Thai / English

นิคมฯบางปะอินฟื้นเปิดรับคนหางาน – หลังเลิกจ้างก่อนหน้านี้



21 .. 55
voicelabour.org

นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ถูกน้ำท่วมวันที่ 15 ตุลาคม 2554 ในพื้นที่ 1,962 ไร่ จำนวนโรงงาน 90 โรง จำนวนแรงงาน 35,000 คน ภาพหลังวิกฤตการณ์น้ำท่วม วันนี้กลับมาคึกคักอีกครั้งกับภาพของแรงงานที่เดินทางมาจากหลายจังหวัด เพื่อหางานทำ มีทั้งบัณฑิตย์จบใหม่ แรงงานที่เก่ามาจากที่อื่นๆ หรือแรงงานเก่าในพื้นที่ที่เคยถูกเลิกจ้างช่วงน้ำท่วม ภาพของแรงงานที่เปิดหางานในใบรับสมัครงาน โดยทางบริษัทต่างๆในนิคมได้นำมาติดไว้ มีทั้งค่าจ้าง และสวัสดิการ สภาพการจ้างที่ได้กำหนดไว้ เพื่อดึงดูดใจแรงงานให้ไปสมัครงาน ทามกลางแรงงานที่วิ่งหางานทำกันฝุ่นตลบ เพื่อการหารายได้หากมีงานทำ ยังมีอีกอาชีพที่ยิ้มร่ากล่าวสวัสดีพร้อมคำถามว่า “จะไปไหนครับใช้บริการรถมอเตอร์ไซต์ไหมครับ” ของลุงทอง คนขับวินมอเตอร์ไซด์ หน้านิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน

ลุงทองเล่าว่า ขับมอเตอร์ไซร์รับจ้างมาหลายปี เดิมมีรายได้วันละเกือบ 500 บาทแต่เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่จนนิคมแห่งนี้เสียหาย โรงงานปิดสถานการณ์แรงงานในนิคมอุตสาหกรรมหลังน้ำท่วมนั้น ขณะนี้โรงงานได้มีการเปิดทำความสะอาดโรงงานเพื่อการฟื้นฟูบ้างแล้ว จากการที่ตนขับรถรับจ้างอยู่บริเวณนี้เป็นประจำตั้งแต่ก่อนน้ำท่วม และวันนี้หลังน้ำลดลงเป็นปกติแล้ว แต่ในวันนี้แรงงานได้กลับเข้าทำงานในนิคมน้อยมากที่เห็นตอนนี้ คือคนที่มาหางานทำ ซึ่งโรงงานที่เปิดทำงานเต็มร้อยเพียงโรงงานเดียวคือ บริษัทโปลีมาเทค ประเทศไทย และบริษัทดับบิวดีมีการเปิดทำงานประมาณร้อยละ 80 ส่วนบริษัททากาซีฟู บริษัทโอลิค ประเทศไทย บริษัทนิปปอน ซุปเปอร์ พรีซิชั่น จำกัด บริษัทซีเอ็น ขณะนี้เปิดทำความสะอาดบ้างแล้ว ยังไม่พร้อมเปิดทำงาน

ลุงทองเล่าอีกว่า ช่วงที่แรงงานหายไปหลังจากโรงงานถูกน้ำท่วมนั้น ตนได้ข่าวว่า มีแรงงานถูกนายจ้างเลิกจ้างจำนวนมาก ประมาณร้อยละ 80 ของแรงงานทั้งหมดเลยทีเดียว ทำเอารายได้ขับรถมอเตอร์ไซต์รับจ้างหดหายไปหลายร้อยบาท เหลือเพียงวันละไม่ถึง 200 บาท ตอนนี้มีคนมาหางานทำ ซึ่งมีบางบริษัทเปิดรับแรงงานใหม่ ทำให้มีรายได้ลุงเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนที่ผ่านมาเล็กน้อย (250 บาท) และบางโรงงานก็เริ่มเรียกคนงานเก่าทยอยกลับเข้ามาทำงาน ทำความสะอาด ซ่อมแซมเครื่องจักรบ้าง ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไรนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ลุงทองเล่าพร้อมชี้ชวนให้ดูคันดินที่หน้านิคม “ที่เราเห็นเป็นแนวคันดินสูงๆนี้ เขาเรียกว่า แนวคันไดร์ ที่นิคมฯ สร้างขึ้นมาเป็นแนวป้องกันน้ำท่วม ว่าจะสร้างสูงประมาณ 4 เมตรกว่าๆ สูงกว่าเก่า โดยมีแนวรอบนิคม ฯ ให้รถวิ่งได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับโรงงาน และนักลงทุน ในนิคมอุตสาหกรรม เพราะตอนนี้ยังมีอีกหลายโรงงานที่ยังไม่มีวี่แววว่า จะมีการฟื้นฟู เพื่อเปิดทำการผลิต ส่วนแรงงานที่หายไปได้ข่าวว่า ไปหางานทำที่นิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดระยอง และชลบุรี เพราะทนรองานที่นี่ไม่ไหว”

อีกหนุ่มหนึ่งในแรงงานเก่าที่ถูกเรียกกลับมารายงานตัวที่บริษัทแห่งนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินเล่าให้ฟังว่า วันนี้นายจ้างเรียกตนเข้ามารายงานตัว เพื่อให้กลับเข้าทำงาน และกำลังรอเพื่อน ที่มาจากปทุมธานี ให้มาสมัครงานเพราะบริษัทเปิดรับสมัครคนงานใหม่ เนื่องจากช่วงน้ำท่วม บริษัทได้เปิดให้สมัครใจลาออก และทยอยเลิกจ้างไปหลายร้อยคน ตอนนี้เหลือคนที่จะกลับเข้าทำงานประมาณ 50 คน เป็นช่าง และวิศวกร ตนกับเพื่อนก็เป็นช่างบริษัทเรียกตัวให้มาช่วยทำความสะอาดเครื่องจักร ซึ่งยังไม่แน่ใจว่า เดือนเมษายน 2555 จะสามารถเปิดทำการผลิตได้เต็มร้อยหรือไม่

แหล่งข่าวในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า มีบริษัทที่ผลิตยาและเวชภัณฑ์แห่งหนึ่งในบางปะอิน ได้มีการเรียกตัวแทนแรงงานเข้าไป เพื่อปรึกษาหารือปัญหาการจ่ายค่าจ้าง ในช่วงที่หยุดงาน ซึ่งบริษัทได้จ่ายให้คนงานทุกคนร้อยละ 75 มาตั้งแต่โรงงานถูกน้ำท่วม ตอนนี้บริษัทกำลังมีการปรับปรุงฟื้นฟูโรงงาน เพื่อจะเปิดทำการผลิต เดิมคลาดว่า จะเปิดในเดือนเมษายน 2555 แต่ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่า จะสามารถซ่อมแซมทันเวลาหรือไม่จึง จะขอจ่ายค่าจ้างร้อยละ 50 ในเดือนต่อไป ตอนนี้บริษัทเปิดในส่วนของฝ่ายบริหารเข้าทำงานบ้างแล้ว เหลือแต่ฝ่ายผลิต เนื่องจากอาคารเสียหายมาก การผลิตยาต้องแยกเป็นห้องๆ และต้องไม่ให้มีเชื้อราภายในโรงงาน ปัญหาน้ำท่วม แม้แต่บ้านเรายังมีเชื้อรา อันนี้บริษัทต้องทำให้เกิดความปลอดภัยจากเชื้อต่างๆ “จริงแล้วบริษัทก็มีการทำประกันภัยน้ำท่วมอยู่ จึงคิดว่า การที่จะมีการฟื้นฟู หรือดูแลคนงานบ้างไม่ทำให้บริษัทถึงกลับเจ๊ง เพราะตอนนี้ออร์เดอร์ยาที่ทางบริษัทเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวก็เริ่มจะขาดตลาด เมื่อมีการเปิดทำงานผลิตก็ต้องการแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญจำนวนมาก และคงต้องเร่งขบวนการผลิตอย่างแน่นอน”

หนึ่งในแรงงานโรงงานยาฯ เล่าขึ้นว่า การที่นายจ้างมาขอลดการจ่ายค่าจ้างในครั้งนี้ ดูเหมือนว่า จะบีบให้แรงงานทนรอกลับเข้าทำงานต่อไปไม่ไหว เพราะทุกวันนี้ ที่แรงงานรับค่าจ้างร้อยละ 75 ก็ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ต้องหารายได้พิเศษทำเพื่อรองาน เพราะไม่อยากไปหางานที่อื่นทำ การที่มาลดค่าจ้างเหลือร้อยละ50 เท่ากับว่า บีบให้แรงงานต้องลาออกจากงานเองหรือไม่ เพราะปัจจุบันขนาดนายจ้างจ่ายค่าจ้างเต็มร้อย (ตกเดือนละประมาณ 6,000 บาท) ยังต้องทำงานล่วงเวลา (OT) หากให้รับร้อยละ 50 (คนละประมาณ 3,000บาท) ไม่อยากคิดว่า แรงงานจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ซึ่งปัญหาแบบนี้เกิดกับอีกหลายโรงงาน (โรงงานแห่งนี้มีแรงงานเกือบ 1,000 คน ขณะนี้เปิดทำงานส่วนบริหารไม่ถึง 200 คน)

แรงงานที่ทำงานในเทยิน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตอนนี้ทางบริษัทได้มีการเปิดให้แรงงานสมัครใจลาออกในแผนกเม็ดพลาสติก และเส้นใยสั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีอายุมาก และทำงานมานานนับ 20 ปี มีแรงงานสมัครใจลาออกแผนกละ 30 คน รวม 60 คน (จากแรงงานทั้งหมด 100 กว่า) โดยนายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย คำถามทำไมนายจ้างไม่ใช่วิธีการเลิกจ้างพวกเรา เพราะการให้ลาออกทำต้องขาดสิทธิเงินทดแทนการว่างงานให้เวลาไปรับสิทธิประกันสังคม ได้รับเพียง 3 เดือนๆละ 30% หากนายจ้างประกาศเลิกจ้างสิทธิทดแทนประกันสังคมกรณีว่างงานในช่วงที่หางานจะได้รับสิทธิอย่างน้อย 6 เดือนๆละ 50% ของค่าจ้าง จึงไม่เข้าใจว่าทำไมใช้การเปิดสมัครใจละออก แทนการประกาศเลิกจ้าง ซึ่งมีหลายโรงงานในนิคมใช้วิธีการเปิดให้คนงานสมัครใจละออก

หนึ่งในแรงงานวายพีซี เล่าว่า โรงงานมีพนักงานกว่า 400 คน บริษัทได้ย้ายไปที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร โดยให้คนงานย้ายตามไปทำงานที่นั้นด้วย หากไม่ย้ายให้ลาออก ซึ่งช่วงเดือนมกราคม 2555 ได้มีการเลิกจ้างคนงาน และมีการเรียกร้องค่าชดเชย ปัญหาของคนงานคือ เราไม่รู้กฎหมาย ทำให้ถูกนายจ้างกดดันให้ลาออกเองโดยที่นายจ้างไม่ต้องเลิกจ้างจ่ายค่าชดเชย เช่น บริษัท NOK นายจ้างได้ส่งแรงงานไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น จังหวัดระยอง นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ยังมีกรณีบริษัทโปลีมาเทค ได้เปิดทำการผลิตเต็มร้อยแล้ว ซึ่งมีแรงงานจำนวน 395 คน แต่มีการประกาศให้แรงงานสมัครใจลาออก ซึ่งมีคนงานสมัครใจละออก 195 คน ปัญหาคือ นายจ้างให้ลาออกเพียง 133 คน ทำให้แรงงานที่ลงชื่อสมัครใจลาออกอีก 62 คน แต่ไม่ได้ออก ทำให้เกิดความกังวลใจกลัวถูกกลั่นแกล้งจนทนไม่ได้และลาออกเองโดยที่ไม่ได้ค่าชดเชย ซึ่งตอนนี้นายจ้างได้มีมาตรการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง โดยให้แรงงานที่รับค่าจ้างรายเดือนๆละ 6,000-10,000 บาท ปรับเป็นรายวันโดยรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 191 บาท ซึ่งขณะนี้ก็มีการนำเรื่องฟ้องร้องทางศาลกรณีที่นายจ้างมีการเปลี่ยนสภาพการจ้าง

ทั้งนี้ ยังมีแรงงานบริษัทอินโดไทย ที่ทางโรงงานยังไม่มีการฟื้นฟู เนื่องจากรอบริษัทประกันภัย ประเมินความเสียหายและจ่ายเงินประกัน โดย นายจ้างยังจ่ายค่าจ้างร้อยละ75 ซึ่งมีแรงงานที่รอกลับเข้าทำงานกว่า 700 คน ส่วนแรงงานลาวประมาณ 200 คน ถูกส่งกลับประเทศตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมแล้ว

นี่เป็นเพียงตัวอย่างในหนึ่งนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีการสร้างแนวทางในการที่จะป้องกันตนเองให้พ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งหน้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่กลับมาฟื้นฟูโรงงาน และบางรายอาจยังรอบริษัทประกันภัยเข้ามาประเมินความเสียหายและฟื้นฟู บางบริษัทก็ต้องเอาตัวรอดด้วยการเลิกจ้างแรงงานบางส่วนออกไปเพื่อลดค่าใช้จ่าย แม้ว่าจะเป็นคนเก่าคนแก่ที่ทำงานด้วยกันมาตั้งแต่เริ่มสร้างโรงงาน ด้วยข้ออ้างต่างๆนานา หากถามถึงเหตุผลผู้ประกอบคงตอบเพียงคำเดียวลดต้นทุน จ้างไม่ไหว หากถามแรงงานคงรับคำตอบว่าฉวยโอกาสโละแรงงานที่มีอายุมากค่าแรงสูงหรือเปล่า? หรือฉวยโอกาสเลิกจ้างล้มองค์กรของแรงงานหรือไม่ เปิดโรงงานใหม่กับแรงงานใหม่ แต่ปัญหาหนึ่งที่ขบวนการแรงงานรู้สึกถึงความไม่ชอบธรรมคือ การที่นายจ้างไม่เลิกจ้าง ให้แรงงานเขียนใบลาออก ทำเป็นใจดีจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย เหตุผลนี้คืออะไร? ไม่ต้องการให้เกิดตัวเลขการเลิกจ้างปรากฏที่ประกันสังคมจำนวนมากหรือ ให้สังคมเห็นว่าแรงงานประสงค์ที่จะลาออกจากงานเอง นายจ้างยังต้องการแรงงานอยู่ หรือว่าเหตุผลอะไร เพราะการกระทำแบบนี้ทำให้แรงงานต้องเสียสิทธิประกันสังคมกรณีว่างงานต้องรับเงินทดแทนแค่ร้อยละ 30 เพียง 3 เดือน แทนที่หากนายจ้างเลิกจ้างแรงงานจะได้รับการทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 เป็นเวลา 6 เดือน

หมายเหตุ : ข้อมูลวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 พระนครศรีอยุธยา