Thai / English

จับตาธุรกิจปิดหนีขึ้นค่าแรง300บ. ธปท.ชี้อุตฯ"สิ่งทอ-รองเท้า-เฟอร์ฯ"อ่วมต้นทุนเพิ่ม



22 .. 55
เครือมติชน

ลุ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท บีบโรงงานปิดตัวก่อน เม.ย. ลอยแพแรงงาน ธปท.เผยอุตสาหกรรมใช้แรงงานสูง สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า เจอพิษต้นทุนกระหน่ำอ่วมสุด สำนักงานสถิติเผยการว่างงานยังต่ำ ตลาดแรงงานตึงตัว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า กรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทในพื้นที่บางจังหวัด ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2555 เป็นต้นไป แม้จะไม่น่ากังวลว่าจะสร้างปัญหาเงินเฟ้อในปีนี้ แต่มีประเด็นที่ต้องติดตามคือ ขณะนี้มีธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานสูง เช่น สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจปิดโรงงานก่อนที่อัตราค่าแรงขั้นต่ำจะมีผล ทั้งนี้เพราะหากมีการฟ้องร้องและต้องจ่ายค่าเสียหายก็สามารถจ่ายบนค่าแรงเดิมได้ แต่หากไปปิดหลังจากนั้นจะต้องจ่ายบนค่าแรงขั้นต่ำใหม่

"เท่าที่ได้ทราบข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมฯ โรงงานส่วนหนึ่งที่ปิดคือเพื่อย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น จริง ๆ แล้วเรื่องนี้น่าจะมีการเลื่อนออกไปเพื่อให้มีการปรับตัว แต่เมื่อจะเริ่มมีผลเดือน เม.ย.นี้แล้ว ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีการปิดตัวมากเพียงใด แม้จะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมเนื่องจากส่วนอื่น ๆ ยังมีการเติบโต แต่จะมีผลต่อการว่างงานของแรงงานบางส่วน" นาย กอบศักดิ์กล่าว

ขณะที่รายงานแนวโน้มธุรกิจ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจการเงินระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับผู้ประกอบธุรกิจเอกชนระบุว่า ในระยะต่อไปผู้ประกอบการเห็นว่าต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยปัจจัยสำคัญคือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ราคาวัตถุดิบนำเข้าที่สูงขึ้น รวมถึงนโยบายลอยตัวก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้กระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้าและเครื่องหนัง และอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงพลังงาน เช่น อุตสาหกรรมเซรามิกและแก้ว ขณะที่มีเพียงบางอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ปรับเพิ่มราคาได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง

นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเห็นว่า การปรับราคาในประเทศสามารถทำได้มากกว่าในตลาดต่างประเทศ ดังนั้นส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องลดสัดส่วนกำไรลง และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแทน

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังเห็นว่า ตั้งแต่ไตรมาส 1/55 เป็นต้นไป ตลาดแรงงานจะยิ่งตึงตัวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลของนโยบายขั้นต่ำ 300 บาท ที่ทำให้แรงงานส่วนหนึ่งเลือกกลับไปทำงานที่ภูมิลำเนาแทน ขณะที่แรงงานบางส่วนยังไม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน เนื่องจากยังได้รับสิทธิประโยชน์แทนการว่างงานเป็นเวลา 6 เดือน แต่แรงงานต่างด้าวเริ่มกลับเข้ามาทำงานในสาขาการผลิตแล้วหลังจากกลับภูมิลำเนาในช่วงน้ำท่วม

ส่วนสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) รายงานภาวะการมีงานทำของประชากรไทย ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2554 ว่า ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 54.24 ล้านคน เป็นผู้ที่พร้อมจะทำงาน 39.79 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำทั้งสิ้น 39.49 ล้านคน หรือผู้ว่างงาน 1.72 แสนคน ผู้ที่รอฤดูกาล 1.2 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่ในนอกกำลังแรงงานหรือไม่พร้อมทำงาน เช่น แม่บ้าน คนชรา มีทั้งสิ้น 14.46 ล้านคน

ทั้งนี้ พิจารณาเฉพาะผู้ว่างงาน 1.72 แสนคน หรือคิดเป็น 0.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 ที่มีผู้ว่างงาน 2.68 แสนคน พบว่าผู้ว่างงานลดลง 9.6 หมื่นคน แต่ถ้าเทียบกับเดือน พ.ย. 2554 ที่มีผู้ว่างงาน 3.22 แสนคนนั้น พบว่าผู้ว่างงานลดลง 1.50 แสนคน