วันนี้(2กุมภาพันธ์ 2555) คนงานที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม จากย่านนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกือบ 10 บริษัท เข้าสมทบกับคนงานNEC จากนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานเข้ามาช่วยเหลือให้ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งมีนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน มารับฟังปัญหา
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า การที่คนงานที่ได้รับผลกระทบต้องเดินทางมาถึงกระทรวงแรงงานในวันนี้เป็นเพราะว่าไม่สามารถหาความชัดเจนให้กับชีวิตตนเองได้ ในระดับโรงงาน และจังหวัด ปัญหาผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วมครั้งนี้ คนงานยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอย่างจริงจัง และยังไม่เห็นมาตรการความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับปัญหาผลกระทบต่อชีวิตของคนงาน คิดว่า เดือนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการส่งเสียงเรียกร้องถึงความเป็นธรรม ซึ่งคงจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความไม่เชื่อมั่นในการจัดการน้ำของรัฐ เช่น กรณีของคนงานเอ็นอีซี การย้ายฐานผลิตไปที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และมีการเลิกจ้างคนงานเกือบ 3,000 คน ยังมีอีกหลายโรงงานที่กำลังศึกษาหาวิธีการที่จะเลิกจ้าง ซึ่งมีข่าวลือว่านายจ้างบางคนหาที่ปรึกษาเรื่องการเลิกจ้างอย่างไรไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และบางส่วนก็หลีกการเป็นข่าวใช้การเลิกจ้างแบบทยอยให้ออก
สิ่งที่หาห่วงคือ คนงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน และไม่รู้สิทธิทางกฎหมายแรงงานกลุ่มนี้จะถูกละเมิด ถูกให้ออกจากงานโดยไม่ได้รับค่าชดเชย หรือให้เขียนใบลาออกเพื่อไปใช้ประกันสังคมกรณีว่างงาน ตรงนี้ทำให้คนงานต้องจำทนรับเงินทดแทนเพียงร้อยละ 30 เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งอาจดีกว่า รอโรงงานเปิด เพราะนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้
กระทรวงแรงงานต้องทำงานเชิงรุก ต้องเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ ขอเจรจากับนายจ้างเพื่อดูทิศทางเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิคนงาน ตอนนี้มีนายจ้างที่ใช้วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ ให้คนงานทำงานแล้วจ่ายค่าจ้างเพียงร้อยละ 75 แม้ว่า จะเป็นการสมยอมระหว่างคนงานกันนายจ้าง แต่ผิดกฎหมาย รัฐต้องเข้าไปดู และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่ในขณะนี้ ยังไม่มั่นใจเรื่องระบบการจัดการน้ำ มากกว่า แค่ดูเรื่องการให้เงิน ลดภาษี หรือทำเป็นไม่เห็นการละเมิดสิทธิเอาเปรียบคนงาน และคิดว่า ควรมีการดูแลคนงานมากกว่านี้ เพราะกระทรวงนี้ชื่อกระทรวงแรงงาน และขอให้ๆเกียรติคนงานด้วย เพราะคนงานก็มีศักดิ์ศรี อย่าใช้ท่าทีที่คุกคามเหยียดหยามกัน เพราะหากคนงานไม่เดือดร้อนคงไม่มาร้องให้ช่วย เพราะบางกรณีคนงานไม่ได้รับค่าจ้างมานานหลายเดือน เพราะคนงานมีเพียงค่าจ้างไว้ยังชีพเท่านั้น วันนี้จึงเดือดร้อนกันทั่วหน้า
นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัญหาของคนงานที่มาร้องทุกข์ครั้งนี้ ได้มีการเขียนคร. 7 และอยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่สวัสดิการจังหวัด ซึ่งยังมีการให้ความช่วยเหลือในระดับพื้นที่ คิดว่า น่าจะให้ทางจังหวัดได้แก้ไขปัญหาก่อน เพราะการเดินทางมีค่าใช้จ่าย วันนี้ก็ต้องมอบหมายให้ทางจังหวัดกลับไปเร่งรัดในการแก้ไขปัญหา หากนายจ้างไม่มีการจ่ายค่าจ้าง และไม่มีการมอบงานให้ทำ ถือว่าไม่มีการจ้างงาน เท่ากับเลิกจ้าง อันนี้ก็ดำเนินการให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ส่วนการไม่จ่ายค่าจ้างในช่วงน้ำท่วมต้องรีบตรวจสอบ เพื่อให้นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างตามกฎหมาย
นายจำลอง ชะบำรุง ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม กลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ปัญหาที่ศูนย์ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากคนงานส่วนใหญ่คือการถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย ปัญหาที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ไม่มีการเปิดทำงานให้คนงานรอไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้ทำงาน ทำให้เกิดความกดดันต่อคนงานบางคนต้องลาออกจากงานเพื่อหางานใหม่ทำ เพราะความไม่ชัดเจนของนายจ้าง อีกปัญหาคือการที่นายจ้างสั่งให้คนงานย้ายไปทำงานที่ห่างไกลในเครือบริษัทเดียวกัน ทำให้คนงานไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ และเมื่อประสานงานทางบริษัทก็ไม่ได้รับคำตอบว่าจะแก้ปัญหาคนงานอย่างไร มารู้อีกทีก็ถูกนายจ้างแจ้งประกันสังคมว่า คนงานลาออกจากงานทำให้คนงานต้องเสียสิทธิกรณีว่างงานแทนที่จะได้รับสิทธิประกันสังคมกรณีถูกเลิกจ้าง เพราะคนงานไม่ได้ลาออกเองฯลฯ
การที่พาคนงานมาร้องทุกข์ที่กระทรวงแรงงานวันนี้ เพื่อให้กระทรวงแรงงานแก้ไขปัญหาคนงาน เพราะการร้องเรียนกรอกคร.7 บางกรณีนานมากหากต้องเข้าขบวนการทางศาลแรงงาน คนงานจะเอาเงินที่ไหนมาสู้ เพราะไม่ได้รับค่าจ้างมานานแล้ว จะกินยังไม่มี
ถามว่า คนงานอยากมาไหม คงไม่อยากมาหากมีการแก้ไขปัญหาเสียแต่ต้นทาง อยากเสนอให้รัฐแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ที่เป็นระบบ ที่ทำให้คนงานสามารถอยู่ได้ เพื่อรอการฟื้นฟูโรงงาน เพราะไม่ยากให้คนงานต้องออกมาเรียกร้องกันที่ละคนสองคน หากมีการแก้ไขปัญหาจริงเราคงไม่ต้องเหนื่อยเดินทางมากระทรวงแรงงาน
นายสมพร พวงจันทร์ ประธานสหภาพแรงงานเซไดคาเซ ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทเซไดคาเซ ประเทศไทยมีคนงานทั้งหมด 130 คน มีนายจ้างเป็นชาวญี่ปุ่น และได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเดือนตุลาคม 2554 วันนี้ผ่านมากว่า 3 เดือนคนงานยังไม่ได้รับค่าจ้าง เมื่อมีการเจรจา นายจ้างบอกให้คนงานรอไปก่อน โดยไม่มีกำหนด เพราะนายจ้างต้องกู้เงินธนาคาร นายจ้างบอกเพียงว่า ไม่ปิดกิจการจะเปิดทำงานต่อ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเปิดเมื่อไร คนงานต้องการความชัดเจน หากเลิกจ้างให้จ่ายค่าชดเชยมา ตอนนี้ไม่มีเงินใช้กันแล้ว เพราะคนงานก็กระทบกับปัญหาน้ำท่วมบ้านเหมือนกัน หากเลิกจ้างแน่นอนคนงานจะได้เงินทดแทนจากประกันสังคมร้อยละ 50 อย่างน้อย 6 เดือน
ตอนนี้บริษัทมีการย้ายเครื่องจักรออกจากโรงงาน ทำให้ยิ่งไม่มั่นใจต่ออนาคต ขณะนี้คนงานก็กระจายตัวกันหางานรับจ้างรายวันทำ รับจ้างล้างโรงงาน
ก่อสร้าง ซึ่งรายได้ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในครอบครัวเพราะภาระมีมาก บางคนตกงานทั้งครอบครัว และปัญหาของคนงานเซไดคาเซนั้นได้มีการร้องทุกข์กันมานานแล้วแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
นางสาวอลงกรณ์ ดีถี กรรมการสหภาพแรงงานเอ็นอีซี กล่าวว่า พวกตนเป็นคนงานบริษัท เอ็นอีซี โทคิน อิเล็กทรอนิกส์ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีคนงาน 3,100 คน ได้เดินทางมาร้องที่กระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 เนื่องจากผลพวงอุทกภัยน้ำท่วมโรงงาน ทำให้มีการได้ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งทางบริษัทได้มีการย้ายคนงานไปทำงานจำนวน 200 คน ส่วนที่เหลือจำนวน 2,900 คนนายจ้างได้ประกาศเลิกจ้างเมื่อวานนี้ (1กุมภาพันธ์ 2555) ให้มีผลในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 โดยนายจ้างจะจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่มีเช่นวันพักร้อนที่ยังไม่ลา
การที่ต้องออกมาเรียกร้อง เพราะว่า นายจ้างไม่ให้ความชัดเจนต่อการเลิกจ้าง คนงานได้มีการเลื่อนไหวทวงถาม และเคยมาที่กระทรวงแรงงานแล้วครั้งหนึ่งเพื่อให้เรียกนายจ้างมาชี้แจงว่าจะเลิกคนงาน จ่ายค่าชดเชยอย่างไร ซึ่งคนงานเพิ่งจะได้รับSMSแจ้งจากนายจ้างเมื่อวานนี้ว่าจะเลิกจ้าง และจ่ายค่าชดเชย ตามกฎหมาย
การที่คนงานทำงานมานานนับ10- 20 ปี อายุก็มาก คือโดยรวมอายุประมาณ 30-50 ปี คนงานต้องการความมั่นคงในการทำงาน ตกงานตอนนี้จะหางานที่ไหนทำ ช่วงที่ทำงานทุกคนก็ทุ่มเทการทำงานให้อย่างเต็มที่ คนงานทุกคนยังรักบริษัทและอยากทำงาน หากบริษัทต้องการให้ช่วยกันฟื้นฟูทุกคนก็ยินดีช่วย แต่วันนี้นายจ้างบอกเลิกจ้าง คนงานก็ต้องการค่าเสียโอกาส ทางสหภาพแรงงานได้เจรจาพูดคุยกับนายจ้างเพื่อให้เห็นใจคนงานด้วย แม้ว่านายจ้าง ยืนยันการเลิกจ้าง ด้วยการส่ง SMS ว่ายินดีพร้อมค่าชดเชยตามกฎหมาย รวมค่าอายุงาน 1 เดือน ค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เงินพิเศษ 1 เดือน ค่าจ้างเดือนนี้ 1 เดือน ผลการเจรจาสรุปว่า นายจ้างเลิกจ้างทั้งหมด และจ่ายค่าชดเชยตามที่ได้มีการส่งข้อความแจ้งมาเพิ่มเงินให้อีก 5,000 บาท ซึ่งวันนี้นัดเจรจากันอีกครั้ง เพราะคนงานต้องการการยืนยันจาก
ต่อมาได้มีคนงานบริษัทอัลตัน พรีซีซัน จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ทำการผลิตชิ้นส่วนอีเลคทรอนิคส์ ได้รวมกันประมาณ 100 คน เดินทางมาที่กระทรวงแรงงาน เนื่องจากหลังน้ำลดทางบริษัทได้มีการควบรวมกิจการโดยบริษัทอิงเท็ค พรีชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะเข้ามาพร้อมกับมีการเลิกจ้างคนงานมีผลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555จำนวน 355 คน เหลือคนงานบริษัทอัลตันฯทำงานอยู่อีก 271 คน ทำให้คนงานส่วนหนึ่งรู้สึกไม่มั่นคงในการทำงาน จึงได้ออกมาเรียกร้องให้นายจ้างบริษัทอิงเท็คชี้แจงทำความเข้าใจ ซึ่งคนงานได้มีการร้องให้ทางสวัสดิการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย โดยพนักงานประนอมข้อพิพาทให้นายจ้างเลิกจ้างคนงานทั้งหมด แต่ตกลงกันไม่ได้ คนงานจึงได้นัดรวมตัวกันเข้ามากระทรวงแรงงาน เพื่อให้ช่วยเจรจากับทางนายจ้าง ทั้งนี้หลังจากคนงานเอ็นอีซี ได้ข้อตกลงกับนายจ้างก็ได้มีการมอบเงินที่ได้รวบรวมกันตั้งเป็นกองทุนในการต่อสู้ให้กับทางคนงานบริษัทอัลตันฯ เพื่อใช้เป็นทุนในการต่อสู้ ขณะนี้คนงานบริษัทอัลตันฯได้ชุมนุมที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน