Thai / English

สถานการณ์น้ำท่วมต่อการเลิกจ้างแรงงานหญิงในพื้นที่

สถานการณ์น้ำท่วมต่อการเลิกจ้างแรงงานหญิงในพื้นที่ : มหาอุทกภัยจากไป คำถามต่อชะตากรรมและอนาคตแรงงานหญิง?”

21 .. 55
http://voicelabour.org

(1) สถานการณ์ภาพรวม

แรงงานหญิงมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด 38 ล้านคน เป็นผู้หญิงจำนวน 17.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของผู้มีงานทำทั้งหมด โดยทำงานอยู่ทั้งในภาคเศรษฐกิจในระบบที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และในภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิแรงงาน

จากสถานการณ์วิกฤติของประเทศไทยที่เผชิญกับมหาอุทกภัยธรรมชาติมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 หลายพื้นที่ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำมานานนับเดือน เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่เน้นการส่งออกทำให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตสินค้าที่ผลิตจากการขูดรีดแรงงานราคาถูกจากพลเมืองของประเทศ เพื่อส่งออกสินค้าที่ทำมาจาก “มือเล็กๆ” ของแรงงานหญิง ซึ่งในทุกวันนี้ยังหมายรวมถึงในกลุ่มแรงงานข้ามชาติจากพม่า ลาว กัมพูชา ที่ไม่ใช่เพียงพลเมืองไทยเท่านั้นเพิ่มขึ้นมาด้วย เมื่อมวลน้ำมหาศาลทะลักเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมย่านต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และกรุงเทพมหานคร แรงงานหญิงกลายมาเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หลายโรงงานย้ายฐานการผลิตไปที่จังหวัดอื่น เช่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี หรือขอนแก่น อีกหลายสถานประกอบการก็ประกาศเลิกจ้างลดจำนวนคนงาน รวมถึงขณะที่หลายแห่งยังไม่ทราบชะตากรรมจนบัดนี้ว่าจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้งหรือไม่

ข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานระบุเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 มีแรงงานกว่า 40,749 คน ถูกสถานประกอบการ 117 แห่งเลิกจ้างแล้ว ขณะที่อีกนับแสนรายยังไม่ทราบชะตากรรมว่าจะยังคงมีงานทำหรือไม่ แยกเป็นพระนครศรีอยุธยา มีสถานประกอบการเลิกจ้าง 67 แห่ง ลูกจ้าง 21,590 คน ปทุมธานีเลิกจ้าง 35 แห่ง 18,483 คน ฉะเชิงเทราเลิกจ้าง 2 แห่ง ลูกจ้าง 509 คน สระบุรีเลิกจ้าง 1 แห่ง ลูกจ้าง 31 คน นครปฐมเลิกจ้าง 1 แห่ง ลูกจ้าง 68 คน นนทบุรีเลิกจ้าง 9 แห่ง ลูกจ้าง 35 คน และกรุงเทพฯ เลิกจ้าง 2 แห่ง ลูกจ้าง 33 คน ส่วนสถานประกอบการที่ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้รวม 284 แห่ง ทำให้ลูกจ้างยังไม่ได้กลับเข้าทำงานสูงถึง 164,552 คน แน่นอนในจำนวนแรงงานที่ถูกเลิกจ้างนี้กว่าครึ่งเป็นแรงงานหญิง

ดังนั้นปัญหาเรื่องปากท้อง ครอบครัว ที่อยู่อาศัยที่ต้องเผชิญ เช่น ผลกระทบต่อแรงงานหญิงที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนหรือต้องแบกรับภาระในครอบครัว เช่น การดูแลคนแก่ เด็ก ผู้ป่วย ผู้พิการ เป็นต้น การเลิกจ้างจะส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตของสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะบุตรอย่างยิ่ง มีบางกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง หรือไม่มีความชัดเจนว่านายจ้างจะรับกลับเข้าทำงานหรือไม่ อย่างไร ทำให้มีแรงงานหญิงหลายคนจำเป็นต้องกลับไปรับจ้างทำงานในภาคเกษตรที่บ้านเกิด เช่น ตัดอ้อยที่จังหวัดอุทัยธานี เนื่องจากไม่มีเงินชำระค่าห้องพัก และค่าใช้จ่ายในการรอความชัดเจนของนายจ้าง เพราะจากสภาพปัญหาที่ลูกจ้างได้รับผลกระทบตั้งแต่น้ำท่วมจนน้ำแห้ง ซึ่งมีจำนวนมากที่ที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง และไม่ชัดเจนเรื่องการเปิดทำงาน ทำให้ลูกจ้างแต่ละรายต้องประสบปัญหามาก เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าครองชีพและเลี้ยงครอบครัว รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ รายได้เดิมก่อนถูกเลิกจ้าง พอแค่ใช้จ่ายประจำเดือนเท่านั้น ไม่มีเงินเก็บสำรองในยามจำเป็น รวมถึงเงินชดเชยที่ได้จากการถูกเลิกจ้างและประกันการว่างงานมีจำนวนน้อย เนื่องจากคิดจากฐานรายได้เดิมซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำ

หรือปัญหาสำคัญในเรื่องสุขภาวะอนามัยโดยเฉพาะต่อแรงงานหญิงเป็นเรื่องที่ติดตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง เช่น ในช่วงน้ำท่วมมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีเชื้อโรคปนเปื้อนมากับน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เพราะไม่รู้ว่าน้ำที่ท่วมนั้นมีขยะและสิ่งปฏิกูลอยู่หรือไม่ ที่น่าเป็นห่วงคืออาจเกิดการติดเชื้อในช่องคลอดได้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากโดยสรีระผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย เพราะในอุ้งเชิงกรานของผู้หญิงจะมีทั้งช่องคลอด ท่อปัสสาวะ และช่องทวารที่ใช้สำหรับขับถ่ายจึงมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าไปได้ง่าย ในน้ำที่ท่วมขังส่วนใหญ่จะมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาพบว่าแม้แต่ผู้ชายซึ่งมีขนาดของท่อปัสสาวะยาวกว่าผู้หญิงก็ยังติดเชื้อในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ขณะที่ผู้หญิงความยาวของท่อปัสสาวะมีเพียง 1 ซม. เท่านั้น โอกาสที่จะติดเชื้อจึงมีสูงกว่าผู้ชาย หรือหากในระหว่างนั้นผู้หญิงมีประจำเดือนและจำเป็นต้องเดินลุยน้ำที่ท่วมขังในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งเป็นช่วงที่ปากมดลูกเปิด จึงง่ายต่อการที่เชื้อโรคต่างๆจะเข้าทางช่องคลอด มีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อแบคทีเรียทางช่องคลอดได้

(2) ตัวอย่างรูปธรรมการเลิกจ้างแรงงานหญิงในพื้นที่

(2.1) กลุ่มแรงงานหญิงในระบบ

จังหวัดปทุมธานี

กรณีที่ 1: การเลิกจ้างแรงงานบริษัทเอ็นอีซี โทคิน อิเล็กทรอนิกส์

ในพื้นที่ปทุมธานี กรณีของแรงงานในบริษัทเอ็นอีซี โทคิน อิเล็กทรอนิกส์ ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร

อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีคนงานกว่า 3,100 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานหญิงสูงถึง 2,600 คน ต้องประสบกับการที่น้ำท่วมโรงงานทำให้นายจ้างย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งทางโรงงานได้มีการย้ายคนงานไปทำงานแล้วจำนวน 200 คน ส่วนที่เหลืออีก 2,900 คน นายจ้างได้ประกาศเลิกจ้างตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นมา ทั้งๆที่แรงงานจำนวนมากทำงานที่นี่มานานนับ 10-20 ปี อายุเฉลี่ยประมาณ 30-50 ปี การถูกเลิกจ้างในภาวะเช่นนี้จึงไม่มีหลักประกันในการที่จะสามารถหางานทำในที่แห่งใหม่ได้ง่าย นี้ไม่นับว่าสถานประกอบการแห่งนี้ พบว่า นายจ้างยังได้เข้าร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 โดยนายจ้างได้มีการทำข้อตกลงกับกระทรวงแรงงานว่าจะไม่เลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากสาเหตุประสบอุทกภัย ภายใน 3 เดือน โดยวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ คือการที่รัฐจะให้เงินช่วยเหลือสถานประกอบกิจการที่ประสบอุทกภัย ให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องเมื่อพ้นภาวะอุทกภัย และสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการมีเจตนารมณ์ที่จะไม่เลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากสาเหตุประสบอุทกภัย โดยลูกจ้างจะได้ยังคงได้รับค่าจ้างในการทำงานอยู่ไม่ต่ำกว่า 75% แต่เมื่อโครงการฯสิ้นสุดเมื่อ 31 มกราคม 2555 ทางสถานประกอบการก็ประกาศเลิกจ้างแรงงานโดยทันที

กรณีที่ 2: การเลิกจ้างพนักงานบริษัท MMI Precision ประเทศไทย

บริษัท MMI Precision ประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เป็นโรงงานผลิตชิ้นอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ มีคนงานประมาณ 250 คน ประกอบด้วยคนประจำ 200 กว่าคน คนงานเหมาค่าแรง 50 กว่าคน แรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุมาก และมีการศึกษาเพียงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2554 น้ำได้ทะลักท่วมนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และนายจ้างได้สั่งให้ลูกจ้างหยุดงานทันที ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 บริษัท MMI ได้เลิกจ้างพนักงานทางโทรศัพท์โดยให้ฝ่ายบุคคลโทรแจ้งว่า พนักงานถูกเลิกจ้างและให้มารับเช็คในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554 ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ส่วนสถานที่จะโทรแจ้งให้ทราบอีกครั้ง และฝ่ายบุคคลก็ไม่ได้ให้รายละเอียดแต่อย่างใด นอกจากนี้มีพนักงานส่วนหนึ่งในแผนกตรวจสอบคุณภาพชิ้นงานถูกสั่งให้ย้ายไปทำงานที่จังหวัดชลบุรี เป็นบริษัทฯในเครือของ MMI ทว่ามีแรงงานบางคนไม่พร้อมที่จะไปทำงานที่จังหวัดชลบุรี เนื่องจากไม่สะดวกในการเดินทางและมีภาระต้องดูแลครอบครัว จึงรู้สึกหวั่นเกรงว่าถ้าไม่ไปจะไม่ได้รับค่าจ้างและค่าชดเชย

กรณีที่ 3: การบีบบังคับทางอ้อมให้พนักงานบริษัท ไอเอสซีเอ็ม เทคโนโลยี ประเทศไทย ย้ายไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย

บริษัท ไอเอสซีเอ็ม เทคโนโลยี ประเทศไทย ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทแห่งนี้มีลูกจ้างทั้งหมด 500 คน และได้ไปตั้งโรงงานใหม่ที่ประเทศมาเลเซีย โดยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 บริษัทได้ให้พนักงานมาลงชื่อเพื่อย้ายไปทำงานในโรงงานแห่งใหม่ที่ประเทศมาเลเซีย โดยแจ้งว่าพนักงานที่มาลงชื่อจะได้รับค่าจ้าง 75% ของค่าจ้างในช่วงที่บริษัทหยุดกิจการไปเนื่องจากน้ำท่วม โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อมาลงชื่อแล้วจะจ่ายเงินให้ก่อน 50% ของค่าจ้าง เมื่อเดินทางไปทำงานที่มาเลเซียก็จะจ่ายให้อีก 25% ของค่าจ้าง ส่วนพนักงานที่ไม่ได้มาลงชื่อจะไม่ได้รับเงินเดือน ทั้งนี้มีพนักงานมาลงชื่อไม่ถึง 100 คน และต่อมาพนักงานที่ลงชื่อส่วนหนึ่งได้ขอถอนตัว เนื่องจากไม่เต็มใจที่จะไปทำงานที่มาเลเซีย ส่วนใหญ่แล้วพนักงานหญิงที่นี่มีอายุงานตั้งแต่ 1-7 ปี และล้วนไม่สมัครใจไปทำงานมาเลเซีย เนื่องจากไม่สะดวกในการดำเนินชีวิต ดังนั้นการที่นายจ้างให้ลูกจ้างลงชื่อย้ายไปทำงานที่มาเลเซีย โดยหากไม่ลงชื่อก็จะไม่ได้ค่าจ้างเท่ากับเป็นการบังคับพนักงานต้องให้ย้ายไปทำงานต่างประเทศ

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

กรณีที่ 1: บริษัทเซอร์คิท อิเลคโทรนิคส์อินดัสตรีย์ จ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างเป็นงวด

ในพื้นที่อยุธยา กรณีของบริษัทเซอร์คิท อิเลคโทรนิคส์อินดัสตรีย์ ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีคนงานกว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง นับตั้งแต่โรงงานประสบกับน้ำท่วมมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554 นายจ้างได้สั่งให้คนงานหยุดงาน โดยจ่ายค่าจ้าง 75% ต่อมาในวันที่ 4 มกราคม 2555 บริษัทได้ประกาศเลิกจ้างแต่ยินยอมจะจ่ายค่าชดเชย แต่เป็นลักษณะของการจ่ายเป็นงวดๆแทน ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยทันที สำหรับปัญหาผลกระทบโดยทั่วไปในสถานประกอบการอื่นๆนั้น พบว่าแรงงานหญิงถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย , นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง , ยังไม่มีการเปิดทำงานอย่างมีกำหนดที่ชัดเจน สถานการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดความกดดันต่อแรงงานบางคน และตัดสินใจต้องลาออกจากงานเพื่อหางานใหม่ทำแทน เพราะความไม่ชัดเจนของนายจ้าง อีกปัญหาคือการที่นายจ้างสั่งให้คนงานย้ายไปทำงานที่ห่างไกลในเครือบริษัทเดียวกัน ทำให้คนงานไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ และเมื่อประสานงานทางบริษัทก็ไม่ได้รับคำตอบว่าจะแก้ปัญหาคนงานอย่างไร คนงานมาทราบอีกครั้งก็ต่อเมื่อถูกบริษัทแจ้งชื่อเป็นผู้ลาออกออกจากบริษัทโดยตรงไปแล้ว ทำให้คนงานต้องเสียสิทธิกรณีว่างงานแทนที่จะได้รับสิทธิประกันสังคมกรณีถูกเลิกจ้าง

กรณีที่ 2: การเลิกจ้างพนักงานบริษัทมอร์เมริกา (ประเทศไทย)

บริษัทมอร์เมริกา (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาหารสุนัข ได้ประสบภัยน้ำท่วมและประกาศเลิกจ้างพนักงาน รวมทั้งสิ้นประมาณ 150 คน โดยนายจ้างได้สั่งให้พนักงานหยุดงานตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม – 27 พฤศจิกายน 2554 ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 บริษัทได้เรียกพนักงานกลับเข้าทำงาน แต่ในวันที่ 30 พฤศจิกายนกลับมีหนังสือเลิกจ้างมายังพนักงานกว่า 60 คน โดยอ้างเหตุสุดวิสัยจากปัญหาอุทกภัย ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริงแล้วน้ำท่วมเพียงแค่พื้นผิวของโรงงานประมาณ 10-15 เซนติเมตร แค่ 5 วันเท่านั้น ซึ่งยังพอทำงานได้อยู่ เนื่องจากบริษัทไม่มีเครื่องจักรตั้งอยู่บนพื้น ขณะที่โรงงานข้างเคียง 7 บริษัท ต่างเปิดดำเนินการกิจการได้เต็ม 100% นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าบริษัทยังค้างค่าจ้างค้างจ่าย 75% ระหว่างที่ถูกสั่งให้หยุดงานไปอีกด้วย รวมทั้งการยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องเงินชดเชยตามกฎหมาย

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าเมื่อประมวลสภาพปัญหาที่แรงงานในพื้นที่อยุธยาเผชิญ ประกอบด้วย

1. นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง

2. นายจ้างไม่กำหนดเวลาเปิดดำเนินการที่ชัดเจน ทำให้คนงานไม่แน่ใจว่านายจ้างจะจ้างทำงานต่อหรือว่าจะเลิกจ้าง

3. นายจ้างสั่งให้ย้ายไปทำงานต่างพื้นที่ ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ ซึ่งถ้าไม่ไปก็ต้องลาออก

4. นายจ้างเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย และยังแจ้งสำนักงานประกันสังคมว่าคนงานได้ลาออกจากงานแล้วทำให้คนงานต้องเสียสิทธิเงินทดแทนประกันสังคมกรณีว่างงานร้อยละ 50

5. นายจ้างให้ทำงานโดยจ่ายค่าจ้างร้อยละ 75

ปัญหาที่พบส่วนใหญ่นั้นมาจากการที่นายจ้างละเมิดสิทธิแรงงานอย่างชัดเจน เช่น มีการแจ้งสำนักงานประกันสังคมว่าคนงานได้ลาออกจากงานทั้งๆที่คนงานไม่ได้เขียนใบลาออก เพราะไม่ได้รับการติดต่อจากนายจ้าง หรือบางรายมีปัญหาเรื่องของการเดินทางที่ไกลเกินไปไม่สามารถไปได้ มีการจะให้ใบเตือนหากคนงานย้ายไปทำงานแล้วทนไม่ไหวกลับก่อนกำหนด และกรณีให้คนงานไปทำงานจ่ายค่าจ้างเพียงร้อยละ 75

จังหวัดสมุทรสาคร

กรณีที่ 1 : การเลิกจ้างแรงงานโรงงานไดนามิค โปรโมชั่นและเคมิคัล จำกัด

ในพื้นที่สมุทรสาคร ย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กรณีของ “ธีรารัตน์ ศรีสุข” กรรมการสหภาพโรงงานไดนามิค โปรโมชั่นและเคมิคัล จำกัด จำกัด เป็นหนึ่งในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัย ซึ่งปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ยังคงปิดกิจการ ท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่าหลังน้ำลดพนักงานโรงงานแห่งนี้จะต้องกลายเป็นคนตกงานหรือไม่ ในฐานะกรรมการสหภาพที่ต้องให้คำปรึกษาแรงงานที่มาสอบถามถึงแนวทางการช่วยเหลือเยียวยา ความเครียดที่เผชิญพร้อมกับชะตากรรมที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้เธอเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตกและต้องเข้ารับการรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู

โรงงานไดนามิค โปรโมชั่นและเคมิคัล จำกัด ตั้งอยู่ย่านพุทธมลฑลสาย 4 ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นหนึ่งในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม มีพนักงานทั้งหมด 535 คน ประกอบกิจการประเภทผลิตของใช้ในครัวทำด้วยพลาสติก ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ยังคงปิดกิจการชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด และจากข้อมูลเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554 พบว่าโรงงานยังไม่มีการจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง) ท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่าหลังน้ำลดลูกจ้างกว่า 600 คน จะได้มีโอกาสกลับเข้ามาทำงานหรือไม่ อย่างไร แม้ว่าเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนผู้บริหารแจ้งว่าจะจ่ายเงินเดือนให้ 75 เปอร์เซ็นต์ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีลูกจ้างคนใดได้รับเงินค่าจ้างแม้แต่น้อย ทำให้ลูกจ้างจำนวนมากมีสภาพจิตใจย่ำแย่ เครียด วิตกกังวล เพราะขาดรายได้ อีกหลายคนก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง ไม่มีเงินส่งทางบ้าน บางคนต้องเป็นหนี้เพิ่ม เพราะกู้เงินนอกระบบเพื่อมาดำรงชีพให้สามารถอยู่ได้

นายตุลา ปัจฉิมเวช ฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ของศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมอ้อมน้อย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ในพื้นที่อ้อมน้อยมีแรงงานได้รับผลกระทบแล้วจากกรณีต่างๆรวมไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าและสิ่งทอ ปัญหาส่วนใหญ่ที่มาร้องเรียนมากที่สุดคือ นายจ้างสั่งหยุดงานไม่จ่ายค่าจ้าง ถูกเลิกจ้างเนื่องจากติดต่อนายจ้างไม่ได้ นายจ้างสั่งหยุดงานไม่มีกำหนด ถ้าไม่ไปทำงานที่อื่นนายจ้างจะไม่จ่ายและไล่ออก น้ำท่วมไปทำงานไม่ได้ถูกหักค่าจ้างให้ออกและสมัครงานใหม่ นายจ้างหักเงินแต่ไม่ส่งประกันสังคม เป็นต้น มีกรณีคนงานที่พุทธมณฑลสาย 5 ถูกสั่งให้ไปทำงานที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.ลำพูน พอน้ำลดกลับมาดูบ้านและยืนยันขอทำงานที่เดิม แต่นายจ้างจะถือว่าขาดงานและจะถูกลงโทษ ยังมีกรณีคนงานหญิงร้องนายจ้างจัดที่พักพิงให้นอนรวมกันในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งผู้ชายและผู้หญิง รู้สึกอึดอัด ไม่อยู่ก็ไม่ได้ ไปทำงานลำบาก อาจถูกให้ขาดงานหรือมีความผิดฐานขัดคำสั่ง ยังมีกรณีแรงงานข้ามชาติเกิดอุบัติเหตุเครื่องตัดนิ้วขาดและเป็นแผลที่มือต้องรักษาด้วยตนเอง

(2.2) กลุ่มแรงงานหญิงนอกระบบ

ปัญหาหลักของกลุ่มแรงงานนอกระบบ คือ การไม่สามารถประกอบอาชีพได้ในระหว่างประสบอุทกภัย มีหลายครอบครัวที่อุปกรณ์สำหรับการประกอบอาชีพต้องสูญเสียไปกับวิกฤติอุทกภัย และไม่สามารถจัดหามาทดแทนใหม่ได้เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนั้นมีหลายครอบครัวแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาชีพรับงานไปทำที่บ้าน เช่น ตัดเย็บเสื้อผ้า ปักผ้า ทำขนม ผลิตเครื่องทองลงหิน รวมทั้งผู้ที่มีอาชีพค้าขายหาบเร่แผงลอย ขับรถมอร์เตอร์ไซด์รับจ้าง และรับจ้างทั่วไป ที่ไม่มีน้ำท่วมขังในบ้านเรือน แต่มีน้ำท่วมขังปิดล้อมเส้นทางคมนาคม มีความยากลำบากในการสัญจรไปมา จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ บางส่วนต้องอพยพไปอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิง หรือย้ายไปอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องในต่างจังหวัด ดังนั้นแรงงานกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญคือ การขาดรายได้ในการดำรงชีวิต รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ รายได้เดิมก็พอแค่ใช้จ่ายประจำเดือนเท่านั้น ไม่มีเงินเก็บสำรองในยามจำเป็น

(2.3) กลุ่มแรงงานหญิงข้ามชาติ

ปัญหาหลักของแรงงานข้ามชาติ คือ การไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ จึงไม่สามารถสื่อสารถึงผลกระทบที่เผชิญหรือได้รับอยู่ ปัญหาสำคัญ คือ แรงงานข้ามชาติขาดอาหาร น้ำ ยารักษาโรค และนมผงเด็ก อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีหน่วยงานภาครัฐที่ประสานงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติอยู่ การช่วยเหลือก็ยังล่าช้าเนื่องจากปัญหาการสื่อสารและการแจ้งที่อยู่ของแรงงานข้ามชาติไม่ชัดเจน เนื่องจากแรงงานข้ามชาติไม่ทราบพิกัดที่อยู่ที่แน่ชัดว่าเรียกว่าอย่างไร หรือการที่แรงงานข้ามชาติเป็นคนต่างถิ่นไม่มีทะเบียนบ้านในเขตนั้นก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าแรงงานจำนวนมากไม่กล้าออกไปไหนเพราะไม่มีเอกสารสำคัญเนื่องจากต้องรีบอพยพหนีภัยน้ำท่วม และอีกหลายคนก็หวาดกลัวว่าจะถูกจับกุม

พื้นที่ปทุมธานี

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 ที่โรงงานไม้อัดวนชัยกรุ๊ป จังหวัดปทุมธานี มีแรงงานข้ามชาติจากพม่า ส่วนใหญ่เป็นชาวปะโอ ไทยใหญ่ และยะไข่ รวมทั้งแรงงานลาวกว่า 400 คน และแรงงานไทยอีก 300 กว่าคน รวม 700 คน ติดค้างอยู่ในโรงงาน เมื่อไปถึงโรงงานซึ่งมีน้ำท่วมสูงและมีการทำสะพานเล็กๆสำหรับเดินภายในโรงงาน พบว่ามีผู้ประสบภัยอยู่ประมาณ 700 คน มีทั้งผู้ที่ทำงานในโรงงานและเป็นผู้ที่หนีน้ำท่วมจากที่อื่นๆมาอาศัยอยู่ในโรงงาน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานข้ามชาติ 445 คน เป็นแรงงานชาวพม่า ชาย 165 คน หญิง 80 คน และเป็นชาวลาว 200 คน เป็นชาย 100 คน หญิง 100 คน

พื้นที่พระนครศรีอยุธยา

ในศูนย์ช่วยเหลือบางปะอิน จ.อยุธยานั้น ปัญหาสำคัญในศูนย์นี้ที่พบคือ กลุ่มแรงงานหญิงชาวลาวและเด็กๆ รวมประมาณ 300 คน ขาดอาหารและสิ่งของบรรเทาทุกข์ต่างๆ มีแรงงานบางคนที่มีลูกอ่อนต้องประสบการขาดแคลนนมผง เพราะไม่สามารถเดินทางออกไปซื้อมาได้ เด็กหลายคนต้องกินนมไวตามิลค์แทน รวมทั้งมีเด็กอีกหลายคนที่ไม่สามารถปรับตัวทันเป็นไข้ ไอ และน้ำกัดเท้า

พื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่

สำหรับในพื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่นั้น แรงงานข้ามชาติเล่าให้ฟังว่า “มีเพื่อนแรงงานข้ามชาติ และแรงงานไทยใน 2 โรงงานที่ทำการผลิตกะทิกล่อง และโรงงานผลิตอาหารจำพวกไก่ปรุงสุก ไก่แช่แข็ง ย่านพุทธมณฑลสาย 5 จังหวัดนครปฐม รวมจำนวน 930 คน ต้องประสบปัญหาในช่วงน้ำท่วมนี้ โดยนายจ้างบังคับให้ไปขุดทราย เก็บขยะที่อยู่ในท่อน้ำที่มีน้ำระดับสูง สกปรก อีกทั้งให้แบกกระสอบทรายทำคันกั้นน้ำ ถ้าไม่ช่วย ก็จะไม่ให้เงินเดือน และไม่ให้ข้าวกิน หลังกั้นพนังเสร็จแล้ว ก็บังคับให้ไปทำงานตอกบัตรตั้งแต่ 08.00 นาฬิกาเป็นต้นไป ไม่มีการจัดรถ เรือรับส่งคนงาน ให้เดินฝ่าน้ำไปทำงานทั้งตัวเปียกๆ มีหลายคนเริ่มเป็นโรคผิวหนัง ที่สำคัญคือมีผู้หญิงได้รับบาดเจ็บจากการเดินทางเป็นลม เห็นมีอาการเลือดไหลออกมากต้องนำส่งโรงพยาบาล“

24 พฤศจิกายน 2554 มีแรงงานจากพม่ากว่า 10 คน ที่อาศัยอยู่ที่หอพักแรงงาน ในตลาดเก้าแสน ตำบลอ้อมน้อย สมุทรสาคร ได้เข้ามาขอความช่วยเหลือที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานฯ เพื่อให้มีการลงไปช่วยเหลือเพื่อนชาวพม่าและแรงงานไทย เนื่องจากน้ำยังท่วมสูงเกือบเมตร และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ แรงงานคนหนึ่งเล่าว่า “แรงงานที่อยู่ในหอมีมากกว่า 50 คน ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ ต้องการถุงยังชีพ และยารักษาโรค วันนี้ออกมาเพื่อพาเพื่อนไปหาหมอ เป็นไข้หวัด และขอถุงยังชีพกลับไปช่วยเหลือกันในหอพัก ตนเองและเพื่อนทำงานอยู่โรงงานไก่ นายจ้างประกาศปิดงาน และยังไม่รู้ว่าจะได้ค่าจ้างหรือไม่ ตอนนี้เดือดร้อนไม่มีอาหารกิน”

13 ธันวาคม 2554 มีแรงงานไทยและข้ามชาติชาวพม่าเกือบ 20 คน มาร้องทุกข์ที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมอ้อมน้อย จ.สมุทรสาคร ว่า “ตนเองและเพื่อนๆไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 -3 พฤศจิกายน 2554 และนายจ้างโทรให้ไปรับค่าชดเชย 50% แต่ไม่รู้ว่าเป็นเงินชดเชยอะไรนายจ้างไม่ได้บอก? และนายจ้างก็จ่ายค่าชดเชยให้แต่กับคนงานไทย จำนวน 14 คน แต่ในส่วนของคนงานพม่านั้น นายจ้างไม่ได้จ่ายให้ทั้งค่าแรงและค่าชดเชย ตนเองกับเพื่อนๆ จึงเดินทางมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์ฯ ว่าจะทำอย่างไรดี เนื่องจากได้ไปร้องที่ เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสมุทรสาคร ให้เข้าไปทำงานตามปกติ แต่นายจ้างให้เหตุผลว่า ยังไม่พร้อมที่จะเปิดให้ทำงาน และไม่มีกำหนดที่จะเปิด หากลูกจ้างรอได้ก็รอไป ถ้ามาทำงานก็ไม่จ่ายค่าจ้าง เพราะโรงงานยังไม่เปิด” คนงานกลุ่มนี้ทำงานอยู่ที่ บริษัท เอเวอร์กรีน จำกัด บริษัทผลิตอุปกรณ์ระบบประปา PVC เช่น ก๊อกน้ำ วาล์วน้ำ มีจำนวนพนักงานประมาณ 80 คน เป็นคนไทย 30 คน เป็นแรงงานข้ามชาติ จำนวน 50 คน

รวบรวมและจัดทำโดย ฝ่ายวิชาการ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 18 กุมภาพันธ์ 2555