ตามไปด้วย เพราะแรงงานผลิตสินค้าได้มากขึ้น และสินค้าก็ขายได้มากขึ้น เพราะแรงงานมีอำนาจซื้อสูงขึ้น (2) ค่าแรงขั้นต่ำมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพียงเท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานราคาถูกหรือกดค่าจ้างให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องมาพร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานควบคู่กันไป เช่น การลงทุนวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์, เทคนิคการผลิตแบบใหม่ ๆ หรือการลงทุนในการพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน (3) แม้จะมีการอ้างว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศใกล้เคียงที่ยังมีอัตราค่าจ้างต่ำกว่ามาก คำถามสำคัญที่ต้องตอบอย่างตรงไปตรงมาต่อคือ ประสิทธิภาพแรงงานของประเทศที่มีค่าจ้างต่ำกว่า เท่ากับประสิทธิภาพและฝีมือของแรงงานไทยที่ทำอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ เพราะพบว่าประเทศที่มีค่าจ้างขั้นต่ำถูกจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพด้านฝีมือการผลิตสินค้าสู้ประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่าไม่ได้ รวมถึงความไม่พร้อมระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน ความเสี่ยง ที่ดินในการตั้งโรงงาน และการขนส่งสินค้า และเมื่อพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำในประเทศแถบอาเซียนเมื่อเทียบกับค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อในประเทศนั้นๆ พบว่าเมื่อเรียงตามลำดับอัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดไปถึงต่ำที่สุดนั้น ยิ่งเป็นไปได้ยากที่นายทุนในประเทศไทยจะย้ายฐานการผลิต - ลำดับที่ 1 ประเทศสิงคโปร์มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน คือ ประมาณ 55,500 บาท/เดือน - ลำดับที่ 2 ประเทศมาเลเซียมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 15,900 บาท/เดือน - ลำดับที่ 3 ประเทศฟิลิปปินส์มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 6,960 บาท/เดือน - ลำดับที่ 4 ประเทศไทยมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 6,450 บาท/เดือน - ลำดับที่ 5 ประเทศอินโดนีเซียมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 3,360 บาท/เดือน - ลำดับที่ 6 ประเทศเวียดนามมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 1,650 - 1,800 บาท/เดือน - ลำดับที่ 7 ประเทศลาวมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 2,642 บาท/เดือน - ลำดับที่ 8 ประเทศกัมพูชามีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 1,830 บาท/เดือน - ลำดับที่ 9 ประเทศพม่ามีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท/เดือน (4) แน่นอนเรามักเข้าใจกันว่าเมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้น สินค้าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่มิได้หมายความว่าค่าแรงเพิ่มขึ้น 30 บาท สินค้าจะเพิ่มขึ้นชิ้นละ 30 บาทในอัตราที่เท่ากัน เพราะเมื่อเท่ากันจะกลายเป็นเรื่องผิดปกติอย่างแน่นอน ทางออกที่เหมาะสม คือ การที่รัฐบาลต้องเข้าไปหนุนช่วยในกลไกการผลิตส่วนอื่นๆ เช่น ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอะไหล่ ลดภาษีรายได้บริษัท หรืออื่นๆ รวมถึงการหนุนช่วยในเรื่องของการพัฒนาการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้พ้นจากการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น ไปสู่การผลิตที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น การสร้างศูนย์เรียนรู้ของกรมการศึกษานอกโรงเรียนใกล้แหล่งโรงงาน เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ของแรงงาน เป็นต้น (5) อีกหลายคนก็กังวลใจว่าจะมีการหลั่งไหลการเข้ามาเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือระดับล่างจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม หรือจีน ในกรณีนี้ถึงเวลาแล้วที่การจ้างงานในประเทศไทยต้องยอมรับว่าเราไม่สามารปฎิเสธการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้ได้ นี้ไม่นับในปี 2558 ที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน การหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน โจทย์ที่ท้าทายมากกว่าคือ เหตุใดนายจ้างไทยจึงนิยมจ้างแรงงานข้ามชาติ? เพราะปัจจุบันทราบกันดีอยู่แล้วว่าแรงงานข้ามชาติยังคงรับค่าจ้างและสวัสดิการต่ำกว่าแรงงานไทย แม้กฎหมายไทย เช่น พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จะไม่ได้ยกเว้นแรงงานข้ามชาติจากสิทธิทั้งหลายที่กฎหมายกำหนด แต่ในความเป็นจริงนายจ้างก็กลับจ่ายค่าแรงต่ำกว่ามาก อีกทั้งไม่ได้ให้สวัสดิการใดๆที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นความท้าทายของขบวนการแรงงานไทย คือ ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถบังคับใช้กฎหมายให้ได้จริง เพื่อทำให้แรงงานข้ามชาติต้องได้รับค่าตอบแทนในทุกรูปแบบเท่ากับแรงงานไทย เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันในการจ้างงานที่ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกันเหมือนในปัจจุบันนี้ (6) นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักคาดการณ์หรือให้ข้อมูลว่า การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะนำมาซึ่งการจ้างงานที่ลดลง เพราะค่าแรงมีราคาสูงขึ้น เป็นการทำลายบรรยากาศในการลงทุน และมิพักต้องทำให้สินค้าราคาแพงขึ้นไปอีกเพราะต้นทุนสูงขึ้น จนส่งผลต่ออุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามมีผลการศึกษาของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มค่าจ้างจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา [3] ที่ชี้ชัดว่า ต้นทุนการจ้างแรงงานที่สูงขึ้นไม่ส่งผลให้เกิดการปลดคนออกจากงาน หรือการย้ายฐานการผลิตไปยังเมืองอื่นที่มีระดับค่าจ้างขั้นต่ำกว่าแต่อย่างใด ผลการศึกษาชี้ว่าต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ภาคธุรกิจจะปรับตัวโดยการขึ้นราคาสินค้ากับเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในกระบวนการผลิตแทน เพราะค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการพัฒนาผลิตภาพ (Productivity) มากขึ้น การเปลี่ยนงานมีแนวโน้มลดลง ช่วยลดต้นทุนการรับคนงานใหม่และลดต้นทุนการพัฒนาแรงงาน (7) จากการที่แรงงานส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ เพราะมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 9,000 บาท จึงทำให้แรงงานเหล่านี้ต้องดิ้นรนในการทำงานนอกเวลา โดยต้องทำงานถึงวันละ 10-14 ชั่วโมง เพื่อให้พอมีรายได้เพียงพอต่อรายจ่าย บางครั้งที่รายได้ไม่เพียงพอยิ่งส่งผลต่อปัญหาเรื่องภาระหนี้สินของแรงงานที่ไม่มีเงินออมต้องไปกู้ยืมหนี้นอกระบบมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงในเรื่องของการไม่มีเวลาในการดูแลครอบครัว ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาด้านครอบครัวอื่นๆติดตามมาเพิ่มขึ้น (8) ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 กองทุนประกันสังคมมีผู้ประกันตนทั้งหมดจำนวน 10,283,689 คนล้านคน จากกำลังแรงงานที่มีงานทำในภาคอุตสาหกรรม 24.23 ล้านคน ตัวเลขนี้เป็นภาพสะท้อนว่า มีผู้ใช้แรงงานอีกจำนวนมากที่มีงานทำ แต่เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม คนเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับสวัสดิการพื้นฐานของระบบประกันสังคมและจำนวนมากก็อาจไม่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ เพราะไม่มีอำนาจต่อรองอะไร กลุ่มที่เข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม ประกอบไปด้วย แรงงานในภาคเกษตรกรรม แรงงานนอกระบบ หรือกลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้น้อย เช่น กรรมกรก่อสร้างอิสระ รับจ้างทั่วไป หาบเร่แผงลอย ผู้ขับรถรับจ้างสาธารณะ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น ที่ผ่านมาการหยิบยื่นความช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ให้กับผู้มีรายได้น้อยและคนยากจน ถือเป็นการช่วยเหลือที่ทำให้ผู้รับความช่วยเหลืออ่อนแอลง ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างเงินเดือน การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางด้านรายได้ที่ทำให้ผู้ได้รับประโยชน์มีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของตัวเอง และเป็นการเพิ่มสวัสดิการทางสังคมให้ภาครัฐในทางอ้อม -5- เมื่อสิงหาคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้สำรวจค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงานจำนวน 3,660 คน ใน 16 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ทำงานขององค์กร พบว่ามีคนงานถึง 68.61 % ได้รับค่าจ้างไม่ถึง 300 บาทต่อวัน มีคนงาน 19.86 % ที่มีค่าจ้างมากกว่า 300 บาทต่อวัน (ในที่นี้มีผู้ไม่ตอบคำถาม 11.53 %) แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายรายวันสำหรับแรงงาน 1 คน ประกอบด้วย ค่าอาหารสามมื้อ ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่าโทรศัพท์ ค่าเครื่องอุปโภค ค่าใช้จ่ายอื่นๆ พบว่าเป็นเงินต่อวันรวมทั้งสิ้น 348.39 บาท ทั้งนี้ไม่รวมเงินที่ส่งให้พ่อแม่ ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเครื่องสำอางค์ ค่าผ่อนบัตรเครดิต ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าเสื้อผ้า รองเท้า ทำบุญ กิจกรรมบันเทิง หาความรู้ และเงินออม ขณะที่หากคำนวณตามอนุสัญญาฉบับที่ 131 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นต้องครอบคลุมถึงครอบครัว รวม 3 คน จะมีรายได้อยู่ที่วันละ 561.79 บาท ที่พอจะทำให้มีชีวิตปกติสุขเพราะเวลาพูดถึง ค่าจ้างขั้นต่ำ เรากำลังหมายถึง อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างคนเดียวสามารถดำรงชีพอยู่ได้ (ไม่รวมสมาชิกในครอบครัว) เท่านั้น ในที่นี้สิ่งที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกำลังพูดถึง คือสิ่งที่เรียกว่า ค่าจ้างเพื่อชีวิต หรือLiving Wage ไม่ใช่แค่ ค่าจ้างขั้นต่ำ-Minimum Wage เท่านั้น เพราะ Living Wage คือ ค่าจ้างที่แรงงานจะสามารถสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีระดับมาตรฐานการครองชีพที่อยู่ได้อย่างภาคภูมิใจ สามารถธำรงความเคารพนับถือในตัวเอง อีกทั้งเป็นระดับค่าจ้างที่ทำให้แรงงานมีหนทางและเวลาว่างเพียงพอที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง พี่คนหนึ่งที่หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย เคยเล่าให้ฉันฟังว่า กลางทศวรรษที่ 1990 กระแสเรียกร้องเรื่อง Living Wage ก่อตัวและสั่นไหวสะเทือนทั่วสหรัฐอเมริกา เมื่อกลุ่มองค์กรด้านศาสนาคริสต์ที่เมือง Baltimore ซึ่งให้บริการที่พักสำหรับคนไร้บ้านและจัดการอาหารบริจาคฟรีแก่คนยากจน เริ่มสังเกตเห็นจำนวนผู้รับบริการเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่คนเหล่านั้นต่างมีงานทำปรากฏการณ์ที่แรงงานคนหนึ่งๆต้องพาครอบครัวมารับบริจาคอาหาร ย่อมแสดงให้เห็นว่าค่าจ้างที่พวกเขาได้รับมิอาจเลี้ยงตัวเองและครอบครัวในแต่ละสัปดาห์ได้โดยไม่ต้องดิ้นรน ต่อมามีการเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตของคนงาน จนในที่สุดเมื่อปี 1995 สภากฎหมายของเมืองแห่งนี้ได้ผ่านกฎหมายการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยคำนึงถึงหลักการของ Living Wage เป็นสำคัญ ส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำในเมืองนี้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8-11 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง เปรียบเทียบกับระดับค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศซึ่งรัฐบาลกลางกำหนดไว้ที่ 5.5 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง และไม่ได้ทำให้แรงงานตกงานแต่อย่างใด ดังนั้นถึงเวลาแล้วเหรอยังที่เราต้องเปลี่ยน จุดเริ่มต้น ของการคิดใหม่ จากผลกระทบและความอยู่รอดที่จะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจ เปลี่ยนมาเป็นการมองถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของ ผู้ใช้แรงงาน ที่แรงงานคนๆ หนึ่งควรจะได้รับนั้นเป็นอย่างไร เพื่อสร้างชีวิตที่ดีและเสรีภาพที่แท้จริง เราจะได้เข้าใจมากขึ้นว่า 300 บาท เป็นเรื่องที่ ควรฟัง และ ควรลงมือทำ อย่างยิ่งตั้งแต่วันนี้ Let's Do It ++
[1] ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย [2] ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับคุณชาลี ลอยสูง คุณยงยุทธ เม่นตะเภา และคุณบุญสม ทาวิจิตร สำหรับแง่มุมที่ชวนให้คิดในเรื่อง ค่าจ้าง เพิ่มขึ้น [3] ดูเพิ่มเติมที่ http://www.epinet.org/content.cfm/issueguides_livingwage_livingwagefaq |